รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีโครงการศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ที่มีแผนก่อสร้างในพื้นที่ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมีการว่าจ้างหน่วยงานเพื่อศึกษาวิจัยก่อนการก่อสร้าง อนุมัติงบประมาณ และดำเนินการตามลำดับเรื่อยมาตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯกทม.ในอดีต จนถึงสมัยผู้ว่าฯกทม.ในปัจจุบัน มีแผนให้ยกเลิกการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อย้ายมาก่อสร้างในพื้นที่เขตหนองจอกทดแทน โดยให้เหตุผลว่า ผิดหลักการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามผังเมืองกำหนด และเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน เพราะอยู่ในพื้นที่ กทม.

 

ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง มีหนังสือ ที่ มท.1712.1/17979 ลงวันที่ 24 ต.ค.66 ระบุข้อชี้แจงแนวทางดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงฯ ตามโฉนดที่ดิน 3 แปลง ของกทม. ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 763 , 766 , 17604 ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการดังกล่าว เป็นไปตามเจตนารมณ์การใช้ที่ดินเพื่อสถาบันราชการ ของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม พ.ศ.2562 ภายใต้การพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3 สี ได้แก่ สีเหลือง ประเภท ย.1 ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย พิจารณาแล้วสามารถทำได้ สีเขียว ประเภท ก.1 ถึง ก.3 ชนบทและเกษตรกรรม พิจารณาแล้วสามารถทำได้ และ สีเขียวอ่อน ประเภท ล. ที่โล่ง เพื่อนันทนาการและรักษาสิ่งแวดล้อม พิจารณาแล้วทำไม่ได้

 

รายงานข่าวแจ้งว่า พื้นที่สีเขียวอ่อน ประเภท ล. เป็นพื้นที่ริมคลอง ริมสระ ไม่อยู่ในแผนการออกแบบและไม่กระทบการก่อสร้างโครงการ ซึ่งหนังสือชี้แจงจากกรมโยธาธิการและผังเมืองดังกล่าว ทำให้หน่วยงานและข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่กล้าลงนามยกเลิกการก่อสร้างรวมถึงยกเลิกโครงการ เนื่องจากไม่มีเหตุผลเพียงพอในการยกเลิก หากดึงดันอาจถูกตรวจสอบในภายหลัง เพราะที่ผ่านมา มีการดำเนินการตามขั้นตอน โดยเริ่มจาก ปี 2558 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) เป็นผู้ของบประมาณก่อสร้างโครงการตามงานวิจัย กว่า 3 พันล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.ในการอนุมัติงบประมาณ จากนั้น สปภ.โอนงบประมาณทั้งหมดให้สำนักการโยธาดำเนินการ จนได้ตัวผู้รับจ้างก่อสร้างตามขั้นตอนการประกวดราคา เมื่อได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว สำนักการโยธาได้ส่งผลการประกวดราคาทั้งหมดให้สำนักการคลังตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งให้ผู้บริหารกทม. ลงนามอนุมัติการว่าจ้างก่อสร้าง แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีการลงนามว่าจ้างผู้ก่อสร้างตามขั้นตอน เนื่องจากกทม.ต้องการยกเลิกโครงการดังกล่าวเพื่อมาสร้างในพื้นที่เขตหนองจอก

 

รายงานข่าวแจ้งว่า การย้ายโครงการก่อสร้างมาที่หนองจอก จำเป็นต้องยกเลิกโครงการเก่าอย่างเป็นทางการตามกระบวนการจนแล้วเสร็จ จึงจะสามารถเริ่มโครงการใหม่ได้ แต่เนื่องจาก กทม.ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอในการยกเลิก และข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่กล้าลงนาม ประกอบกับ เมื่อยกเลิกโครงการอย่างเป็นทางการ ผู้รับจ้างโครงการอาจร้องต่อ ป.ป.ช. หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากกทม. ไม่มีเหตุผลในการยกเลิกผู้รับจ้าง และไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ดำเนินการมาแล้วอย่างครบถ้วน โครงการนี้จึงอยู่ระหว่างทบทวนหาทางออกโดยไม่มีกำหนด ซึ่งผู้บริหารกทม.ทราบอยู่แล้วว่าไม่สามารถยกเลิกโครงการได้ นอกจากให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องลงนาม แต่ข้าราชการไม่กล้า เพราะก่อนจะของบประมาณ หน่วยงานจะต้องเสนอโครงการ โดยมีเหตุผลและความจำเป็น จนผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครในการอนุมัติงบประมาณ ซึ่งเรื่องนี้ส่อแววว่าต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย