ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : ผ้าซิ่นตีนจกอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเสียงมานาน เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่นิยมผ้าซิ่นตีนจก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการจัดงานมหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่าอำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567 บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม และใกล้เคียง ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ นิทรรศการผ้าตีนจกและผ้าทอชนเผ่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น นิทรรศการแม่แจ่มยั่งยืน คืนชีวิตให้แจ่ม ลานวัฒนธรรมบ้านชนเผ่า และอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดการจัดงาน 5 วัน ระหว่างวันที่ 14 – 18 กุมภาพันธ์ 2567

กล่าวแม่แจ่ม เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งมีเทือกเขาถนนธงชัยและดอยอินทนนท์ล้อมรอบ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่สำคัญของภาคเหนือ นับเป็นหนึ่งในชุมชนไม่กี่แห่งของไทยที่ยังคงรักษาและสืบทอดมรดกพื้นเมืองซิ่นตีนจก และผ้าทอหลายประเภท อันเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทั้งความงดงามและความหมาย วิถีชีวิตของคนแม่แจ่ม ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศรัทธาต่อศาสนา

“ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” เป็นงานหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้านของผู้หญิงในอำเภอแม่แจ่ม ที่เกิดจากฝีมือการทออย่างประณีตตามกรรมวิธีการทอและการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยเทคนิคการจกแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของกลุ่มชนชาวไทยวนในอำเภอแม่แจ่ม ทำให้เกิดเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของชาวแม่แจ่มที่มีความงดงาม เป็นผ้าซิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนที่อื่น มีความละเอียดประณีต ลวดลายอ่อนช้อย มีความหมายในตัวเอง ความประณีตของลวดลายเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุมมีกฎเกณฑ์ บางผืนอาจซ่อนเร้นเรื่องราวและเนื้อหาที่สามารถเล่าขานถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน การตั้งถิ่นฐาน เชื้อชาติ สภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ และประเพณี

นอกจากนี้ยังเป็นผ้าทอที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สันนิษฐานว่าซิ่นตีนจกแม่แจ่มน่าจะมีขึ้นในยุคสมัยที่พุทธศาสนาของล้านนามีความเจริญรุ่งเรือง จากลวดลายของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิด ความเชื่อทางพุทธศาสนา จากองค์ประกอบของซิ่นตีนจกแม่แจ่มจะปรากฏลวดลายต่างๆ เช่น โคม ขัน นาค หงส์ น้ำต้น สะเปา อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อทางพุทธศาสนา (ข้อมูล กระทรวงวัฒนธรรม)

นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม คณะกรรมการจัดงานฯงานมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม กล่าวว่า งานมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2537 มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าอำเภอแม่แจ่ม ศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมชนเผ่าแม่แจ่ม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอำเภอแม่แจ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติแม่ครูผ้าทอและผู้ก่อตั้งการจัดงานผ้าตีนจกแม่แจ่มด้วย

ด้าน นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า การเปิดงานในครั้งนี้ วธ.และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ. )พร้อมเป็นหน่วยงานผลักดัน สนับสนุน ฟื้นฟู และคุ้มครองงานภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดำเนินงานตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ....