วันที่ 23 ก.พ.67 ที่ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานฯ และมี พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์   รอง ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.สุรจิต  ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.ชมชวิณ  ปุระธนานนท์ รอง ผบช.ภ.7, พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. และ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ  รอง ผบก.สส.บช.น. เข้าร่วมแถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบทั่วประเทศ  

 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  กล่าวว่าศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) แถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบทั่วประเทศ ในห้วงระหว่างเดือน พ.ย.66-ก.พ.67 โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ  

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายรัฐบาล จึงสั่งการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ซึ่งมี พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ดำเนินการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไก สถานีตำรวจทั่วประเทศ และ หน่วยงานสืบสวนสอบสวนจากส่วนกลางทุกหน่วย พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการ เป็น 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติการบูรณาการด้านข้อมูล  เปิดให้บริการรับลงทะเบียนขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่สถานีตำรวจทุกแห่ง เพิ่มเติมจากศาลากลางจังหวัด  ที่ว่าการอำเภอ และ สำนักงานเขต เพื่อสนับสนุน และบูรณาการข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกระทรวงมหาดไทย 

2. มิติการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดทุกรูปแบบ ทั้ง On Ground และ Online อย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายทุกฐานความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ข่มขู่

ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย รวมทั้งขยายผลไปยังนายทุนผู้อยู่เบื้องหลัง

 3. มิติด้านการไกล่เกลี่ยเชิงบูรณาการ ได้ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  พิจารณาแนวทางการไกล่เกลี่ย เจรจาและประนอมข้อพิพาท เพื่อให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย

 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ในห้วงระหว่างเดือน พ.ย.66 - ก.พ.67 ซึ่งได้มีการดำเนินการระดมกวาดล้าง 3 ห้วง คือ ห้วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.66 ถึง 4 ธ.ค.66, ห้วงที่ 2 วันที่ 15 – 24 ม.ค.67 และห้วงที่ 3 วันที่ 12 – 21 ก.พ.67 โดยสามารถดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบได้ 2,182 ราย ผู้ต้องหา 2,296 คน คิดเป็นมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 114,801,112 บาท ตรวจยึดของกลางหลายรายการ อาทิเช่น เงินสด อาวุธ บัญชีลูกค้า บัญชีธนาคาร รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดิน และโทรศัพท์จำนวนมาก ซึ่งประเมินมูลค่าของกลางรวมทั้งสิ้น 63,694,336 บาท

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ในวันที่ 28 พ.ย.66  ที่ผ่านมา มีผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ระหว่าง 1 ธ.ค.66 – 31 ม.ค.67 จำนวนทั้งสิ้น 1,237 คดี ซึ่งมีผลการปฏิบัติที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ระหว่าง 1 ธ.ค.65 –31 ม.ค.66 มีจำนวนทั้งสิ้น 266 คดี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) จะยังคง กวดขัน ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี กับผู้กระทำความผิด อย่างต่อเนื่องต่อไป ในส่วนรายที่มีการจับกุมดำเนินคดีแล้ว ได้มีการเร่งรัดการทำสำนวนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา รวมไปถึงการควบคุมสำนวนการสอบสวนให้มีความเห็นสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้ความเชื่อมั่นว่า จะระดมทุกสรรพกำลัง เดินหน้าปราบปรามนายทุนเงินกู้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยลูกหนี้ ให้หลุดพ้นจากวงจรอันโหดร้ายนี้ และพร้อมร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

 

ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบฯ ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนมายังพี่น้องประชาชนหากต้องการกู้ยืมเงินควรศึกษาข้อมูล และเลือกกู้ยืมเงินกับทางสถาบันทางการเงินหรือ

ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกัน

 การตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงปล่อยเงินกู้นอกระบบ จนสร้างความเดือดร้อน หากตกเป็นเหยื่อหรือได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน 1599 หรือลงทะเบียนขอความช่วยเหลือที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ศาลากลางจังหวัด  ที่ว่าการอำเภอ และ สำนักงานเขต