สำหรับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ในการลงไปประสานงานและประสานการใช้อำนาจและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในช่วง 2 ทศวรรษเป็นการสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาที่ยืนอยู่บนหลักการความยั่งยืนและสมดุลใน 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  

ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า  ในการตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลเรื่อง Soft Power และผลักดันแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและพื้นที่เพื่อเตรียมประกาศเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวในระดับโลก จำเป็นจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ซึ่งพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้ประกาศแล้ว 9 พื้นที่ ได้แก่ 1. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง 2. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง 3. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร 4. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย 5. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน 6. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทองและพื้นที่เชื่อมโยง 7. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 8. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย และ 9. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคุ้งบางกะเจ้า โดยในแต่ละแห่งได้นำอัตลักษณ์และความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่มานำเสนอ

สำหรับพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนดังกล่าว เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวมีทรัพยากรและมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงและหลากหลาย  การดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบ “พื้นที่พิเศษ” จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เพราะเป็นการพัฒนาที่ใช้หลักการเชิงวิชาการและเชิงเทคนิคมาวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยว (Pain Point) ของพื้นที่ และแก้ปัญหาความซับซ้อนหรือไม่มีเจ้าภาพชัดเจนในการพัฒนา เพื่อนำมากำหนดเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ร่วมกันและเกิดการบูรณาการการพัฒนาอย่างแท้จริง

พัฒนาเชิงบูรณาการช่วง 2 ทศวรรษ

ทั้งนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ  กล่าวว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาทางอพท. ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและให้เกิดความยั่งยืน โดยมีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล โดยใช้แนวทางตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) จนได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกและได้รับรางวัล Green Destinations Top 100 Stories จำนวน 5 แห่ง และร่วมพัฒนาและยกเมืองสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) จำนวน 4  รวมทั้งยังได้ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยวสู่การเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จนได้รับรางวัล PATA Gold Awards 5 รางวัล  

ดังนั้น นาวาอากาศเอก อธิคุณ  กล่าวต่อว่า นับจากนี้ อพท. ยังคงเตรียมปักหมุดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยยึดหลักการพัฒนาตามแนวทาง การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาที่สำคัญเพื่อสร้างความสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  ตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ 4 ด้านเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสู่การเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทยให้เป็นเมืองน่าเที่ยวและน่าอยู่ ได้แก่ 1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล 2. เพิ่มและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนท้องถิ่น 3. พัฒนา Soft power สนับสนุน ฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประเพณีท้องถิ่นและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว 4. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษก้าวเข้าสู่การยอมรับในเวทีระดับโลก ต่อไป