เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ผ่าทางตันการเรียนการสอนรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยวิทยากรประกอบด้วยคณาจารย์จากหลากหลายสถาบัน และหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีฝ่ายความปลอดภัย และอาจารย์ประจำคณะอาชญวิทยาและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์ ดร.โอม ฉัตรนนท์ ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพลิน กิตติเสรีชัย อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำหน้าที่ดำเนินรายการ 

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในวงเสวนา เริ่มจากการถกประเด็นการเรียนการสอนทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ว่าได้ดำเนินมาถึง ‘ทางตัน’ แล้วจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งวิทยากรทั้ง 4 ท่านได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ศาสตร์ทางด้านนี้ยังมีอนาคตอยู่ แม้จะประสบกับความท้าทายหลายประการ ทั้งด้านจำนวนประชากรของประเทศที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความไม่เท่าเทียมในสังคมที่รุนแรงขึ้น การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อรูปแบบการเรียนรู้ และความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจารย์ธนพันธ์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การปรับความคิดให้ก้าวไปตามบริบทที่เปลี่ยนไป จะทำให้เราไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นปัญหาแต่เป็นโอกาส และทั้งนี้ ทั้งนั้น โครงสร้างที่วางกฎเกณฑ์ กติกาให้กับการศึกษาอยู่ จำเป็นที่จะต้องปรับตามให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่กลายมาเป็นอุปสรรคในการเรียนการสอนทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนด้านสังคมศาสตร์ในภาพรวม  

แล้วแนวทางการพัฒนาหลักสูตร วิธีการสอน สิ่งสนับสนุน เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต วิทยากรมีข้อเสนอแนะอย่างไร วิทยากรหลายท่านมีความเห็นสอดคล้องกันว่า หลักสูตร และการเรียนการสอน ต้องเน้นไปที่การปฏิบัติ และการชี้ให้เห็นถึงการนำทฤษฎี และองค์ความรู้ในห้องเรียนไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจารย์ชาญณวุฒ ได้เสนอให้ลดเวลาในการเรียนในห้องเรียนลง อาจจะเหลือประมาณ 2 ปี จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนไปฝึกงาน เพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยมีการทำการเรียนการสอนบางวิชาที่จำเป็นควบคู่ไปด้วย ในขณะที่อาจารย์กฤษณพงค์ ได้นำเสนอโมเดลของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้จากห้องเรียนและฝึกปฏิบัติควบคู่ไปด้วย โดยเริ่มจากการฝึกงานในมหาวิทยาลัยในสำนักงานตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการในมหาวิทยาลัย สามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการฝึกงานนี้จะทำให้นักศึกษาที่สนใจด้านอาชญาวิทยาและความปลอดภัยได้เรียนรู้ถึงกระบวนการ การวางระบบในการรักษาความปลอดภัยโดยการปฏิบัติงานจริง เพื่อพัฒนาทักษะอันเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในด้านนี้

ด้านอาจารย์โอม ได้ชี้ให้เห็นว่าแต่ละมหาวิทยาลัยแม้จะทำการเรียนการสอนในศาสตร์เดียวกัน แต่ด้วยบริบทที่แตกต่างกัน ก็อาจจะต้องมีการออกแบบหลักสูตร และการเรียนการสอนที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในกรณีของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่อยู่ในภาคอีสาน การเรียนการสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจจะดูเผิน ๆ แล้วเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วมีหลายประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทีเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะในปัจจุบันการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศมีช่องทางมากมาย ฉะนั้นจึงควรพัฒนาการเรียนการสอนโดยดึงเอาประเด็นที่ใกล้ตัวของผู้เรียน เช่น การค้าชายแดนที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสาน หรือการมาตั้งรกรากของชาวต่างชาติจำนวนมากในภาคอีสานที่ทำให้ชุมชนพัฒนาไปสู่ความเป็น ‘cosmopolitan villagers’ เข้ามาอยู่ในหลักสูตรเพื่อสร้างให้หลักสูตรมีจุดเด่น และมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน  

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีการอภิปรายกันถึงการปรับหลักสูตร การเรียนการสอน ให้เท่าทันกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ อาจารย์กฤษณพงค์ ได้ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (intellectual intelligence) นั้นเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่การจะนำ AI ไปใช้อย่างไร หรือต้องออกแบบให้ AI เข้าไปทำหน้าที่อะไร ปฏิบัติงานแบบไหน เช่น ในเรื่องการป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัย จำเป็นต้องอาศัย ‘know-how’ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหลักสูตร และผู้สอนที่จะสร้าง know-how ตรงนี้ให้เกิดขึ้น ในประเด็นนี้อาจารย์ธนพันธ์ ได้เสริมว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งการจะทำให้คนสามารถได้ประโยชน์จากยุคสมัยนี้ ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นจำเป็นต้องมีคุณภาพ อาจารย์จึงเสนอว่าสิ่งหนึ่งที่สถาบันการศึกษาควรพัฒนาก็คือการสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และสร้างความรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ให้กับสังคม 

สำหรับผู้สนใจต้องการรับชมการเสวนาย้อนหลัง สามารถรับชมได้ทางเพจ Facebook ของภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือรับชมจาก https://www.youtube.com/watch?v=WTKz3JaJrKQ ตั้งแต่นาทีที่ 2.29.58 เป็นต้นไป