ชั่วโมงนี้ สถานการณ์ของคนหนุ่มสาวชาวเมียนมา หลบได้ “หลบ!” หนีได้ “หนี!” ออกนอกพ้นประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน จนกล่าวได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ คลื่นกระแสอพยพของชาวเมียนมาวัยหนุ่มสาวเลยก็ว่าได้

โดยกระแสคลื่นอพยพหลั่งไหลออกนอกประเทศของหนุ่มสาวชาวเมียนมา ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ข้างต้น ก็มีขึ้นภายหลังจาก “รัฐบาลทหารเมียนมา” ภายใต้การนำของ “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ประกาศเกณฑ์ทหารครั้งใหม่ เพื่อระดมกำลังพลทหารเข้าสู่กองทัพ เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า

คลื่นอพยพชาวเมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย ที่กั้นพรมแดน เข้ามายังไทย บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก (Photo : AFP)

ทั้งนี้ การประกาศเกณฑ์ทหารครั้งใหม่ข้างต้น ก็ถือเป็นการประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับตังแต่ทางการเมียนมา ออกกฎหมายฉบับนี้มาเมื่อปี 2010 (พ.ศ.2553)

รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ ก็กำหนดไว้ว่า “ประชาชนชาวเมียนมาทุกคน” ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพื่อทำหน้าที่เป็นทหารรับใช้ชาติเป็นเวลา 2 ปี โดยถ้าเป็น “ชาย” ก็กำหนดช่วงอายุการเข้ารับการเกณฑ์ทหารไว้ตั้งแต่ 18 ถึง 35 ปี ส่วน “ผู้หญิง” ก็กำหนดช่วงอายุไว้ที่ 18 ถึง 27 ปี

ตามการเปิดเผยของ พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยว่า ทางกองทัพเมียนมาต้องการกำลังพลเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5,000 นาย ดังนั้น ทางรัฐบาลทหารเมียนมา จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดูแลการบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร พร้อมกับจัดตั้งหน่วยเกณฑ์ทหารในระดับต่างๆ ตั้งแต่ภูมิภาค รัฐ อำเภอ และตำบล เพื่อเกณฑ์คนเข้ากองทัพ ซึ่งหากผู้ใดหลบหนีการเกณฑ์ทหาร ก็จะมีโทษถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี

พลันสิ้นเสียงการประกาศของทางการเมียนมา ก็ส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมาทั้งหญิง ทั้งชาย ที่มีอายุอยู่ในช่วงที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารดังกล่าว ต่างพยายามหลีกเลี่ยงหลบหนีการเกณฑ์ทหารกันจ้าละหวั่น ซึ่งหนึ่งในหนทางที่จะหลบเลี่ยงไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารข้างต้นนั้น ก็คือ การเผ่นพ้นออกนอกประเทศ

โดยการเผ่นพ้นออกนอกประเทศดังกล่าว ก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์กระแสคลื่นอพยพของผู้คนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุอยู่ในช่วงเกณฑ์ทหารตามที่กฎหมายของเมียนมากำหนดไว้นั่นเอง

ในการอพยพพ้นนอกประเทศออกมา ก็มีวิธีการหลากหลายด้วยกัน ทั้งในเรื่องการออกนอกประเทศอย่างถูกกฎหมายในช่วงแรก คือ มีหนังสือเดินทาง มีวีซ่า เพื่อให้ออกนอกเมียนมา เดินทางไปยังประเทศเป้าหมาย เช่น ประเทศไทยเรา เป็นต้น อย่างถูกกฎหมาย แต่มาหนีหายภายหลัง คือ อยู่เกินกำหนดที่หนังสือเดินทาง หรือวีซ่า กำหนดไว้ ซึ่งในช่วงภายหลังเกินที่วีซ่ากำหนดไว้นี่แหละ ถือว่า พำนักอย่างผิดกฎหมาย แต่ก็ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะอย่างไรเสียก็ยังดีกว่า ถูกเกณฑ์ไปทหาร ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าจะปลดประจำการ โดยในระหว่าง 2 ปีนี้ ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่ถูกลูกปืนของกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ส่องเอาถึงตาย-เจ็บ

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ความเข้มแข็งของกองทัพเมียนมา ณ เวลานี้ ต้องบอกว่า “อ่อนปวกเปียก” ถูกกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย ไล่โจมตี ไล่ถล่ม จนฐานทหารตามเมืองต่างๆ แตกเป็นว่าเล่น พร้อมกับชีวิตของทหารเมียนมาที่ต้องสูญเสียไปกับคมกระสุนจากกองกำลังติดอาวุธของบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ

กองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง เข้ายึดฐานทัพของทหารรัฐบาลทหารเมียนมาแห่งหนึ่ง หลังบุกถล่มโจมตีจนกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาพ่ายแพ้ (Photo : AFP)

นอกจากกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยแล้ว กองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ยังต้องเผชิญกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ที่หลบหนีจากพื้นที่ในเมือง ไปรวมพลกับพวกกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในป่าเขา หวนกลับมาถล่มทหารรัฐบาลทหารเมียนมา จนตาย-เจ็บไปเป็นจำนวนมากอีกต่างหากด้วย ซึ่งกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ก็ได้จัดตั้งขึ้นมา เพื่อสางแค้นที่กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กระทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจีน ขวัญใจไอดอลของพวกเขา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 (พ.ศ. 2564) หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ บรรดาผู้หนีเกณฑ์ทหารเหล่านี้ นอกจากกลัวถูกจะนำตัวไปประจำการแนวหน้าสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธต่างๆ แล้ว ก็หวาดกลัวว่า หากหลบหนีเกณฑ์ทหารแล้วยังพำนักอยู่ในเมียนมาก็สุ่มเสี่ยงที่ถูกจับติดคุกถถึง 5 ปี ตามการเปิดเผยของโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ดังนั้น จึงพากันหลบหนีออกนอกประเทศให้รู้แล้วรู้รอด

การหลบหนีเผ่นพ้นประเทศอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การลักลอบข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่ไทยเราประสบอีกเช่นกัน ซึ่งจังหวัดของไทยที่เผชิญกับกระแสอพยพออกนอกของชาวเมียนมาเป็นประจำทุกปี และปีละมากๆ ก็คือ จ.ตาก โดยชาวเมียนมาที่ลักลอบอพยพเหล่านี้ เพียงข้ามแม่น้ำเมย ที่กั้นพรมแดนทางธรรมชาติ ก็สามารถขึ้นฝั่งที่ อ.แม่สอด ของ จ. ตากได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้ เจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพไทย จึงสามารถจึงสามารถจับกุมชาวเมียนมาที่ลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาตามช่องนี้ได้บ่อยครั้ง แม้กระทั่งเหตุจับกุมครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากการเกณฑ์ทหารใหม่แล้ว ก็ยังมีรายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมา ก็ยังมีแผนการที่จะนำทหารที่ปลดประจำการไปแล้ว หวนกลับมาสวมเครื่องแบบทหาร จับปืน ไปสู้กับกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ในแนวหน้าอีกต่างหากด้วย

เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ทั้งการเกณฑ์ทหารใหม่จำนวนกว่าครึ่งหมื่นนาย และการนำทหารที่ปลดประจำการไปแล้ว หวนกลับมาเป็นทหารอีกครั้ง ก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพ รวมถึงรัฐบาลทหารเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย โดยแท้