หากกล่าวถึง “โสมขาว” ฉายาของ “เกาหลีใต้” ประเทศที่ถูกยกให้เป็น 1 ใน 5 เสือเศรษฐกิจแห่งทวีปเอเชีย พร้อมกับมีความล้ำสมัยในเทคโนโลยี จนสามารถผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ อย่างสุดล้ำแล้ว ณ ชั่วโมงนี้กลับหน้าดำคร่ำเครียดจากเรื่องอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

ตามการเปิดเผยของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ก็ระบุว่า หากนับถึงปี 2023 (พ.ศ. 2566) เกาหลีใต้ ก็มีอัตราการเกิดใหม่ของประชากรลดลงเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันแล้ว จากการสัญญาณได้ส่อเค้าลางขึ้นเมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) หลังอัตราการเกิดใหม่ของทารกลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ยังยืนระยะที่ตัวเลขของเด็กทารกเกิดใหม่มากกว่า 400,000 คนอยู่

ทว่า นับตั้งแต่ปี 2017 (พ.ศ. 2560) เป็นต้นมา อัตราการเกิดใหม่ของทารกลดลง จนมีตัวเลขต่ำกว่า 400,000 คน ซึ่งถือเป็นปีแรกที่เกาหลีใต้ มีอัตราการเกิดใหม่ของทารกตลอดทั้งปีไม่ถึง 400,000 คน

ถัดจากนั้น ตัวเลขก็ลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับในเวลาต่อมา โดยในปี 2020 (พ.ศ. 2563) อัตราการเกิดใหม่ของทารกในเกาหลีใต้ก็มีจำนวนต่ำกว่า 300,000 คน

ก่อนที่ในปี 2022 (พ.ศ. 2565) ทารกที่เกิดใหม่ในเกาหลีใต้ก็มีจำนวนน้อยกว่า 250,000 คน

และก็มาทุบสถิติลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ในปี 2023 (พ.ศ. 2566) เมื่ออัตราการเกิดใหม่ของทารกในปีนั้น เหลือจำนวนเพียง 229,970 คน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เกาหลีใต้มีเด็กทารกเกิดใหม่ต่ำกว่า 230,000 คนต่อปี

เมื่อวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ค่าเฉลี่ย ก็ปรากฏว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อัตราร้อยละ 7.7

พร้อมกันนี้ ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ยังระบุถึง “ค่าเฉลี่ยการมีบุตรของสตรีชาวเกาหลีใต้ในระยะเจริญพันธุ์ของช่วงชีวิตหนึ่ง” ก็มีอัตราลดลงจากเดิมเช่นกัน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มีตัวเลขลดลงเหลือเพียง 0.72 คน จากเดิมในปี 2022 มีตัวเลขอยู่ที่ 0.78 คน ซึ่งลดลงจากปี 2015 ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 1.24 คน

นั่น! เป็นตัวเลขในระดับรายปี คือ ในช่วง 12 เดือน แต่ถ้ากำหนดระยะเวลาให้สั้นลงเหลือเพียง 3 เดือน หรือในรอบไตรมาส เกาหลีใต้ก็จะเป็นประเทศที่มีสถิติการเกิดใหม่ของทารกต่ำลงอย่างมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ที่มีตัวเลข 0.65 คน ต่อสตรี 1 คน ลดต่ำลงกว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 ที่ 0.05 คน อันเป็นอัตราการเกิดใหม่ของทารกที่น้อยที่สุดเท่าที่เกาหลีใต้เคยบันทึกมาเลยก็ว่าได้

เมื่ออัตราเกิดทารกใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับเช่นนี้ ก็ส่งผลทางสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ต้องปรับประมาณการกันใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ประเทศจะเข้าสู่สภาวะที่มีผู้สูงวัยเป็นจำนวนมาก คือ มากกว่าประชากรวัยเด็ก หรือคนหนุ่มสาว

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ประมาณการว่า ภายในปี 2072 (พ.ศ. 2615) ประเทศจะมีประชากรอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากเดิม 44.9 ปี ในปี 2022 ที่ผ่านมา ก็จะปรับพุ่งสูงขึ้นเป็น 63.4 ปี ในปี 2072 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 20 ปีเลยทีเดียว

ใช่แต่เท่านั้น ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ยังปรับประมาณการของจำนวนประชากรของประเทศด้วยว่า ภายในปี 2072 ที่มีการปรับประมาณการอายุเฉลี่ยของประชากรชาวเกาหลีใต้ไปแล้วนั้น ในปีดังกล่าว คาดว่าเกาหลีใต้จะมีจำนวนลดลงจนเหลือเพียง 36,220,000 คน จากเดิมในปี 2023 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา มีจำนวนประชากรอยู่ที่ 51 ล้านคน และเมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษนี้ ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ปรับประมาณการด้วยความหวั่นใจว่า จำนวนประชากรเกาหลีใต้จะลดลงเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ 51 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขของจำนวนประชากรเมื่อปีที่แล้ว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากอัตราการเกิดใหม่ของทารกในเกาหลีใต้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นั่นเอง

ทั้งนี้ หากเกาหลีใต้ต้องการที่จะให้มีจำนวนประชากรเท่าเดิมที่ 51 ล้านคนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษนี้ ก็จะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้สตรีชาวเกาหลีใต้ สามารถมีบุตรในอัตรา 2.1 คนต่อสตรี 1 คนนับจากนี้

พูดง่ายๆ ก็คือว่า เกาหลีใต้จะมีประชากรที่สูงวัยมากขึ้น แต่ในขณะเดียกันจำนวนประชากรก็ลดลง สำหรับสถานการณ์ของประเทศในอนาคต ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติในหลายๆ ด้านด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ที่เกาหลีใต้ จะขาดแคลนแรงงานวัยคนหนุ่มสาว มาเป็นพลังขับเคลี่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวเติบโต

ทางด้านการดูแลสุขภาพ หรือระบบสาธารณสุข ที่เกาหลีใต้ จะต้องจัดสรรงบประมาณส่งเสริมในด้านการดูแลสุขภาพ และระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของผู้สูงวัย ที่มักจะมีปัญหาสุขภาพให้ต้องดูแลยิ่งกว่าคนวัยหนุ่มสาว ที่มีสุขภาพความแข็งแรงทางร่างกายมากกว่า

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวแต่ละครัวเรือนในเกาหลีใต้มีบุตรน้อยลง หรือไม่มีเลยนั้น ก็เพราะบรรดาครอบครัวต่างๆ หวั่นเกรงว่าจะเกิด “ปัญหาทางการเงิน” หากครอบครัวมีบุตร ซึ่งล้วนแต่ใช้เงินจำนวนมากในการเลี้ยงดูบุตรแต่ละคน

ครอบครัวชาวเกาหลีใต้ ต้องแบ่งจัดสรรเวลาจากการทำงาน มาดูแลเด็กทารกสมาชิกใหม่ในครอบครัว (Photo : AFP)

ดังนั้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรี หรือภรรยา ซึ่งจะทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรเป็นหลักใหญ่ มากกว่าผู้ชาย หรือสามี ก็ตัดสินใจ “เลื่อน” การมีบุตรออกไป หรือตัดสินใจไม่มีบุตรเลย กอปรกับสตรีชาวเกาหลีใต้ในยุคปัจจุบัน มุ่งทำงานในอาชีพการงานของตน ก็ยิ่งไม่อยากที่จะมีบุตร เพราะการมีบุตรนั้น ทำให้พวกเธอ ต้องละการทำงาน หรือทำงานน้อยลง แล้วหันมาเลี้ยงดูบุตรเป็นส่วนใหญ่แทน

ด้วยประการฉะนี้ ทั้งทางภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนบางแห่งในเกาหลีใต้ ก็หันมาส่งเสริมให้สตรี รวมถึงพนักงานสตรีของตนมีบุตรกันขึ้น แบบเร่งสร้างจำนวนประชากรให้เพิ่มมากขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทบูยังกรุป ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ถึงขนาดตั้งเป็นวงเงินพิเศษมาให้แก่พนักงานของตนหากมีบุตร ณ เวลานี้กันเลยทีเดียว

โดยทางบูยังกรุป กำหนดว่า จะให้เงินจำนวน 100 ล้านวอน (คิดเป็นเงินไทยราว 2.6 ล้านบาท) แก่พนักงานที่มีบุตรในเวลานี้ ซึ่งปรากฏว่า มีพนักงานบางรายได้รับเงินจำนวนไปแล้ว เพราะเพิ่งมีบุตร

ครอบครัวชาวเกาหลีใต้ที่มีบุตร เลือกซื้อเสื้อผ้าและสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กทารก (Photo : AFP)

ทั้งนี้ เงินจำนวนเรือนล้านดังกล่าว นอกจากสร้างแรงจูงใจให้เร่งผลิตลูกกันแล้ว ก็ยังจะเป็นสิ่งที่แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูบุตรให้มีคุณภาพ เพื่อจะได้ประชากรที่มีคุณภาพของประเทศได้ไม่น้อยเลยทีเดียวเชียว