ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“นัยสำคัญของชีวิต...ก็คือการตระหนักถึง..ความไม่รู้อะไร..ความไม่รู้สิ่งใดในชีวิต..นี่คือ..การยอมรับในวงจรของการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางองค์ความรู้มากมาย..และท่ามกลางวิถีแห่งปริศนาที่กดทับชีวิตมนุษย์จนคลาดเคลื่อน..มันยอกย้อนเเละก่อเกิดเป็นพลังแห่งอวิชชา..ยิ่งไม่รู้ชีวิตก็ยิ่งจะจมปลักอยู่กับตัวตนอันมืดมน และยิ่งจะสั่นไหวอยู่กับสถานะอันไม่มั่นคงทางจิตปัญญาอยู่ซ้ำๆ...อุบัติการณ์เช่นนี้คือ..ปรากฏการณ์ที่กวาดต้อนเราให้เข้าไปติดอยู่กับมายาคติของบ่วงบาศอันรัดแน่น..กระทั่งไม่หลงเหลืออะไรให้เป็นคุณค่าอันมีศรัทธาเป็นสิ่งนับเนื่อง..ในที่สุด”

นี่คือต้นเค้าแห่งหนังสือที่ย้ำเตือนสติความคิดให้ได้ตระหนักคิด..ที่มีพลังแห่งคุณค่าต่อชีวิตเล่มหนึ่ง..ในนามของ.. “พลังแห่งความไม่รู้” (THE POWER OF IGNORANCE)..งานเขียนของ “เดฟ ทร็อตต์” (Dave Trott) นักคิด นักโฆษณา ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ชาวสหรัฐฯ...ผู้สร้างสรรค์ตำรา “หลักสูตรลับ”..ที่สามารถพลิกแพลงชีวิต..จนก้าวขึ้นมาสู่บทบาทการเป็นผู้นำในโครงสร้างแห่งการดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างมั่นคง..

“ไม่รู้อะไรเลย..ดีกว่าที่เราจะรู้มันแบบผิดๆ” ว่ากันว่า..เพราะความคิดดีๆและไอเดียที่แปลกใหม่จะเกิดขึ้นจาก “พลังของความไม่รู้”..โดยก้าวข้ามเขตของความคุ้นเคยในความคิดที่คับแคบ..ท้าทายต่อคุณไม่รู้..เพราะ เมื่อไม่กล้ายอมรับว่าไม่รู้  เราทั้งหลายจึงไม่ตั้งคำถาม..ครั้นเมื่อไม่ตั้งคำถาม เราจึงไม่เคยเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ..

เราต่างเคยคิดว่า..ความรู้คือจุดแข็ง..ส่วนความไม่รู้คือจุดอ่อน..และนั่นล่ะคือตัวปัญหาที่แท้จริง.. “การกล้าที่จะยอมรับในความไม่รู้นั้น..ต้องใช้ความกล้าหาญมาก และมันก็จะทำให้เราได้เปรียบคนที่ไม่กล้าที่จะยอมรับว่า ไม่รู้ด้วยเช่นกัน..เพราะมันทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือแม้แต่ได้รู้เพิ่มเติมในสิ่งที่รู้อยู่แล้ว หรือคิดว่ารู้มาก่อน”

คนที่มีปัญญาตระหนักถึงว่า ตัวเองไม่รู้อะไร จึงจะสามารถหาความรู้มาเติมความไม่รู้นั้นได้โดยง่าย แต่สำหรับกับคนโง่นั้น ย่อมจะไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร หรือที่หนักไปกว่านั้น ก็คือคิดว่าตัวเองรู้..ทั้งๆที่จริงๆแล้ว..ไม่ได้รู้อะไรสักเท่าไหร่เลย.. “เมื่อยอมรับว่าไม่รู้..ความรู้จึงเกิด” ...หลายคนที่เป็นแฟนฟุตบอล อาจจะจำการแข่งขันนัดสำคัญระหว่างทีมสโมสรลิเวอร์พูลจากอังกฤษกับสโมสรบาร์เซโลนาจากสเปนเมื่อปี 2019..ในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยการแข่งขันนัดแรกนั้น ลิเวอร์พูลไปแพ้ที่สเปนถึง 3-0 ทำให้ความหวังในการเข้ารอบของลิเวอร์พูลค่อนข้างริบหรี่ เพราะต้องกลับมาเล่นที่บ้านตัวเองโดยจำเป็นที่จะต้องชนะถึง 4-0..จึงจะเข้ารอบต่อไปได้..

ก่อนการเเข่งขันนัดคอขาดบาดตายนี้ “ลิเวอร์พูล” ได้มีการศึกษาคู่แข่งอย่างละเอียดเพื่อวางแผนหาจุดอ่อนของทีมยักษ์ใหญ่จากสเปน โดยที่สตาฟฟ์โค้ชได้สังเกตเห็นว่า นักเตะบาร์เซโลนาชอบที่จะเถียงหรือโต้แย้งกรรมการอยู่เป็นประจำหากว่าทีมของตนเสียผลประโยชน์ ซึ่งเป็นการกดดันกรรมการให้ลังเล และมีโอกาสที่จะตัดสินผิดพลาดโดยพวกเขามักได้ผลประโยชน์จากการกระทำในบริบทนี้อยู่เสมอ.. เมื่อเป็นเช่นนั้นทีมงานจึงไปบอกผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลว่า..ช่วงเวลาที่นักเตะเข้าไปโต้แย้งกรรมการนี่แหละ  เป็นขณะเวลาที่นักเตะสเปนไม่มีสมาธิกับการเล่น จึงควรวางแผนโจมตีเร็วในจังหวะเหล่านี้..นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทีมลิเวอร์พูลมุ่งมั่นการซ้อมเล่นเร็ว รวมไปถึงให้เด็กเก็บลูกฟุตบอลข้างสนามนั้นเตรียมลูกฟุตบอลไว้คืนให้นักเตะลิเวอร์พูลเล่นต่ออย่างรวดเร็วเวลาลูกออก เพื่อโจมตีคู่แข่ง..

ในวันแข่งขันจริง..สิ่งที่ทุกคนบอกว่ามันเป็นปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น ลิเวอร์พูลนำบาร์เซโลนาไป3-0/ และขอยิงเข้าอีกประตูเดียวก็จะได้เข้ารอบต่อไป..สุดท้าย...ลิเวอร์พูลมาได้ประตูที่สี่จริงๆ อย่างไม่น่าเชื่อจากจังหวะเล่นเร็วจากลูกเตะมุม หลายคนคิดว่าโชคช่วย โดยไม่รู้เบื้องหลังว่า มันคือการศึกษาทำงานของ สตาฟฟ์โค้ชที่ละเอียดและมองเห็นจุดที่คนอื่นมองไม่เห็นของสตาฟฟ์โค้ช ซึ่งนี่แหละที่เขาบอกว่าเป็น “Genius” มีเรื่องราวของเครื่องบินตกที่เกิดขึ้นในปี 1972 เนื่องจากเมื่อนักบินจะเอาเครื่องลงแล้วต้องเข้าเกียร์ล็อกเพื่อจอด แต่ไฟบอกสถานะ กลับมีปัญหาไม่ติดขึ้นมา เขาเลยต้องปรับโหมดการบินเป็นโหมด “Autopilot” แล้วทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาเอง..แก้ปัญหาของไฟสถานะที่ไม่ติดนั้น..โดยที่ไม่มีใครเฉลียวใจว่า..ตอนนั้นเขาลืมปรับโหมดการบินเป็น “Autopilot” ในไม่ช้าเครื่องบินก็ตก..

ถัดมาในปี 1977..เปิดเหตุการณ์คล้ายๆกันอีก คราวนี้นักบินก็เลยปรับเข้าในการใช้โหมด “Autopilot”...เข้าโหมดที่ต้องการเรียบร้อย แต่การที่ทุกคนไปสนใจการแก้ปัญหาไฟสถานะนั้น..ทำให้ลืมดูไปว่า..เครื่องนั้นบินต่ำเกินไป แล้วก็สายไปเสียแล้ว..! สุดท้ายก็ไปชนเข้ากับภูเขา..

ปี 1978..ถัดมาอีกหนึ่งปี ก็เกิดเหตุการณ์คล้ายๆกัน คราวนี้นักบินก็ใช้โหมด “Autopilot” บินวนไปเพื่อแก้ปัญหาเดิม แต่ลืมดูน้ำมันของเครื่องซึ่งกำลังจะหมด เนื่องจากบินวนนานซึ่งต้องใช้น้ำมันมากกว่าปกติ..สุดท้ายเครื่องก็ตก..โศกนาฏกรรมต่างๆเหล่านี้คล้ายคลึงกันมากๆ..จะเห็นได้ว่าทุกคนมัวไปสนใจปัญหาของไฟที่ไม่ติด จนลืมและมองข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดไปนั่นก็คือ.. “การบังคับและควบคุมเครื่องบิน” ต่อมาภายหลังทั้งสามเหตุการณ์นี้..ผลการพิสูจน์ออกมาว่า..เกียร์ลงจอดเข้าที่แล้ว ปัญหาคือแค่ไฟสถานะไม่ติด...โลกจึงได้บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ทั้งหมดคือ..

“เราต้องให้ความสำคัญกับงานที่สำคัญหรือใหญ่ที่สุดก่อน/รวมทั้ง..เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด..หาใช่เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด” ..แต่อย่างใดไม่..! มีเรื่องเล่า..ที่ได้เล่าถึงอุตสาหกรรมหลอดไฟ..ในประเด็นที่ชวนขบคิดว่า ...การผลิตสินค้าออกมาให้ดีมากเกินไปนั้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อบริษัทผู้ผลิตเลย ดั้งเดิม..อุตสาหกรรมผลิตหลอดไฟฟ้า ต้องมีอายุใช้งานได้ยาวนานถึง 2,500 ชั่วโมง..ซึ่งยอดขายในช่วงแรกก็ดีทีเดียว..แต่เนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนาน..ทำให้การขายเกิดยอดซื้อน้อยมาก..หลังจากนั้นจึงทำให้บริษัทผลิตหลอดไฟชั้นนำของโลก ต้องหันมาประชุมตกลงกันเพื่อผลิตหลอดไฟให้มีอายุใช้งานน้อยลงเหลือเพียงแค่ 1,000ชั่วโมงเท่านั้น..เพื่อที่จะเพิ่มยอดขายหลอดไฟทั่วโลก

แต่หลังจากนั้นก็มีปัญหา การควบคุมการขายทีมีการจำกัดโควตาการขายและอายุใช้งานได้เกิดขึ้น..ทำให้การตกลงนี้ถูกยกเลิกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สิ่งที่เราได้ประจักษ์จากเหตุการณ์นี้เลยก็คือ.. “การทำสินค้าให้ออกมาดีมากไปนั้น..สามารถส่งผลร้ายต่อธุรกิจได้..และ..บางทีการทำสินค้าให้มีจุดด้อยบ้างก็อาจจะดีมากกว่า..สุดท้ายแล้ว “เดฟ ทร็อตต์” ..ก็เอาไปเปรียบเทียบกับวงการโฆษณาว่า..ไม่จำเป็นหรอกที่ต้องทำโฆษณาที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ โดยเคยมีการล้อเลียนบริษัทเอเจนซี่บางแห่งว่า..คติพจน์ของบริษัทนั้นคือโฆษณาที่ดี..ก็คืออันที่ขายได้ ลูกค้าชอบ” ก็เท่านั้นแหละ..!

“ทุกวันหนังสือแห่งความคิดเล่มสำคัญเล่มนี้..ได้ตั้งข้อวิพากษ์ว่า..การปลูกฝังค่านิยมของมนุษย์ส่วนใหญ่ในวันนี้ มักจะนิยมให้คุณค่าแก่ความรู้และด้อยค่าแก่ความไม่รู้อันหมายถึงความโง่เขลา...คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับในสิ่งนี้..จึงไม่คิดตั้งคำถามต่อความไม่รู้ ...ซึ่งเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง..การที่มนุษย์ส่วนใหญ่ชอบทำตามคนอื่น ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่วิธีการที่เหมือนเดิมเหล่านั้น ก็ไม่มีทางที่จะสร้างให้พวกเขา..ได้ผลลัพธ์ที่ผิดต่างไปจากเดิม..เพราะจุดเริ่มต้น..แห่งนวัตกรรมในหลายๆส่วน ล้วนมีจุดกำเนิดขึ้น จากภาวะ ที่กล้าเผชิญหน้ากับความไม่รู้ และกล้าที่จะคิดแตกต่างจากคนอื่น

“ภาพเขียน Mona Lisa ของศิลปินเอก Leonardo Dar Vinci/เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาจริงๆ หลังจากที่ต่อมหัวขโมย Vincenzo Peruggia ได้ขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ Louvre ในปี 1911/ด้วยเป็นภาพวาดที่เล็ก จนสามารถเก็บในอกเสื้อได้..เมื่อผู้คนทราบถึงข่าวนี้..พวกเขาจึงเริ่มคิดว่าภาพนี้ต้องมีอะไรดีแน่นอน..จนตำรวจสามารถนำภาพกลับคืนมาได้..ในบางครั้ง..คุณค่าของสิ่งต่างๆก็อาจเกิดขึ้นได้จากความรู้สึก “ขาดแคลน” (Scarcity)ของผู้คนมากกว่าคุณค่าของมันจริงๆ..ซึ่งก็เป็นแนวทางให้นักจัดละครเวที Mike Todd ก็ได้นำเอาหลักการนี้ไปใช้ในการขายบัตรดูละครของตัวเองอย่างชาญฉลาด..ด้วยการจ้างพนักงานขายตั๋ว ผู้มีอาการนิ้วอักเสบซึ่งจะต้องทำให้เขาทอนเงินให้กับลูกค้าได้ช้า และทำให้คิวซื้อตั๋วยาวขึ้นเรื่อยๆ..จนทำให้ผู้คนให้ความสนใจว่า..ละครเรื่องนี้ต้องยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน..” นี้ เราไม่ได้ทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ดีเลิศให้แก่ลูกค้าหรอก..เราแค่ต้องการทำเงินมากกว่า..”

นอกจากนี้..มนุษย์ส่วนใหญ่มักมีความกลัวต่อความไม่รู้ และเลือกที่จะจมอยู่กับแนวคิดและค่านิยมแบบเก่าของสังคม แต่ “นวัตกร” หลายคนกลับเลือกที่จะยอมรับว่า..เราไม่อาจรู้ได้ถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และกล้าเผชิญกับความไม่รู้เหล่านั้น..เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆทีโลกยังไม่เคยได้พบเจอมาก่อน โดยไม่สนใจต่อแรงต้านทานจากกลุ่มคนที่เขาคิดว่าตัวเองรู้อยู่แล้ว..

 “เมื่อ 100 ปีก่อน..ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น มีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 3 ใน 4 คน แพทย์ในสมัยนั้นต่างยอมรับว่า อัตราการตายที่สูงขนาดนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ยกเว้น..Etienne Tarnier/แพทย์ชาวฝรั่งเศส ที่เห็นว่าเกษตรกรสามารถฟักไข่ไก่ ด้วยการทำให้ไข่เหล่านั้นอบอุ่นอยู่เสมอ จนทำให้เขาคิดค้น “ตู้อบเด็กทารก” เครื่องแรกของโลกที่สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของเด็กได้ถึง 85เปอร์เซ็นต์/แต่กว่าที่ตู้อบนี้จะแพร่หลายไปทั่วโลก ..เขาต้องนำเอาตู้อบไปจัดแสดง ในงานจัดแสดงสินค้า..ต่างๆ พร้อมกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจริงๆ เพื่อเปิดให้ผู้จ่ายเงินเข้ามาชมความน่ารักของเด็กๆเหล่านั้น ไปพร้อมกับการรับรู้ถึงประสิทธิภาพของตู้อบ..นานกว่า 40 ปี..ถึงจะได้รับการยอมรับ..”

ครั้นเมื่อ..มนุษย์ยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง..เมื่อนั้นมนุษย์จะเปิดใจกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ที่ทั้งตัวเองและคนอื่นอาจไม่เคยได้ลองทำมาก่อน และเมื่อนั้นองค์ความรู้ใหม่จะเกิดขึ้น นวัตกรรมในหลายไปครั้งก็เกิดจากเหล่านวัตกรรมที่เผชิญหน้ากับความรู้ใหม่อย่างเปิดใจ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดความรู้เหล่านั้น.. “เมื่อหลายปีก่อน..รถยนต์ยี่ห้อ Subaru ได้ประสบปัญหาอย่างมากในด้านยอดขายในสหรัฐอเมริกา/ผู้บริหารของค่ายจึงลงทุนทำสำรวจเพื่อมองหาจุดเด่นของรถยี่ห้อนี้..

 จนได้พบกับข้อมูลที่น่าสนใจว่า..ในหมู่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็น LGBT/ซึ่งไม่มีบริษัทรถยนต์ยี่ห้อไหนเคยให้ความสำคัญมาก่อน

ต่อมา Subaru ก็ได้ออกแคมเปญโฆษณาต่างๆมากมาย เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และเริ่มสนับสนุนแคมเปญเกี่ยวกับLGBT กลุ่มต่างๆ จนสามารถสร้างการเติบโตในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอีกมากมาย”

การยอมรับ ในความไม่รู้ของตนเองและกล้าเผชิญหน้ากับมัน ถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่จะนำไปสู่ การถือกำเนิดขององค์ความรู้ใหม่ๆและความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ..แต่ในทางกลับกัน การยึดมั่นในองค์ความรู้ผิดๆของตัวเองโดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนั้น..คือหนทางแห่งหายนะอันแท้จริงที่ได้สร้างความเสียหายมาแล้ว..ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างนับไม่ถ้วน..

“เมื่อปี 1989/กองทัพนักเขียนบทได้รวมตัวกันประท้วงทั่วทั้งอเมริกา/อันเป็นเหตุให้ทีมงานของ FoxTV..เริ่มคิดหารายการใหม่โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนเขียนบทจนได้ออกมาเป็นรายการของตำรวจในแต่ละเมืองตามความจริง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย จนกลายมาเป็นรายการทีวีที่ฉายต่อเนื่องยาวนานที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ..การประท้วงของนักเขียนบทจบลงด้วยการเกิดขึ้นของรายการแบบ real -life show ที่ไม่ต้องว่าจ้างนักเขียนบทอีกต่อไป..

นี่คือ..หนังสือที่สื่อพลังออกมาอย่างอัศจรรย์/ผ่านความไม่รู้สู่ความตระหนักรู้ทั้งด้วยวิจารณญาณเฉพาะตัว/และทั้งด้วยส่วนขยายแห่งศาสตร์ทางวิชาการอันมีค่า..ทุกๆแก่นสารควารู้ล้วนเกิดจากผลึกความคิดที่ต้องเข้าใจ .เพื่อการหยั่งรู้อันถาวร..หยั่งรู้ถึงว่า..พลังของความไม่รู้นั้นเป็นเช่นไร..หรือว่ามันเป็นอาวุธลับ เผื่อการแสวงหาคำตอบ และดำเนินทุกอย่างด้วยความไม่รู้จนกระทั่งก่อเกิดเป็นความรู้ขึ้นมา ในที่สุด..

“ในทุกวันนี้..น้อยครั้งนักที่คนเราจะพูดหรือจะตอบอะไรสั้นเช่น..ใช่ หรือ ไม่ใช่..เรามักจะบรรยายหรือสาธยายถึงบทอื่นอีกมากมาย..” “พราว อมาตยกุล” แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาด้วยความเข้าใจเนื้อในของมัน..รวมทั้งมรดกการค้นคิดอันเป็นข้อมูลหลักที่ทรงคุณค่าของผู้เขียน..

ความลึกซึ้งและเปิดกว้างในข้อมูลแห่งปรากฏการณ์ของโลกแห่งโลก ณ ที่นี้..คือรสชาติอันอิ่มเต็มของสำนึกคิดที่สรรค์สร้างอาหารแห่ง “จิตปัญญา”..ให้เกิดแก่ชีวิตของชีวิต..แท้จริง..

“ความคิดดีๆนั้น..ไม่ได้ขึ้นกับว่ามาจากใคร..เราจึงควรตัดสินความคิดจากคุณภาพของความคิดนั้นๆ...ไม่ใช่จากที่มาของมัน..”