ปชป. แขวะรัฐบาลอย่าออกอาการถูกฝ่ายค้านซักฟอก แซะรบ.เศรษฐา ไร้มาตรฐาน มีผลงานประจักษ์แค่เรื่องทักษิณ  ด้าน นิด้าโพล ชี้ประชาชนไม่เห็นด้วย ให้อำนาจราชทัณฑ์พักโทษ ทักษิณ ทำ เพื่อไทย คะแนนนิยมลดวูบ  ส่วน คปช. ขู่บุกเพื่อไทยทวงยุติธรรมวีรชนพฤษภา 53  จ่าประสิทธิ์ ชวดพบอดีตนายกฯ

     เมื่อวันที่ 26 ก.พ.67 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ควรออกอาการมากเกินไป เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านทำงานเต็มที่ ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้างก็ต้องติดตาม และในเรื่องของห้วงเวลาก็เช่นกันที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะเกิดขึ้นช่วงใด แต่ในส่วนของพรรคมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบในการเก็บข้อมูลการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว
     
ในส่วนเรื่อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ,นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยังไม่ได้ตอบคำถามที่สังคมมีข้อสงสัยใดๆเลย ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงตามหลักการบริหารราชการแผ่นดิน การเลือกปฏิบัติ คงใช้คำว่าสองมาตรฐานไม่ได้ แต่เป็นรัฐบาลที่ไม่มีมาตรฐานใดๆ ในหลักการความถูกต้องเลยโดยเฉพาะเรื่องนายทักษิณ และเป็นเรื่องเดียวที่รัฐบาลทำงานและเป็นชิ้นงานอันประจักษ์ที่สุด
    
 ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เพียงแต่เร็วกว่าที่คิดเท่านั้น ซึ่งในระหว่างที่นายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ มีคำถามเกี่ยวกับรัฐบาลเลือกปฏิบัติ ซึ่งนายเศรษฐาปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พยายามโบ้ยความรับผิดชอบไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ทำตัวอยู่เหนือปัญหา แต่เมื่อนายทักษิณ ได้พักโทษกลับมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า นายเศรษฐาก็ชิงเข้าพบก่อนใครๆ
     
นายเทพไทกล่าวว่า การเข้าพบของนายเศรษฐาจะเป็นในฐานะใดก็ตาม แต่เป็นที่รับรู้กันว่าเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย ก็เพราะได้รับความเห็นชอบจากนายทักษิณ จึงจำเป็นต้องเข้าพบเสียก่อน ส่วนการออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองนั้น ก็สามารถปฏิเสธได้ แต่สังคมจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการที่นักการเมืองพบกัน ไม่คุยเรื่องการเมืองเป็นเรื่องผิดปกติ และเป็นไปไม่ได้ มันผิดธรรมชาติ ผิดวิสัยของนักการเมือง
     
นายเทพไท กล่าวด้วยว่า แม้ว่านายเศรษฐาจะปฎิเสธว่า การเข้าพบนายทักษิณไม่ได้คุยเรื่องการเมืองก็ตาม แต่สมาชิกพรรคเพื่อไทย หยิบฉวยมาอวยเป็นประเด็นทางการเมืองทันที สร้างกระแสว่าเป็นนิมิตหมายอันดี กลิ่นความเจริญ กลิ่นการพัฒนาหอมเข้ม และขยับเข้าใกล้ขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นความรู้สึกเฉพาะของคนพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เป็นสมุนบริวารของนายทักษิณ แต่ในความรู้สึกของประชาชน กำลังมีกลิ่นเหม็นฉุนของระบอบทักษิณ คืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
       
ถ้าระบอบทักษิณคืนชีพ ระวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในระบอบทักษิณ คือ 1.การทุจริตเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน 2.การแทรกแซงองค์กรอิสระ 3.เกิดความแตกแยกเกิดขึ้นของคนชาติ 4.การจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง อย่าลืมว่า เหตุผลทััง 4 ข้อนี้คือ สาเหตุของการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 นายเทพไท กล่าว
     
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เดินทางมาจากจ.ศรีสะเกษ มากดกริ่งหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ขอเข้าเยี่ยมนายทักษิณ  แต่ไม่มีการตอบรับ เพราะไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า โดย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมาพบกับนายทักษิณ เพื่อให้กำลังใจ เพราะนายทักษิณเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยและคนไทยมากมาย ประทับใจเรื่องนโยบายที่ทำให้ประชาชนคนบ้านนอกได้อยู่ดีกินดี ที่ผ่านมานายทักษิณก็ได้ให้ความเมตตากับตนเองมาตลอด แม้จะเคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ที่ผ่านมามีโอกาสได้เข้าไปพบหลายครั้งตั้งแต่อยู่ที่ดูไบ สิงคโปร์ และวันนี้นายทักษิณกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว จึงถือโอกาสเข้ามาเยี่ยม เพื่อแสดงความสำนึกบุญคุณ รู้สึกชื่นชมและประทับใจ รักและเคารพท่านมาตลอด
     ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้นายทักษิณมารับตำแหน่งไหน จ.ส.ต.ประสิทธิ์ บอกว่า ตำแหน่งไหนก็ได้ที่ได้ประโยชน์กับประเทศไทย ถ้าเป็นนายกฯ ได้ยิ่งดี เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ หรือเป็นที่ปรึกษาก็ได้ เพราะท่านอยู่ตรงไหนก็ได้ประโยชน์ ส่วนที่คนมองว่าประเทศไทยมีนายกฯ 2 คน นั่นเป็นเพียงความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วย ตนอยากให้ความขัดแย้งจบลง อยากให้นายทักษิณกลับมาบริหารประเทศ เพราะประเทศบอบช้ำมามากแล้ว และการที่นายเศรษฐาเข้าพบกับนายทักษิณ ก็ไม่ได้เข้ามาพบนายทักษิณเพียงคนเดียว แต่ที่ผ่านมาก็มีการเดินสายพบทุกอดีตนายกฯ หลายคน จึงอยากให้ทุกคนเปิดใจกว้าง และมองเรื่องการพัฒนาประเทศ
     
ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง อำนาจราชทัณฑ์กับการเมืองหลังพักโทษ พบว่า ร้อยละ 40.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 19.47 ระบุว่า เห็นด้วยมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลัง "ทักษิณ" ได้รับการพักโทษ พบว่าร้อยละ 50.38 ระบุ "ทักษิณ" จะมีบทบาทในการให้คำปรึกษากับพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 28.93 ระบุ การชุมนุมต่อต้าน "ทักษิณ" จะไม่สามารถจุดติดเป็นการชุมนุมใหญ่ ร้อยละ 26.72 ระบุ คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยจะลดลงจากบทบาทที่มากขึ้น ของ "ทักษิณ" ร้อยละ 19.24 ระบุ เร็วๆ นี้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี  ร้อยละ 11.07 ระบุ จะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จาก "เศรษฐา" เป็น "อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร" 
   
  ที่สำนักงานกฎหมาย ธนา เบญจาทิกุล หมู่บ้านชวนชื่นโมดัช วิภาวดี เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม (คปช.53) ร่วมกันแถลงข่าว 'การทวงความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดง 2553' ต่อพรรคการเมืองทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ และญาติวีรชน ร่วมแถลง
    
 นพ.เหวง อดีตแกนนำ นปช. กล่าวว่า ขอบคุณสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนที่เอาใจใส่ต่อการทวงความยุติธรรมให้ประชาชนผู้สละชีวิตจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 แม้วันนี้บรรดาแกนนำ นปช. ทั้งหลายไม่ทราบว่าหายไปไหนแล้ว บางคนอาจไปร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งแปลกประหลาดมาก บางคนก็อยู่ในพรรคประชาธิปไตย แต่บางคนไปปรากฏตัวในพรรคที่เป็นพวกคณะรัฐประหารหรืออำนาจนิยมด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า จะขอทวงคืนความยุติธรรมต่อไป และถ้าทำสำเร็จ ต่อไปนี้จะไม่มีทหารเผด็จการฆ่าประชนชน 2 มือเปล่ากลางถนนอีกต่อไป
    
 นพ.เหวง กล่าวว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ต้องไม่กระทำแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ต้องเอาคนเข่นฆ่าประชาชนและคนสั่งมารับโทษทางกฎหมาย ถ้าครั้งนี้ทำสำเร็จ ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราส่วนหนึ่ง นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน เดินหน้าจนกว่าจะเอาฆาตกรและคนสั่งมาลงโทษให้ได้
    
 นพ.เหวง กล่าวว่า ตัวละครที่ฆ่าประชาชน ปี 53 มาเป็นตัวละครหลายตัวที่มามีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจปี 57 ถ้าสามารถลงโทษได้ จะเป็นการปิดประตูรัฐประหารในไทย เมื่อครั้งที่นางธิดาเป็นธงนำคณะคปช. ในการไปยื่นข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองที่มีสีสัน มีเฉดสีหรือแนวคิด หรือปรากฏการณ์ภายนอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย นั่นคือพรรคฝ่ายค้าน 4 พรรคในขณะนั้น โดยได้รับคำมั่นสัญญาว่า เมื่อผ่านการเลือกตั้งแล้ว จะทำตามที่เรายื่นข้อเสนอ 8 ข้อ กระทั่งวันนี้ แม้มีความปั่นป่วนพลิกผันทางการเมือง แต่ 4 พรรคดังกล่าวยังปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้นวันที่ 27ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น. คณะคปช.53 จะเดินทางไปทวงถามยังพรรคเพื่อไทย ที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ ได้มีการดำเนินการหรือไม่
     
ส่วน นางธิดา กล่าวว่า หลังจากวันที่ 27 ก.พ. ที่จะเดินทางไปยังพรรคเพื่อไทยแล้ว วันที่ 29 ก.พ. ทางคณะ คปช.53 จะเดินทางไปยังรัฐสภา