คุณูปการจากฝายบ้านแก้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ 2 ไร่ มีรายได้กว่า 200,000 บาท ต่อรอบการผลิต

ความแห้งแล้งในฤดูแล้งและน้ำท่วมในฤดูฝนคือปัญหาหลักที่ทำให้การทำกินของราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงแม่น้ำโขงต้องประสบตลอดมา ในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับสูงจนท่วมพื้นที่เพาะปลูก ช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับต่ำ ทำให้น้ำในลำน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงเกือบหมด เช่น ลำน้ำก่ำ เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร ทำให้ราษฎรบ้านท่าลี่ลารมณ์  ตำบลบ้านแก้ง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม หนึ่งในพื้นที่ต้องประสบกับความยากลำบาก

“ในอดีตการทำกินมีความยากลำบากมาก หน้าฝนเกิดน้ำท่วม หน้าแล้งไม่มีน้ำ ทำให้เพาะปลูกพืชไม่ได้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพย้ายถิ่นไปยังพื้นที่อื่นโดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งจะเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อขายแรงงานหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว” นายสุพจน์ ใจกลาง ราษฎรบ้านท่าลี่ลารมณ์ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ โครงการฝายบ้านแก้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เล่าถึงความยากลำบากในอดีต

 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการฝายบ้านแก้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ราษฎรบ้านแก้ง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านแก้งขอพระราชทานความช่วยเหลือ เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากราษฎรได้สละที่ดินบางส่วนในการดำเนินโครงการฯ ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรบ้านแก้งและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร

“ตั้งแต่มีฝายบ้านแก้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริน้ำก็ไม่ขาดแคลนเลยหน้าฝนน้ำไม่ท่วมเพราะฝายช่วยบังคับน้ำไว้สามารถทำนาได้สมบูรณ์ไม่เกิดนาล่มเพราะน้ำท่วมอีกต่อไปผลผลิตที่ได้ก็ดีมีคุณภาพหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะปลูกพืชอายุสั้นในช่วงฤดูแล้งได้  ผมปลูกถั่วฝักยาว ถั่วลิสงในพื้นที่ 2 ไร่ เป็นอาชีพเสริม ผลผลิตดีมาก ลงทุน 1 ไร่ มีค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าปุ๋ยประมาณ 15,000 บาท 3 เดือนเก็บขายมีรายได้ประมาณ 75,000 บาท ต่อไร่ หักลบกลบหนี้แล้วจะมีเงินเหลือ 60,000 - 65,000 บาท อันนี้เป็นรายได้ต่อรอบยังไม่รวมรายได้ที่ขายพืชผักสวนครัวอาทิแมงลักผักกวางตุ้งที่ปลูกเสริมด้วยนับเป็นรายได้รายวัน โดยจะตัดส่งขายตลาดทุกวัน  รวมรายได้จากการปลูกผักก็ไม่น้อยกว่า 150,000 - 200,000 บาทต่อรอบการผลิต ขอขอบพระคุณในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระเมตตาทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป” นายสุพจน์ ใจกลาง กล่าว

ทางด้าน นายพิชิต ฉวีปัง ราษฎรที่ได้บริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการฯเปิดเผยว่าแต่ก่อนหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะไม่มีน้ำแต่หลังจากมีฝายแห่งนี้แล้ว ทำให้มีน้ำคงค้างอยู่ในดินนา และลำคลองซึ่งมีความชุ่มชื้นเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกได้อีก ชาวบ้านก็จะเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกพืชต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นพืชใช้น้ำน้อยอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตเร็ว เช่น ผักบุ้ง ผักแขยงนา และตาลปัตรฤาษี เป็นต้น

“ได้บริจาคที่ดินในการก่อสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำไว้ทำการเกษตรหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และช่วยให้ระดับน้ำผิวดินสูงขึ้นสามารถนำมาผลิตน้ำประปาหมู่บ้านไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยได้บริจาคที่ดินให้โครงการประมาณไร่กว่าๆ ละแวกนี้ก็มีหลายคนที่ยินดีบริจาคที่ดินของตนเองแก่ทางการในการก่อสร้างฝายและรู้สึกปลาบปลื้มอย่างมากที่พระองค์ทรงรับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตอนนี้ปลูกหญ้าเป็นอาชีพเสริมไว้เลี้ยงวัวก็ใช้น้ำตรงนี้ทั้งบำรุงต้นหญ้า และให้สัตว์ดื่มกิน”

วันที่ 23 กุมภาพันธุ์ 2567 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายศุภรัชต์  อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการกปร.และคณะอนุกรรมการฯเดินทางไปยังโครงการฯเพื่อติดตามความคืบหน้าในการสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎร ซึ่งพบว่าโครงการสามารถช่วยเหลือพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนได้ไม่น้อยกว่า 330 ไร่ ฤดูแล้ง 60 ไร่ ทำให้ราษฎรสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย การนี้องคมนตรีและคณะพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการพร้อมกับกล่าวให้กำลังใจต่อจากนั้นได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาลงอ่างเก็บน้ำเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป

สำหรับตำบลบ้านแก้งสภาพเป็นที่ราบลุ่ม เชิงเขาสลับกับทุ่งนาทิศเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นที่ราบทุ่งนามีลำน้ำก่ำกั้นระหว่างตำบลหนองสังข์ ทางทิศใต้ เป็นที่เชิงเขาภูพาน ทิศตะวันออก เป็นที่ราบทุ่งนา มีลำห้วยศรีคุณเป็นแนวกั้นระหว่างตำบลนาแก ทิศตะวันตก มีลำห้วยก้านเหลืองกั้นระหว่างตำบลก้านเหลือง  สำหรับลุ่มน้ำก่ำเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำโขง มีแหล่งน้ำต้นทุนจากหนองหาร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนถึงแม่น้ำโขง ที่ตำบลน้ำก่ำอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รวมความยาวประมาณ123กิโลเมตรบริเวณสองฝั่งของลำน้ำก่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีราษฎรตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งอยู่ในเขต จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม