ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ชีวิตที่ไขว่คว้าท่านว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว หรือไม่ก็ยิ่งทะยานอยากมากก็ยิ่งมีทุกข์มาก

วิทยาไม่ได้หนีไปไหน เขาเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเหมือนอย่างที่พวกอาชญากรทั้งหลายนิยมทำกัน ผมทราบจากคนที่ถูกวิทยาหลอกลวงว่าหลายคนก็ยังพยายามหาข่าวเกี่ยวกับวิทยามาโดยตลอด แต่บางคนก็ท้อแท้และเลิกติดตาม แต่กระนั้นอาชญากรก็ไม่อาจจะลบร่องรอยไปได้ทั้งหมด รวมถึง “กลิ่นความชั่ว” ที่ยังคงติดตัวไปจนตลอดชีวิตนั้นด้วย

เมื่อวิทยาถูกคนในโรงพิมพ์และที่คนที่ไปหลอกมาร่วมลงทุนตามล่า วิทยาก็หนีขึ้นเหนือไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง เพราะมีญาติข้างแม่อยู่ที่นั่น รวมทั้งได้แอบมาหาญาติข้างพ่อที่พิษณุโลกอยู่ช่วงหนึ่ง โดยไม่ได้ทิ้งสันดานชั่วของตน ได้ไปหลอกญาติพี่น้องทั้งสองฟากนั้น ว่าถูกเจ้าหนี้ไล่ล่าจะเอาชีวิต ซึ่งบางคนก็สงสารให้เงินมาบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง แต่ครั้นญาติเหล่านั้นถูกรบกวนบ่อยเข้า โดยบางคนที่ถูกวิทยาอ้อนวอนขอกู้ ก็ไม่ได้รับเงินคืน หลายคนจึงปฏิเสธและบางคนก็โกรธขู่ว่าจะฟ้องเอาวิทยาเข้าคุกอีกด้วย

วิทยาเปลี่ยนชื่อเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ แต่ก็คงเป็นในช่วงที่ไปอยู่กับญาติที่พิษณุโลกนั่นแหละ เพราะทะเบียนบ้านยังอยู่ที่นั่น แต่ก็ถูกญาติคัดออกจากทะเบียนบ้านไปในปีที่วิทยามาขอกู้ยืมในรอบท้าย ๆ แต่ไม่ได้รับเงินนั้น ต่อมาวิทยาก็มาปรากฏตัวในชื่อใหม่ที่จังหวัดเชียงราย ทราบว่าเป็นนักพนันตัวยง เดินทางข้ามไปฝั่งลาวตรงสามเหลี่ยมทองคำนั้นอยู่เป็นประจำ ช่วงนี้นี่เองที่เจ้าหนี้คนหนึ่งไปพบและจำวิทยาได้ เพียงแต่ไม่ได้ชื่อวิทยา รวมถึงยังทราบอีกว่าเขาไปทำงานเป็นสมุนนักการเมือง ส่วนหนึ่งก็เพื่อไปขอรับความคุ้มครอง โดยดูแลบ่อนการพนันของนักการเมืองคนนั้นเป็นการแลกเปลี่ยน ความที่เขาเป็นคนพูดเก่ง ทำให้เขาได้ทำหน้าที่ “ทนายส่วนตัว” ของเจ้าพ่อนักการเมืองคนนั้น และคอยเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงจ่ายเงินแลกกับการคุ้มครองให้เปิดบ่อนกับเจ้าหน้าที่ และยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ในทำนองฟอกเงินและต่อเติมหาผลประโยชน์ให้กับเจ้าพ่อคนนั้น

แรก ๆ วิทยาก็ทำงานนั้นด้วยความซื่อสัตย์ แต่ก็ทำแบบนั้นอยู่ได้ไม่นาน สันดานชั่วของเดิมก็ออกมานำความประพฤติ มีการยักยอกเงินบางส่วนไปเป็นของตน แรก ๆ เจ้าพ่อก็ไม่ได้สังเกต เพราะเงินเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาเปลี่ยนรัฐบาล เจ้าพ่อคนนั้นสอบตก แม้ว่าลูกสาวจะได้เป็น ส.ส. แต่ก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ถูกเปิดโปง และไม่ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอีกต่อไป เมื่อทำมาหากินฝืดเคือง ช่องทางที่จะกอบโกยของวิทยาก็ลำบาก แถมยังมีการหักหลังกันในบรรดาสมุนบางคน วิทยาพอรู้ตัวว่าเรื่องกำลังลามมาถึงตัวเองก็หลบหนีไปอยู่ที่ลาว จนกระทั่งลงไปอยู่ที่สะหวันนะเขต โดยไปทำงานอยู่ในบ่อนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง รวมทั้งได้เมียเป็นคนลาว ทำให้เขาได้สิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศลาวได้เป็นระยะนานกว่าคนต่างชาติทั่วไปโดยไม่ต้องต่อวีซ่าบ่อย ๆ แต่บ้างก็ว่าเขาไปเปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่ที่หนองคาย ก่อนที่จะไปสมัครงานกับบริษัทที่ได้สัมปทานบ่อนในสะหวันนะเขต โดยอ้างประสบการณ์จากบ่อนที่สามเหลี่ยมทองคำ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถอยู่ในลาวได้เป็นเวลานาน ๆ นั้นด้วย

วันหนึ่งมีคนเห็นภาพข่าวในโทรทัศน์เกี่ยวกับการจับกุมแก๊งฟอกเงินในประเทศกัมพูชา แล้วแชร์กันว่ามีคนหนึ่งหน้าเหมือนวิทยา หลายคนเข้าไปดูและยืนยันว่าใช่วิทยาแน่ ๆ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 30 ปี แต่ด้วยความที่วิทยาคงเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบบำรุงผิวพรรณและปรุงแต่ง อย่างที่เรียกในยุคสมัยนี้ว่า “เสริมความงาม” ก็เลยทำให้เขาดูไม่แก่มาก นี่เองที่เป็น “เวรกรรม” ของเขา จึงไม่ได้ระมัดระวังว่าจะมีคนจำได้ คือถ้าปล่อยให้กร้านดำเหี่ยวย่นไปเสีย ก็คงจะทำให้คนที่เห็นนึกไม่ออก แต่นี่ก็ด้วยกรรมของความอยากหนุ่ม ร่วมกับกรรมที่ทำบาปสร้างความเจ็บช้ำให้กับคนอื่น ๆ มามาก ก็เลยเป็นพลังให้คนหลาย ๆ คนจำได้ แม้ว่าคดีความในอดีตจะหมดอายุความไปแล้ว แต่คดีใหม่ที่วิทยาต้องเจอนี้ น่าจะต้องรับกรรมติดคุกไปจนตลอดชีวิตอย่างแน่นอน เหนืออื่นใดคือตราบาปที่จะติดตัวไปแม้ว่าจะตายไปแล้ว ก็คือความทรงจำของคนทั้งหลาย หรือ “ความชั่วในความทรงจำ” นั่นเอง

มีการทำสกู๊ฟข่าว “ซีฟ” ของวิทยาออกเผยแพร่ ทั้งในสื่อหลักและสื่อโซเชี่ยล (“ข่าวซีฟ” นี้คือสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับวิทยา และทำให้วิทยาใกล้ชิดกับแหล่งข่าวต่าง ๆ และเที่ยวไปหลอกลวงแหล่งข่าวเหล่านั้นมาร่วมลงทุนกับเขาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่รวมถึงตัวผมนี้ด้วย) โดยได้เปิดโปงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยาอย่างละเอียด สื่อบางคนได้ข้อมูลเชิงลึกถึงขนาดที่ว่า รู้เหตุด้านจิตวิทยาของวิทยาที่ก่ออาชญากรรมทั้งหลายนั้นด้วย โดยสื่อคนนั้นได้อ้างว่าได้ “แอบ” ไปขอสัมภาษณ์วิทยาเป็นการส่วนตัว ในระหว่างที่จำขังอยู่ เพราะไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างสู้คดี ซึ่งสื่อคนนี้ได้เรียบเรียงออกมาเป็นเรื่องเป็นราวในชื่อบทความว่า “คำสารภาพของคนชั่ว” นัยว่าได้รับความเห็นชอบจากวิทยาแล้วด้วย และบางส่วนของบทความนั้นเป็นดังนี้

“... ผม(วิทยา)เหมือนพ่อแม่จะไม่รัก ลุงกับป้าที่ผมอยู่ด้วยก็เลี้ยงดูอย่างขอไปที ผมต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่จำความได้ บางทีก็ไปขโมยของในตลาด บางทีก็ไปฉกของคนแก่ตามซอยมืด ๆ หรือปีนเข้าบ้านที่เจ้าของไม่อยู่ค้นหาของมีค่าไปขาย ... พอเป็นวัยรุ่นก็มาอยู่กับน้าที่กรุงเทพฯ ได้เรียนหนังสือบ้าง โชคดีที่เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังต้องทำงานหนักในร้านขายอาหารของน้า ก็แอบหยิบเงินมาใช้บ้าง เพียงแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ พอไปซื้อบุหรี่และดูหนัง ... พอจบมหาวิทยาลัย โชคดีหางานได้ไม่ยาก ไปเป็นเซลส์ขายหนังสือในต่างจังหวัด แล้วมาทำงานโรงพิมพ์ มาเป็นผู้สื่อข่าว คนเขียนข่าว ได้พบคนใหญ่คนโตมากมาย .. ผมเหมือนโหยหาชื่อเสียง เห็นคนใหญ่คนโตบางคนก็ชั่วเหมือนผม ใช้เงินซื้อตำแหน่ง ซื้อเสียงชาวบ้าน มีเงินแล้วก็ซื้อได้ทุกอย่าง แม้แต่ชื่อเสียงหรือคุณงามความดี เพราะสังคมไทยเชิดชูคนมีเงิน ทำชั่วก็ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านยังบอกว่าถึงเขาโกงแต่ชาวบ้านก็ได้กิน...

... ผมต้องหลบหนีคดีความต่าง ๆ ไปอยู่เป็นสิบ ๆ ปี แต่ก็คิดเสมอว่า ถ้ามีเงินจะเอาเงินมาคืนให้คนที่ผมมาขอยืมเขาไปนั้นทุกคน  แต่ยิ่งจะหาให้มาก ก็ต้องยิ่งทำชั่วให้มาก เงินนั้นได้กลายเป็นสิ่งชั่วร้ายในตัวของมันเอง ยิ่งมีเงินมาก ก็คือหาความชั่วเข้าตัวมาก ๆ จนเงินนั้นทับถมท่วมตัว ความชั่วทับถมชีวิตทั้งชีวิต ... ยิ่งทะยานอยากก็ยิ่งเสี่ยง ยิ่งอยากได้ก็ต้องใช้ชีวิตทีละชิ้นทีละส่วนนั้นแลกเอา...”

ในทางอาชญวิทยา ท่านว่าคำสารภาพของอาชญากรจะเชื่อถือได้หรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครเชื่อถืออยู่แล้ว แต่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญท่านว่า ต้องดูจาก “จุดมุ่งหมาย”หรือความต้องการของอาชญากรผู้นั้น ที่มีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวแค่นั้น คืออยากให้สังคมรับรู้ว่า เขาเกิดมาเป็นคนดีนะ แต่ที่เขาชั่วเป็นเพราะสังคมรอบตัว และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้สังคมอภัยให้เขา

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า สังคมจะให้อภัย ให้โอกาส หรือลืมความชั่วของอาชญากรคนนั้น ๆ ได้หรือไม่?