วันที่ 14 ก.พ. 2567 เวลา 16.00 น.ที่ลานประชาชน รัฐสภา ได้มีการจัดกิจกรรม “ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน” โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร พร้อมด้วยกลุ่มนักกิจกรรมและอาสาสมัคร รวบรวมรายชื่อของประชาชนเพื่อนำเสนอร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และได้มีการเชิญชวนประชาชน มาร่วมกันลงรายชื่อ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่วมกันถามหาความยุติธรรม กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แก้ไขสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นให้ถูกต้อง เพื่อให้การนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา เป็นไปได้จริง

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ว่า เมื่อร่างกฎหมายของภาคประชาชน ผ่านวาระทึ่ 1 ประชาชนก็จะเป็นตัวแทนเข้าไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) และประชาชนจะมีบทบาทในการตรากฎหมายของตนเอง หวังว่าจะมีประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันล่ารายชื่อ และเนื่องจากในปัจจุบันมีระบบดิจิทัลที่สามารถใช้ในการยืนยันตัวตน และรวบรวมรายชื่อ ทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้น มีกฎหมายภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

“ขอให้ทุกฝ่าย และประชาชนทุกคนในที่นี้ ช่วยกันใช้พื้นที่เรียกร้องสิ่งที่ประชาชนต้องการ และขอสื่อสารถึงกลุ่มอนุรักษ์ให้มาใช้พื้นที่ลานประชาชน เพื่อจะได้ฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับใคร เชื่อว่าการฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จะนำมาซึ่งอารยะในการอยู่ร่วมกันโดยไม่ทำร้ายกัน อย่างไรก็ตาม ขอให้กำลังใจนักโทษทางการเมืองทุกคน ซึ่งตนก็มีความเป็นห่วงและกังวล ขอให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมโดยเร็ว”นายปดิพัทธ์ กล่าว

ต่อมาเวลา 19.20 น.ได้มีตัวแทน 4 พรรคการเมือง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายกัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และพรรคประชาชาติ รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จาก น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายรัชพงษ์ แจ่มจิรชัยกุล จาก iLaw เป็นตัวแทนยื่นรายชื่อจำนวน 35,905 รายชื่อ ต่อตัวแทนพรรคการเมือง  ซึ่งทุกพรรคระบุว่าจะนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมกรรม ที่จะพิจารณาและรวบรวมความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่ายนำเสนอต่อสภาต่อไป  โดยจะมีการเปิดรับรายชื่อถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 14 ก.พ.นี้

น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า  เรื่องนิรโทษมีการพูดถึงเรื่องนี้มาแล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่การพูดในครั้งนั้นนำไปสู่เงื่อนไขทำให้เกิดการรัฐประหาร แต่วันนี้มีการพูดถึงอีกครั้งมีการเสนอร่างกฎหมายจากหลายพรรคการเมือง รวมถึงวันนี้ 39,509 รายชื่อ เสนอเป็นร่างประชาชนเข้ามา

ในแต่ละร่างจะเห็นถึงความแตกต่างในหลักการ ที่แต่ละพรรคแต่ละฝ่ายเสนอเข้ามามีความแตกต่าง กรรมาธิการฯ ชุดนี้ตั้งใจให้มีการพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่อยากให้มีนิรโทษกรรม รวมถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมรวมถึงหลากหลายอนาคตคิด ว่าคดีอะไรบ้างสมควรได้รับการนิรโทษกรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยและรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญเพราะเราไม่อยากให้การนิรโทษกรรมครั้งนี้ มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง หลายคนอยากเห็นการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นนักโทษทางความคิดหรือนักโทษทางการเมืองที่ใช้เสรีภาพของตนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หลายฝ่ายอาจยังไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมในวันนี้ แต่เวทีสภากรรมาธิการวิสามัญชุดนี้จะทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ เพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ไม่ให้การนิรโทษกรรมในวันนี้นำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา" น.ส.ขัตติยา กล่าว

ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยังยืนยันว่าการนิรโทษกรรมไม่ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ผิด เพราะหลายคนอาจไม่เห็นด้วย แล้วมองว่าเรื่องนี้เป็นการสนับสนุนให้คนกระทำผิดไปเรื่อยๆ วันนี้คิดว่าถ้าเราจะหาทางออกให้บ้านเมืองเราไม่สามารถมองคดีความเหล่านี้ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง มีเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก เราไม่สามารถมองคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรมได้ แต่ต้องมองเป็นปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งทางความคิด ลำพังการนิรโทษกรรมอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองทั้งหมดได้ ยังคงต้องพูดคุยกันอีกเยอะหลายเรื่องว่าควรมีอะไรต้องทำบ้าง ทั้งก่อนและหลังจากนิรโทษกรรม เป็นโจทย์ที่หวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมข้อเสนอ