ลีลาชีวิต /  ทวี สุรฤทธิกุล

โดยธรรมชาติมนุษย์อาจจะไม่เท่าเทียมกัน แต่ในทางสังคมมนุษย์ควรจะเท่าเทียมกัน

ไพลินก็เหมือนกับคนไทยจำนวนมาก ที่ยอมรับความไม่เท่าเทียมกัน เช่น ความรวย ความจน ความทุกข์ และความสุข เป็นต้น โดยมองว่าเป็นเรื่องของ “เวรกรรม” และ “โชคลาภวาสนา” อันได้มาจากบุญกุศลที่ทำมาตั้งแต่ชาติก่อน ๆ และไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนว่าเป็นปัญหาอะไรกับตัวเอง รวมถึงถ้าคนอื่นจะมีปัญหาอะไรก็เป็นเรื่องของคนคนนั้น อย่างที่พระท่านว่าต้อง “ปล่อยวาง” หรือใช้ “อุเบกขา” ซึ่งไพลินก็ได้ซึมซับความเชื่อเหล่านี้มาบ้าง แม้จะไม่เข้าใจชัดเจน แต่ก็ “ทำใจได้” เหมือนอย่างที่ทุก ๆ คนในหมู่บ้านก็เป็นเช่นนั้น

ไพลินมาเริ่มรู้สึกว่า “ความไม่เท่าเทียมกัน” นี้เป็นปัญหาก็ตอนที่ได้มาเรียนในชั้นมัธยม เพราะโรงเรียนที่สอนในชั้นมัธยมที่เป็นของรัฐบาลมีเพียงแห่งเดียว ส่วนของเอกชนก็มีเพียงแห่งเดียวเช่นกัน แต่ก็มีค่าเล่าเรียนที่ค่อนข้างแพง รวมทั้งต้องเป็นลูกของคนที่มีฐานะหรือ “มีเส้นมีสาย” คือมีญาติพี่น้องที่เคยมีลูกมีหลานไปเรียนที่นั่น หรือมีคน “ฝากฝัง” รวมถึงต้องเสียเงินใต้โต๊ะ ที่เรียกว่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ให้แก่โรงเรียนอีกเป็นจำนวนพอสมควร ซึ่งธรรมเนียมนี้ได้แพร่ลามมายังโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลนี้ด้วย โชคดีที่ไพลินได้ทุนการศึกษาของอำเภอเข้ามาเรียน ก็ไม่ต้องใช้เส้นสายหรือเงินทอง อย่างนักเรียนอีกหลาย ๆ คนที่ได้เข้ามาเรียนนั้นเลย

ไพลินมองไปที่เพื่อน ๆ นักเรียนเหล่านั้น แล้วก็เกิดการ “เปรียบเทียบ” ความเหลื่อมล้ำอย่างไม่รู้ตัว แรก ๆ ก็มองไปที่ชุดนักเรียนของแต่ละคน ที่ของบางคนขาวสะอาดผุดผ่องและถูกรีดอย่างสวยเรียบ มีรองเท้าหนังขัดมันแวววาว ถุงเท้าก็ขาวสะอาดเนียนแนบข้อเท้าและน่อง เพราะใช้วัสดุอย่างดี คือเสื้อกระโปรงผ้าโทเร และถุงเท้าไนลอน ในขณะที่ของเธอกับเพื่อนบางคนสวมใส่กระโปรงและเสื้อผ้าฝ้าย สีซีดเหลืองและยับย่น เพราะรีดยาก ส่วนถุงเท้าก็มีใส่เพียงบางคน ซึ่งก็ทำจากผ้าดิบเช่นกัน แต่ก็ยืดหดไม่เท่ากัน ต้องคอยดึงขึ้นมาให้ดูเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลา แต่ไพลินมีความสามารถในการตัดเย็บจากร้านที่เธอทำงานและพักอยู่ ก็ได้เย็บเสื้อผ้าและถุงเท้าไว้ใช้เอง ทำให้ดูดีขึ้นบ้าง กระนั้นความรู้สึกแตกต่างเหลื่อมล้ำนี้ก็ทำให้เธอเริ่มคิดถึงเรื่องอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ต่าง ๆ และ “อนาคต” ที่จะเป็นอยู่ต่อไปในเวลาข้างหน้า

เธอเริ่มมองเห็น “ความรวย - ความจน” ต่อมาก็ “ผู้ใหญ่ - ผู้น้อย” จนถึง “ความสุข - ความทุกข์” ที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน ทำให้เธอต้องคิดมากขึ้นไปอีกว่าทั้งหมดนี้เกิดจากอะไร แรก ๆ เธอก็คิดว่าคงเป็นด้วย “บุญทำกรรมแต่ง” คนที่เขารวยเพราะเขาทำบุญมาดี แต่เท่าที่ดูเพื่อนที่รวย ๆ ก็ไม่เห็นว่าคนพวกนั้นทำบุญทำทานอะไร บางคนใจร้าย ชอบทรมานสัตว์ หรือแกล้งเพื่อน ๆ พูดจาก็กระโชกโฮกฮาก และพูดโกหกบ่อย ๆ บางคนก็พูดไม่ดีกับพ่อแม่รวมถึงคุณครู ชอบเอารัดเอาเปรียบ ชี้นิ้วใช้งานเพื่อนที่ด้อยกว่าและยอมให้ บางคนก็ใช้เงินซื้อโน่นซื้อนี่ รวมถึงจ้างคนโน้นคนนี้ให้ทำตามใจต่าง ๆ ทำให้เธอมองว่า “อ้อ เงินนี้เอง” หรือ “อ้อ พ่อแม่เขาใหญ่โตนี่เอง” ไม่ใช่การสร้างบุญสร้างกุศลหรือการทำดีอะไรไม่

ตรงกันข้ามกับเธอที่ต้องตรากตรำทำงานอย่างหนัก ทุกวันหลังเลิกเรียนก็ต้องรีบกลับไปเย็บผ้า เพื่อแลกกับค่าที่พักและเงินที่จะได้มาเป็นค่าอาหารวันที่โรงเรียนละ 10 บาทนั้น ถ้าจะมีรายได้พิเศษก็เป็นวันเสาร์อาทิตย์ที่ปลอดกิจกรรมของทางโรงเรียน ซึ่งถ้าเย็บผ้าตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ก็พอจะได้ 50 - 60 บาท เพื่อรวบรวมส่งไปให้พ่อแม่เดือนละ 2 - 3 ร้อยบาทนั้น ทุกวันเธอจะรวบรวมเศษอาหารทั้งที่ในโรงงานและที่โรงเรียนเพื่อเอาไปให้หมาแมวที่เร่ร่อนอยู่ตามถนนและซอยใกล้โรงเรียนและที่พัก รวมถึงในทุกคืนก่อนนอนเธอก็จะกราบหมอนสวดมนต์สั้น ๆ ทุกคืน อย่างที่เธอถูกสอนมาจากบ้านตั้งแต่ที่เริ่มจำความได้ ซึ่งพ่อแม่บอกว่านี่แหละคือการ “ทำบุญ” สวดมนต์ไหว้พระ ทำทาน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยใคร และไม่พูดโกหก ก็คือการทำบุญ บุญนี้จะสะสมเป็นกุศล ให้เรามีความสุขความเจริญ เช่น มีเงินมีทอง และมีกินมีใช้ ฯลฯ ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ได้เกิดเป็นเทวดา เกิดชาติหน้าก็จะมีชีวิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

เธอเริ่มสงสัยในสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอน เธอรู้ด้วยตัวเธอเองว่าถ้าอยากได้เงินมาก ๆ ต้องทำงานให้มาก ๆ ต้องอดนอนมากขึ้น หางานพิเศษมาทำให้มากขึ้น เธอต้องขยันเรียนเพื่อให้ได้ทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงที่ถ้าอยากไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ก็ต้องเรียนให้เก่งกว่าคนอื่นมาก ๆ เพราะโควตาสำหรับคนที่จะได้รับทุนการศึกษานั้นมีจำกัด ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อที่จะให้ทุก ๆ คนให้ความรักความเมตตาแก่เธอ เธอก็จะต้องช่วยเหลือการงานต่าง ๆ ให้กับทุกคน ซึ่งถ้าเจอคนดี ๆ ก็จะรู้สึกดีที่ได้ทำอะไรตอบแทน แต่ถ้าเจอคนไม่ดี ก็รู้สึกเสียใจและเสียดายในความตั้งใจดีที่พยายามทำสิ่งดี ๆ ให้ไปนั้น

“การทำดีไม่ใช่จะได้รับสิ่งที่ดีตอบแทนเสมอไป จงทำสิ่งที่เหมาะสม และอย่าไปคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนดังที่ตั้งใจ” ไพลินเริ่มมองเห็นความจริงบางอย่างในชีวิต

ไพลินได้โควตาเข้าเรียนในวิทยาลัยฝึกหัดครูที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะได้รับทุนการศึกษาที่สามารถเลี้ยงตัวได้อย่างพออยู่พอกิน แต่ด้วยความต้องการที่จะหารายได้ส่งให้กับทางบ้าน เธอก็ได้หางาน “พาร์ทไทม์” ทำที่ร้านขายโดนัทยี่ห้อหนึ่ง ในย่านนักท่องเที่ยวแถวประตูช้างเผือก ใกล้ ๆ วิทยาลัย ลำพังค่าจ้างรายชั่วโมงก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่ที่ได้เป็นกอบเป็นกำก็คือเงินทิป ที่บางวันอาจจะได้เกือบร้อยบาท ยิ่งหน้าเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งที่เชียงใหม่จะมีงานบุญและประเพณีต่าง ๆ อยู่ตลอดปี ก็ทำให้เธอเผลอ “ใจแตก” แบบที่สาว ๆ วัยรุ่นทั้งหลายชอบเป็นกันอยู่บ้าง เธอเริ่มซื้อเสื้อผ้าที่สวย ๆ งาม ๆ แต่ก็ยังไม่กล้าซื้อที่มียี่ห้อแพง ๆ ทั้งยังต้องส่งเงินให้ทางบ้านอยู่ทุกเดือน ก็ทำให้เธอไม่ได้หลงระเริงในสิ่งเหล่านั้นอยู่นานเท่าใด และที่สุดก็ไปใช้ชีวิตแบบ “ซอมซ่อ” ตามเดิม โดยไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนทรมานอะไร เพราะเธอมี “สิ่งหนึ่ง” ที่ยึดหัวใจเธอให้มั่นคงอยู่เสมอ

ทุกครั้งที่เธอจะหยิบเงินไปซื้อของที่อยากได้หรืออยากกินอะไรที่มีราคาแพง ๆ เธอจะหลับตานึกถึงภาพของเธอตอนเด็ก ๆ ที่นั่งเรียนอยู่ในโรงเรียนที่วัดของหมู่บ้าน ในโรงเรียนประจำอำเภอ และในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด นึกถึงเงินที่ให้เธอมาเรียนว่าเป็นเงินของคนอื่น “ผู้ใจบุญ” ที่ให้ทุนให้เธอและเพื่อน ๆ ที่ยากไร้อีกหลาย ๆ คนได้มาเรียน อันเป็นสิ่งที่เธอได้รับมาโดยตลอด รวมถึงที่กำลังได้รับขณะที่มาเรียนในวิทยาลัยครูนี้ด้วย คนที่ให้ทุนเหล่านี้บางคนก็รู้ชื่อจนถึงรู้จักตัว เพราะเคยเห็นมามอบเงินให้กับโรงเรียนอยู่ในบางครั้ง แต่อีกจำนวนมากที่มาให้ทุนเธอก็ไม่เคยเห็นหรือได้พบตัว เธออยากขอบพระคุณท่านเหล่านั้น บางคนที่เธอมีที่อยู่เธอก็ส่ง ส.ค.ส.ไปขอบพระคุณอยู่ทุกปี

“ผู้มีพระคุณ” คือสิ่งที่ทำให้เธอไม่หลงใหลใช้ชีวิตไปอย่างไร้ค่า และถ้าเป็นไปได้อยากจะทำสิ่งดี ๆ ตอบแทนท่านบ้าง ซึ่งไพลินก็ได้ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตให้กับสิ่งที่เธออยากจะทำนี้มาโดยตลอด