วันที่ 23 ก.พ.67 เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเดินทางมาเยือนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งประชุมติดตามผลการทำงานของ คณะเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

 

นายชัชชาติ รายงานสรุปความคืบหน้าตามมติที่ประชุมคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพฯ ครั้งที่1/2567 ว่า ด้านการแก้ไขปัญหาจราจร แนวทางกวดขันด้านวินัยจราจร ใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับผู้กระทำผิด อาทิ จอดในที่ห้ามจอด ฝ่าไฟแดง กลับรถในที่ห้ามกลับ ปรับปรุงด้านกายภาพ โดย กทม.ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมและวิเคราะห์ปัญหาจราจรที่เกิดจากกายภาพ เช่น คอขวด การก่อสร้าง ผิวจราจร 127 จุด จะแก้ไขแล้วเสร็จ ธ.ค.นี้ และใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา โดยการปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร

 

ด้านการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากการให้บริการยังไม่ครอบคลุม ประชาชนยังไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้ขนส่งสาธารณะ และการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยการเพิ่มฟีดเดอร์ และปรับปรุงศาลา/ป้ายรถเมล์ รวมทั้งแผนปรับปรุงทางเท้า 4 ปี จำนวน 1,696 กิโลเมตร ส่งเสริมการใช้จักรยาน Bike Sharing จำนวน 350 จุด 1,500 คัน และปรับปรุงการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างที่อยู่ในความดูแล 5,366 วิน (79,898ราย) ให้มีคุณภาพ สามารถความคุมราคาและการให้บริการได้

 

ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยการส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่ง กทม.จะเปลี่ยนรถขยะปีนี้ 800 คัน และปี 2570 รถขยะทั้งหมดจะเป็นรถ EV 100% และกวดขันตรวจควันดำ บำรุงรักษาเครื่องยนต์ตามระยะ เปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันเครื่อง ตลอดจนจัดหารถอัดฟางให้เกษตกร เพื่อลดการเผาในที่โล่ง นอกจากนี้ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน WFH ในวันที่มีฝุ่นแดงติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ศึกษาโครงการย้ายท่าเรือคลองเตย เพิ่มสวน 15 นาที ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น 

 

ด้านการแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ รถสามล้อ และมัคคุเทศก์ผี จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานเขตในพื้นที่ และข้อมูลการร้องเรียนของตำรวจท่องเที่ยว พบจุดที่มีแท็กซี่จอดเรียกผู้โดยสารอยู่ โดยจะมีย่านใหญ่ ๆ ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ย่านข้าวสาร 19 จุด ซึ่งกทม. ได้รับความร่วมมือจากสน.ท้องที่และตำรวจท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จับกุมผู้กระทำผิดและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการเพิกถอนใบอนุญาต

 

ด้านการพัฒนาพื้นที่ทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย

โดยนำพื้นที่ราชการมาพัฒนาเป็นพื้นที่ทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย หาบเร่แผงลอยเป็นแหล่งอาหารราคาประหยัด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายคนกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีผู้ค้า 20,012 ราย ในจุดผ่อนผัน 86 จุด 5,419 ราย จุดทบทวน 9 จุด 629 ราย นอกจุดผ่อนผัน 621 จุด 13,964 ราย มีพื้นที่ของหน่วยงานราชการหลายแห่งที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น Hawker center ลานกีฬา สวนสาธารณะ มีพื้นที่ของหน่วยงานราชการหลายแห่งที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น Hawker center ลานกีฬา สวนสาธารณะ

 

ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนเฉลี่ย 15.63 ปีจำนวน 61,688 คน สูงสุด เป็นอันดับ 1 ในเขตสุขภาพ พบ 14.6 14.6% สูบบุหรี่ไฟฟ้า 13 เขตกทม. โดยพบร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 73 ร้าน

 

แนวทางแก้ไขโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจยึด อายัด บุหรี่ไฟฟ้า ให้คำแนะนำสถานศึกษา โดยภายในรัศมี 200 เมตร จากสถานศึกษาสังกัดกทม. ต้องไม่มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และเพิ่มสื่อสารสาธารณะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตามกทม.มีเป้าหมายพัฒนาเส้นเลือดฝอย ปี 67 อาทิ พัฒนาถนนสวย ติดตั้งปรับปรุงไฟถนน-ไฟริมคลอง ปรับปรุงจุดฝืดจราจรปรับปรุงทางเท้าเพิ่มสวน 15 นาทีจัดการจุดเสี่ยงอาชญากรรมและความปลอดภัยยกเลิกจุดทำการค้าบนทางเท้าพัฒนาพัฒนาฮอคเกอร์เซ็นเตอร์แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม การพัฒนาซ่อมแซม ศูนย์กีฬา,บ้านหนังสือ,ศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาฐานข้อมูลชุมชนและการให้บริการประชาชนส่งเสริมการใช้งบชุมชน 200,000 บาท ตลอดจนขุดลอกคลองเปิดทางน้ำไหลและขุดลอกท่อระบายน้ำ

 

ด้านนายเศรษฐา กล่าวว่า กทม.เปรียบเป็นประเทศไทยเล็ก ๆ ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ทั้ง 8 ข้อของรัฐบาล เกี่ยวข้องกับ กทม.ทั้งหมด โดยสิ่งที่ผู้ว่ากทม.กำลังทำอยู่เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ขาดการสนับสนุน และการประชาสัมพันธ์ หรืออาจไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างรวดเร็วทันใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องช่วยกัน โดยหลังจากการประชุมครั้งนี้ ควรหารือกำหนดแผนงานแต่ละด้านร่วมกันให้ชัดเจน และให้ประสานงานผ่านนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วย

 

ส่วนเรื่องการลอกท่อ คูคลอง เพื่อป้องกันน้ำท่วม กองทัพบกได้ให้ความมั่นใจเต็มที่ในการช่วยเหลือ เช่น การเก็บผักตบชวา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาน้ำท่วม อยากให้กำหนดแผนการป้องกันน้ำท่วมร่วมกันกับฝ่ายความมั่นคง กรมราชทัณฑ์ เช่น จะขุดลอกท่อ คูคลอง พื้นที่ใด ซอยใด ระบุให้ชัดเจน และหาก กทม.ต้องการให้รัฐบาลผลักดันเรื่องใดก็ยินดี

 

ส่วนเรื่องการจราจร ต้องประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กวดขันเรื่องวินัยจราจร โดยภาพรวมปัญหาด้านการจราจรเป็นปัญหามานาน สิ่งที่ กทม.ทำอยู่เป็นเรื่องที่ดี แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องนี้สามารถประสานผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีให้ช่วยประชาสัมพันธ์สิ่งที่ กทม.ทำอยู่ได้ เช่น ผลการกวดขัน แนวทางพัฒนาด้านการจราจร การสัญจรต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปเผยแพร่ตามช่องทางของรัฐบาลได้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสอดรับกับนโยบาย GNITE THAILAND ทั้ง 8 ข้อของรัฐบาล

 

ส่วนเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญ จากการหารือกับผู้ประกอบการยังพบปัญหาเรื่องนี้อยู่ รวมถึงเรื่องแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ โดยเฉพาะสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างแท็กซี่กับไรเดอร์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่กระทรวงคมนาคมในการแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

 

เรื่องสำคัญต่อมาคือเรื่องฝุ่น PM2.5 จากการประกาศ Work from home ที่ผ่านมาของผู้ว่าฯกทม. พบว่าได้ผลมาก รวมถึงการสนับสนุนรถอัดฟางของกทม.มีส่วนช่วยรัฐบาลตามนโยบายด้านจัดการฝุ่น PM2.5 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ ปัจจุบันรัฐบาลกำลังประสานงานโดยตรงกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการควบคุมฝุ่น PM2.5 อย่างเข้มข้น

 

“อยากให้มีการประสานงานให้ดีขึ้น ให้ความสำคัญกับหน่วยงานของกทม.มากยิ่งขึ้น อยากให้ฝ่ายรัฐบาลมีการพูดคุยกับกทม.มากขึ้น และมีการสื่อสารที่ดีผ่านรัฐมนตรีพวงเพ็ชร โดยการตั้งคณะทำงานชุดย่อยแต่ละด้านเพียง 3-4 คน เพื่อผลักดันงานได้เร็ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว