"ก.เกษตรฯ" จับมือ "ก.ทรัพย์ฯ" เดินหน้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินส.ป.ก.ทับซ้อนกับเขตป่าของอุทยานฯ เขาใหญ่อย่างเร่งด่วน โดยจะมีการตรวจสอบที่ดินให้เสร็จใน 2 เดือน หากจุดใดชี้ขาดไม่ได้ ส่งให้ "คกก.วันแมป พิจารณาชี้ขาด "ภูมิธรรม ให้ดูความเป็นจริงพื้นที่พิพาท สปก.-กรมอุทยานฯ ย้ำใช้วันแมป เป็นมาตรฐานกลาง มองจะมีคนผิดหรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริง

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มี.ค.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า เรื่องนี้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ตนได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งได้แจกสิทธิทำกินให้กับประชาชนในเขตลุ่มน้ำ ตามกฎระเบียบกฎหมาย ประมาณ 8 แสนกว่าไร่ ใน 50 กว่าจังหวัด ส่วนเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเรื่องเก่าที่ต้องสะสาง เพราะเป็นเรื่องที่มีหน่วยราชการรับผิดชอบหลายหน่วย อีกทั้งมีแผนที่ที่มองไม่ตรงกัน จึงได้แก้ปัญหาในการจัดทำแผนที่วันแมป ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมพูดคุยกัน ซึ่งทุกคนต่างยอมในการที่จะใช้วันแมป 1 ต่อ 4,000 ให้เป็นมาตรฐานกลาง


 นายภูมิธรรม กล่าวว่า  ตนมองว่าต้องแก้ไขปัญหาแบบยืดหยุ่น  และต้องดูความเป็นจริง ยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้ได้ไปดูแหล่งการปลูกกาแฟที่จ.น่าน ซึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีชนเผ่าเมี่ยน เป็นผู้มีสิทธิทำกินในพื้นที่ดังกล่าว และอยู่ประเทศไทยมาแล้วประมาณ 200 ปี แต่พอรัฐบาลประกาศเขตไปทับซ้อนพื้นที่พวกเขาก็เกิดปัญหา คทช. จึงไปคืนสิทธิให้กับพวกเขาในการทำกิน แต่สินทรัพย์ต้องเป็นสินทรัพย์กลาง พร้อมกับมีเงื่อนไขให้พื้นที่ต้องมีการปลูกต้นไม้ เพื่อจะทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งไม่อยากใช้คำว่าเป็นอาชญากร หรือเป็นคนที่ทำผิดกฎหมาย เพราะพวกเขาอยู่มาก่อนหน้านั้น และรัฐบาลประกาศเขตทับซ้อนพื้นที่เขา จึงต้องคืนสิทธิในการทำกินให้กับพวกเขา ยกเว้นกับคนที่มีสิทธิจริงๆ ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องไปเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอย่างเคร่งครัด  อย่าไปอำนวยประโยชน์ให้ใคร ซึ่งใครที่มีปัญหาต้องจัดการกันตามกฏหมาย ไม่มีสิทธิที่จะไปคุ้มครองได้ จึงอยากให้ดูตามความเป็นจริง


 นายภูมิธรรม กล่าวว่า ปัญหาที่ไม่ยอมรับแผนที่วันแมป ตอนนี้คิดว่าดีขึ้นแล้ว เพราะที่ประชุม คทช.ได้พูดคุยกับหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นส.ป.ก. เขตอุทยาน เขตอุทยานชายฝั่ง และกรมที่ดิน ซึ่งตนพยายามให้ทุกฝ่ายได้คุยกัน และขณะนี้ในคณะกรรมการ คทช.มีความเข้าใจกันมากขึ้น  ส่วนเรื่องนี้จะมีคนผิดหรือไม่มีคนผิด ซึ่งขึ้นอยู่ที่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ว่าเราอยากให้มีคนผิดหรืออยากให้มีคนถูก หากข้อเท็จจริงถูก ก็ต้องว่าถูก


 ด้าน นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า ประเด็นปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห้อง 2502 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยกระทรวงเกษตรฯ และ ทส. เห็นชอบร่วมกันในการพิจารณาแนวเขตที่ดินทับซ้อนในบริเวณที่มีปัญหา ซึ่งวางกรอบการดำเนินงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 30 วัน
 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า หากพื้นที่ใดมีการทับซ้อนและไม่สามารถตกลงกันได้ว่า อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พิจารณาชี้ขาด โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างทั้งสองหน่วยงานที่จะดำเนินการจัดสรรหรือบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ต่อไป


 นายประยูร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง ขอความอนุเคราะห์แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นที่ดินที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐ รวม 9 หน่วยงาน ร่วมดำเนินการทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบแนวเขตการถือครองทำประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยให้พิจารณาว่า ทับซ้อนหรือรุกล้ำแนวเขตที่ดินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส


 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า รวมทั้งมอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบผู้ถือครองและทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ต้องเป็นเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น และถ้าพิสูจน์ได้ว่าเกิดการกระทำผิด ก็จะดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัดทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก. ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนและการพิจารณาแนวเขตที่ดินเพื่อจัดที่ดิน จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน