วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการก่อสร้างทางเท้าย่านเอกมัย เขตวัฒนา พบว่า การก่อสร้างมีความล่าช้าเนื่องจากย่านนี้มีประชาชนเดินสัญจรเกือบตลอดเวลา และไม่มีที่จอดรถระหว่างก่อสร้าง ทำให้ผู้รับจ้างทำงานไม่สะดวก จากการตรวจสอบพบปัญหาสำคัญคือ ทางเท้าหลายช่วงรถวีลแชร์ไม่สามารถผ่านได้ เนื่องจากมีต้นไม้ขนาดใหญ่ ทำให้บางช่วงมีช่องว่างระหว่างต้นไม้กับกำแพงพื้นที่เอกชนแคบเกินไป ซึ่งต้องขยายให้มีช่องทางเดินอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อให้รถวีลแชร์ หรือรถเข็นเด็กสามารถผ่านได้ แนวทางแก้ไขคือ เจรจากับเอกชนเจ้าของพื้นที่ เพื่อขอขยายทางเท้าหรือทำทางเดินอ้อมต้นไม้บางช่วง อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ด้าน CSR สำหรับเจ้าของพื้นที่

 

โดย กทม.ร่วมมือกับภาคเอกชนผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ (Big tree) เพื่อดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่บนทางเท้าอย่างถูกวิธี เช่น การตัดแต่งต่าง ๆ ในส่วนทางเท้าย่านเอกมัยจะมีการนำไม้พุ่มรอบต้นไม้ใหญ่ออก และปูทับด้วยพอรัสแอสฟัลต์ทดแทน ซึ่งมีคุณสมบัติระบายอากาศ น้ำสามารถซึมผ่านลงใต้ดิน ทั้งยังช่วยเพิ่มขนาดทางเท้าบนพื้นดิน สามารถปรับแต่งให้มีความเรียบตามลักษณะการออกแบบ

 

นอกจากนี้ ยังพบสิ่งกีดขวางทางเท้าอื่น ๆ เช่น เสาไฟฟ้า ตู้ไฟฟ้า การก่อสร้างรุกล้ำทางเท้า ได้กำชับให้ผู้อำนวยการเขตตรวจสอบเรื่องขอบเขตพื้นที่ให้ละเอียด สำหรับตู้ไฟฟ้า กทม.จะมีการประกาศหาเจ้าของตามระยะเวลากำหนด หากไม่มีผู้แสดงตัว จึงจะทำการรื้อถอนต่อไป ส่วนเรื่องการจัดระเบียบสายต่าง ๆ ในย่านนี้ ต้องรอดำเนินการตามแผนที่วางไว้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งส่วนที่นำลงดิน และส่วนที่ต้องจัดระเบียบ เบื้องต้น ผู้อำนวยการเขตรายงานว่า ทางเท้าในย่านนี้จะแล้วเสร็จเดือน พ.ค.67

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.มีนโยบายรักษาต้นไม้ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกบนทางเท้า โดยเฉพาะรถวีลแชร์ จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในการดูแลต้นไม้ใหญ่ เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างต้นไม้กับช่องทางเดินให้มีขนาด 90 เซนติเมตรขึ้นไป ที่ผ่านมา กทม.ถูกตำหนิเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ไม่ถูกวิธี ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรม ฟื้นตัวยาก ไม่มีความสวยงาม โดยทางเท้าย่านเอกมัยถือเป็นย่านที่มีต้นไม้ใหญ่บนทางเท้าจำนวนมาก ยากต่อการบริหารจัดการ บางช่วงมีต้นไม้อายุหลายปี ขนาดเกือบเต็มทางเท้า จำเป็นต้องเลือกว่าจะดำเนินการอย่างไร ระหว่างขอพื้นที่เอกชนเพื่อทำทางเดินอ้อม  หรือตัดแต่งต้นไม้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า กว่าต้นไม้จะฟื้นกลับมาสมบูรณ์สวยงามใช้เวลา 3-5 ปี เบื้องต้น กทม.จึงจะขอเจรจากับเอกชนเจ้าของพื้นที่ก่อน คาดว่าจะได้รับความร่วมมือ

 

“ทางเท้าย่านเอกมัยถือว่าปราบเซียน เพราะมีต้นไม้เยอะ มีบริษัทสถานที่ทำงาน และคนเดินจำนวนมาก จะทำยังไงให้ต้นไม้กับทางเท้าอยู่ด้วยกันได้ เพื่อให้มีทางเดินและรถวีลแชร์ผ่านได้ด้วย" นายชัชชาติ กล่าว