เข้าสู่ยุคอันธพาลครองเมืองโดยแท้

สำหรับ สถานการณ์ใน “เฮติ” ประเทศซึ่งเป็นเกาะในทะเลแคริบเบียน

เพราะถึง ณ ชั่วโมงนี้ มีรายงานว่า บรรดากลุ่มอันธพาล แก๊งอาชญากรรมต่างๆ ยึดครองควบคุมพื้นที่ “กรุงปอร์โตแปรงซ์” เมืองหลวงของประเทศ คิดเป็นถึงร้อยละ 80 ด้วยกัน

ถูกแก๊งอันธพาล กลุ่มอาชญากรรม ยึดครองพื้นที่ได้มากถึงเพียงนี้ จึงแทบจะไม่ต้องพูดถึงว่า การบริหารปกครองโดยรัฐบาลในพื้นที่เมืองหลวง จะไร้ประสิทธิภาพขนาดไหน

เช่นเดียวกับเมืองต่างๆ ของเฮติ ก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงอีกเช่นกันว่า จะมีสภาพระส่ำระสายกันเช่นไร เพราะขนาดในเมืองหลวงแท้ ก็ยังตกอยู่ในความครอบครอง และควบคุมโดยแก๊งก๊วนอาชญากรรมจนปั่นป่วนวุ่นวาย

ภาพมุมสูงแสดงความเสียหายของสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ถูกแก๊งอาชญากรรมโจมตี (Photo : AFP)

โดยมีรายงานว่า เหลือเพียงบางจุดเท่านั้น ที่แก๊งอาชญากรรมยังไม่ได้ควบคุม แต่ได้พยายามยึดครอง ด้วยปฏิบัติการที่ต้องบอกว่า ละเลงเลือดกันอย่างดุเดือด นั่นคือ “ท่าอากาศยานนานาชาติ ตูแซ็ง ลูแวร์ตูร์ (Toussaint Louverture Airport)” ซึ่งจนถึง ณ เวลานี้ ทางแก๊งอาชญากรรมก็ยังคงสุมคนกลุ่มก๊วน พร้อมทั้งอาวุธหนัก ถล่มโจมตีอย่างต่อเนื่อง โดยทางการเฮติ ต้องระดมกำลังพลเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าต่อสู้ต้านทานกันอย่างเลือดเดือด

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ไฟสงครามแก๊งอาชญากรรมเผาประเทศเฮติ ก็เริ่มมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว ก่อนทวีความรุนแรงขึ้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2010 (พ.ศ. 2553) ที่ประชาชนพลเมืองอดอยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถูกเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มากระหน่ำซ้ำเติมให้อดอยากหนักขึ้น จนต้องฉกชิงวิ่งราว ปล้นสะดมกันขึ้น ซึ่งก็มีทั้งก่อเหตุเพียงลำพัง และรวมตัวเป็นกลุ่มก๊วนกระทำการก่อเหตุ

นอกจากประชาชนที่ตั้งแก๊งตั้งพวกก่อเหตุอาชญากรรมแล้ว ปรากฏว่า มีกลุ่มนักรบรับจ้างจากต่างแดน และเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ของทางการอีกส่วนหนึ่ง มาตั้งกลุ่มอาชญากรรมอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มอาชญากรรมที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักรบรับจ้างต่างแดน และเจ้าหน้าที่ของทางการนั้น ต้องนับว่าเป็นกลุ่มอาชญากรรมที่น่าสะพรึงที่สุด เพราะกลุ่มคนพวกนี้ ผ่านการฝึกฝนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ผ่านการฝึกทางยุทธวิธี และมีคลังแสงที่สามารถยักยอกฉ้อฉลนำอาวุธออกมาก่อเหตุได้ ตลอดจนมีกำลังพล ลูกน้องอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้กลุ่มอาชญากรรมที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เป็นกลุ่มที่น่ากลัว และน่าวิตกต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ถึงขนาดก่อเหตุยิงประธานาธิบดีของประเทศจนเสียชีวิตก็ยังเคยมี เช่น เหตุการณ์ที่กลุ่มนักรบรับจ้างจากโคลัมเบีย บุกเข้าไปก่อเหตุสังหารประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส ผู้นำเฮติ อย่างเหี้ยมโหด จนเสียชีวิตถึงในบ้านพัก เมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) จนโลกต้องตกตะลึงพรึงเพริดกันมาแล้ว

ส่วนกลุ่มอาชญากรรมที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ และกลายเป็นแก๊งอาชญากรรมขาใหญ่ที่สุดแก๊งหนึ่งของเฮติ เช่น กลุ่มอาชญากรรมของ “นายจิมมี เชริซิเยร์” อดีตนายตำรวจ วัย 46 ปี เจ้าของฉายา “บาร์บีคิว”

ความเป็น “ขาใหญ่แก๊งอาชญากรรม” ของนายเชริซิเยร์นั้น ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าแก๊งอาชญากรรมต่างๆ ที่มารวมตัวเป็นพันธมิตรกันถึง 9 แก๊ง หรือที่เรียกว่า “กลุ่มจี9 (G9)” ตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ. 2563)

มีรายงานด้วยว่า อีกหนึ่งในสาเหตุปัจจัยที่ทำให้นายเชริซิเยร์ และ “แก๊งจี9” ที่เขาเป็นหัวหน้าอยู่นั้น มีความเชื่อมโยงกับพรรคเทตเคลของประธานาธิบดีโมอิผู้ล่วงลับที่ถูกลอบสังหารด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แก๊งอาชญากรรมแก๊งนี้ มีแบ็กดี หรือเปรียบไปก็เสมือนเป็น “สุนัขมีปลอกคอ”

อย่างไรก็ดี มิใช่มีแต่แก๊ง “จี9” เท่านั้นที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง แต่ปรากฏว่า มีแก๊งอื่นๆ เช่น “แก๊งเป็ป” ซึ่งเป็นแก๊งอาชญากรรมคู่แข่งของ “แก๊งจี9” ก็มีพรรคการเมืองอื่นๆ ในซีกฝ่ายค้านให้การหนุนหลัง โดยมีรายงานว่า แก๊งอาชญากรรมทั้งสองแก๊งนี้ ขับเคี่ยวละเลงเลือดในสงครามระหว่างแก๊งอาชญากรรมในเฮติ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าสะพรึงที่สุด ก็เห็นจะเป็นแก๊งจี9 ของนายเชริซิเยร์ เจ้าของฉายา “บาร์บีคิว” เนื่องจากมีรายงานว่า แก๊งของเขาเคยก่อเหตุสังหารหมู่ผู้คนจนมีผู้เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 70 ราย เผาบ้านเรือนผู้คนไปกว่า 400 หลัง โดยพื้นที่ก่อเหตุก็คือ กรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศอีกต่างหาก ไม่ใช่พื้นที่ห่างไกลปืนเที่ยงแต่ประการใด ถึงขนาด “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” ก็ยังกล่าวขวัญถึงในความเหี้ยมเกรียมของหัวหน้าแก๊งจี9 รายนี้กันเลยทีเดียว

นอกจากการก่ออาชญากรรมแล้ว ก็ยังมีรายงานว่า นายเชริซิเยร์ ก็ยังให้ความสนใจด้านการเมืองอีกด้วย แต่เป็นการสนใจที่ไม่ใช่รูปแบบเข้าสู่สภาฯ เพื่อเล่นการเมือง ทว่า กลับเป็นการใช้ความรุนแรงมาจัดการกับปัญหาการเมือง โดยที่ผ่านมา เขาต่อต้านนายอาเรียล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติ ที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ซึ่งก้าวขึ้นมามีอำนาจหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีโมอิส เมื่อกรกฎาคม 2021 (พ.ศ. 2564)

ทั้งนี้ นายเชริซิเยร์ ได้ประกาศตัวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2022 (พ.ศ. 2565) หรือหลังนายอองรี สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าจะดำเนินการต่อสู้กับนายอองรี ซึ่งก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเฮติอย่างไม่ชอบธรรม ไม่นับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างความทุกข์ยากให้แก่ประชาชน ไม่ได้ฟื้นฟูประเทศตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ โดยเขาจะต่อสู้ได้อย่างยืดเยื้อยาวนาน ตราบเท่าที่เขาต้องการอีกด้วย

โดยในการต่อสู้ข้างต้น ก็ยังรวมถึงการต่อสู้กันระหว่างแก๊งอาชญากรรมด้วยกัน ซึ่งมีรายงานว่า เฉพาะช่วงเดือนมกราคม 2024 (พ.ศ. 2567) ที่ผ่านมา ก็คร่าชีวิตผู้คนกันไปแล้วมากกว่า 1,000 คน ถึงขนาดทำให้นายกรัฐมนตรีอองรี ต้องเดินทางไปร้องขอให้นานาประเทศส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปช่วยเหลือเฮติ ในการต่อสู้กับแก๊งอาชญากรรม เช่น การเดินทางไปขอความช่วยเหลือต่อทางการประเทศเคนยา ในทวีปแอฟริกา เป็นต้น

นายอาเรียล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติ ขณะเดินทางไปเคนยา เพื่อขอความช่วยเหลือด้านตำรวจ มารับมือกับแก๊งอาชญากรรมในเฮติ (Photo : AFP)

ล่าสุด แก๊งจี9 ของนายบาร์บีคิว ก็ได้ยกกำลังบุกจู่โจมเรือนจำใหญ่ที่สุด 2 แห่งของเฮติ จนเรือนจำทั้งสองแห่งต้องตกอยู่ในสภาพ “คุกแตก” ทำให้นักโทษหลายพันคนหลบหนีออกมา สร้างความปั่นป่วนให้แก่เฮติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่กรุงปอร์โตแปรงซ์ ส่งผลให้ทางการต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รับมือกับสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์ที่แก๊งอาชญากรรมพยายามบุกสนามบินนานาชาติ ตลอดจนเฝ้าระวังพื้นที่ธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติ ของเฮติ อย่างเข้มงวด เพราะหวั่นเกรงแก๊งอาชญากรรมจะบุกปล้น

โดยปฏิบัติการของแก๊งอาชญากรรมที่เกิดขึ้นนี้ ทางนายเชริซิเยร์ เจ้าของฉายา “บาร์บีคิว” ระบุว่า หากแก๊งของเขายึดสนามบินได้ ก็จะเป็นหนทางสกัดกั้นไม่ให้นายอองรี ที่ ณ เวลานี้ อยู่ระหว่างการขอแรงสนับสนุนด้านตำรวจจากนานาชาติ กลับเข้าประเทศได้ และต้องการกดดันให้นายอองรีลาออกจากนายกรัฐมนตรี พร้อมกับข่มขู่ว่า หากนายออรีไม่ทำตาม ก็จะยกระดับสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งจะจบลงด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเฮติขึ้นได้