จากสภาพปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะการประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าทดลอง วิจัยวิธีการแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรมที่ครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ อาชีพที่สอดคล้องกับสภาพลักษณะภูมิประเทศและการประกอบอาชีพตามบริบทพื้นที่นั้นๆ โดยรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาพัฒนาถ่ายทอดให้แก่ประชาชน ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปรียบเสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่ให้บริการอย่างเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร) เขตดุสิต กรุงเทพมหานครคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดแสดงนิทรรศการ “คนดี รักษ์โลก” และมอบรางวัลโล่เกียรติคุณ “Saint Francis of Assisi Award” ประจำปี 2567 ให้แก่หน่วยงานที่มีผลงานในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยในปีนี้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานซึ่งมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย ในการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพของประชาชนภายใต้แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวพระราชดำริซึ่งในแต่ละพื้นที่มีปัญหาและการพัฒนาที่แตกต่างกัน เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยห้องไคร้ฯ จ.เชียงใหม่ มีการพัฒนาป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จ.สกลนคร มีการพัฒนาป่าไม้ พื้นที่การเกษตรจากแห้งแล้งสู่ความสมบูรณ์  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จ.จันทบุรี มีการพัฒนาป่าชายเลน การฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทางทะเลจากป่าเสื่อมโทรมสู่ความสมบูรณ์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จ.เพชรบุรี พัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมหน้าดินที่ถูกชะล้างขาดแร่ธาตุดินแข็งเป็นดาน ได้มีการพัฒนาปรับปรุงจนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการทำกินของประชาชนในปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จ.ฉะเชิงเทรา มีการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อเกษตรกรรม และภาคใต้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส พื้นที่มีสภาพเป็นป่าพรุ เป็นดินเปรี้ยวและมีคุณภาพต่ำ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ปัจจุบันสามารถพัฒนาแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจนสามารถทำการเกษตรได้ ซึ่งแต่ละศูนย์ฯมีการพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ได้รับรางวัล “Saint Francis of Assisi Award"  ซึ่งนับเป็นกำลังใจให้แก่หน่วยงานที่ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยทั้ง 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงศูนย์สาขามีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ที่เสื่อมโทรมที่ถูกทอดทิ้งนำมาพัฒนาปรับปรุงจนฟื้นคืนมีความสมบูรณ์อีกครั้ง โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทั้งนี้พื้นที่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาและศูนย์สาขามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน พื้นที่ป่าที่เคยเสื่อมโทรมได้ฟื้นคืนกลับมาสมบูรณ์ที่เอื้อต่อการทำกินของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง” รองเลขา กปร. กล่าว

ด้าน นางสาวมนทกานติ  ท้ามติ้น ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี กล่าวว่าศูนย์ฯ ได้รับรางวัลรักษ์โลก เนื่องจากได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับตั้งแต่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์น้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน และการสร้างแหล่งน้ำ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ  พร้อมส่งเสริมการเลี้ยงสาหร่ายทะเล เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้และอาชีพให้ประชาชน และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

“ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ปลากระบอก หอยสังข์กระโดด หอยหวาน และปลาทะเลอีกหลายชนิด ที่สามารถพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ของประชาชนในพื้นที่ต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดการทำลายธรรมชาติ ที่ผ่านมามีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ 13,000 ไร่ รวมทั้งปลูกป่าชายเลนเพิ่ม 1,300 ไร่ พร้อมส่งเสริมการปลูกหญ้าทะเลจาก 600 ไร่เป็น 2,000 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำให้มีอาหารและเจริญเติบโตก่อนออกสู่ทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของอ่าวไทยต่อไป” นางสาวมนทกานติ ท้ามติ้น กล่าว

ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ที่ได้รับโล่เกียรติยศ “Saint Francis of Assisi Award" ประจำปี 2567 คณะกรรมาธิการเห็นว่ามีการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ “คนดี รักษ์โลก” มีส่วนอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้โลกซึ่งเป็นบ้านส่วนรวมของคนน่าอยู่ อีกทั้งช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของคณะอนุกรรมาธิการด้านคุณธรรม จริยธรรม และคณะทำงานคนดีรักษ์โลกมาอย่างต่อเนื่อง จึงมอบโล่ดังกล่าวเพื่อยกย่องเชิดชู เป็นแบบอย่างแก่องค์กรอื่นๆ นำไปดำเนินการต่อไป