จากกรณีที่ตำรวจ บก.ปปป. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เข้าตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีการออกเอกสารสิทธิ์แล้ว 4 แปลง จากทั้งหมด 21 แปลง ที่มีการตีรูปแปลงในพื้นที่เขาหิน อีกทั้งยังพบพิรุธผู้ครอบครองสิทธิ์ 1 ใน 4 แปลง ก็ได้รับสิทธิ์ ส.ป.ก.ในแปลงพิพาทกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บ้านเหวปลากั้ง ซึ่งต้องสอบปากคำตรวจสอบพฤติกรรมอย่างละเอียดว่ามีการทำเป็นขบวนการสนับสนุนการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ขณะที่ผู้ครอบครองบางแปลงได้สร้างบ้านพักหรูนั้น เจ้าหน้าที่พบว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. ที่อาจผิดระเบียบ จงใจออกในพื้นที่ป่าเขาทำเลสวยเหมาะทำบ้านพักและรีสอร์ท แต่ทำการเกษตรไม่ได้ เป็นเหตุให้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา รวม 9 รายพร้อมประสาน ปปง. สอบเส้นทางการเงินเพื่อจะขยายผลไปยังกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลัง ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น 

วันที่ 11 มี.ค.2567 เวลา 09.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ สำนักงาน ปปง. ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) พร้อมด้วยนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เดินทางเข้าพบนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กรณีตรวจสอบพบว่ามีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มกระทำความผิดในเขตปฎิรูปที่ดิน เช่น การลักลอบขุดดินเพื่อนำออกจำหน่าย และการใช้ประโยชน์ในที่ดินผิดวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อหารือแนวทางตรวจสอบทรัพย์สินและยึดทรัพย์กับผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทุจริตทั้งหมด

ต่อมาเวลา 09.40 น. นายธนดล ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วยนายวิณะโรจน์ เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ขึ้นลิฟต์ไปยังชั้น 6 บนอาคาร และเข้าร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารสำนักงาน ปปง. นำโดยนายเทพสุ เลขาธิการ ปปง. ณ ห้อง C PUTER LAB  ก่อนที่นายธนดล เริ่มต้นกล่าวก่อนประชุม ว่า ร.อ.ธรรมนัส รมว.เกษตรฯ มีความตั้งใจอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรได้ทำกิน และตอนนี้เราต้องยอมรับว่า ส.ป.ก. ก่อตั้งมา 49 ปี โดยปกติก็มีระบบการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่เราอยากจะตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเราอาจจะมีการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก อาจจะใช้อำนาจของ ส.ป.ก. ในการทำหนังสือถึงผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปว่าเราจะขอเพิกถอนพวกเขา แต่ถ้าไม่ยินยอมเราก็จะใช้ยาแรง ซึ่งยาแรงที่สุดก็ต้องใช้อำนาจของ ปปง. อย่างไรก็ตาม ตนทราบว่าก่อนที่ ปปง. จะเข้าไปตรวจสอบได้ก็ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดใน 28 มูลฐานก่อน ซึ่งหลักๆที่เราเห็นก็จะเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ถือเป็น 1 ใน 28 มูลฐานที่ ปปง. จะเข้ามาดำเนินการได้ และยังมีในส่วนของกลุ่มบุคคลที่เข้าไปขุดดินในพื้นที่ ส.ป.ก. วันนี้ตนและเลขา ส.ป.ก. จึงเข้ามาเพื่อขอหารือถึงการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากนั้นเวลา 10.15 น. หลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือ นายธนดล ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ ร.อ.ธรรมนัส นายวิณะโรจน์ เลขาธิการ ส.ป.ก. และนายวิทยา นีติธรรม โฆษกสำนักงาน ปปง. ได้ร่วมกันแถลงรายละเอียด 

โดยนายธนดล ได้กล่าวว่า จากการที่ตนเองได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่ดินซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องโฉนด ส.ป.ก. ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็พบความผิดปกติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชัดเจนแล้ว 2 ราย และเจ้าหน้าที่เตรียมขอศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตามความผิดในมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือ ไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และข้อกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์นี้

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ทางตำรวจ ปปป. ได้เข้าสอบปากคำพยาน และสอบปากคำผู้นำท้องถิ่นบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐที่ตำรวจ ปปป. จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมอีก 7 ราย เพื่อดูว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ ขณะที่ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน พบ 4-5 รายจากทั้ง 3 จุดที่ตนได้ลงพื้นที่ และทราบว่า ใน 4-5 รายนี้ พบบุคคลที่มีหน้าที่เสมือนเป็นนายทุนแล้ว 1 ราย มีชื่อเป็นผู้ถือครองที่ดิน 1 จุด โดยมีพฤติกรรมเหมือนเกษตรกร แต่แท้จริงไม่ใช่ แต่เป็นนายทุนที่มีกำลังทรัพย์สูงมาก ทั้งนี้ ทราบว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐาน และเบื้องต้นยังตรวจสอบไม่พบว่ามีนักการเมืองเข้ามาร่วมกระทำความผิด พร้อมยืนยันว่าทางกระทรวงเกษตรฯ มีความตั้งใจที่จะหาตัวนายทุน หรือไอ้โม่งตัวจริง รวมถึงผู้กระทำความผิดทุกรายมาดำเนินคดีให้ได้ แต่ขอเวลาเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอีกสักระยะ จะมีความชัดเจนแน่นอน

ด้านนายวิณะโรจน์ เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ภายหลังการหารือกับทางสำนักงาน ปปง. พบว่าคดีนี้เข้าข่ายความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อหน้าที่ และ ความผิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า ซึ่ง ปปง. ก็จะมีการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบคดีนี้ร่วมกับ 9 หน่วยงาน อาทิ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลที่ดินของรัฐ ร่วมเป็นคณะกรรมการ และจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทำงานด้วยกันโดยเร็วที่สุด ก่อนพิจารณาออกแนวทางมาบังคับใช้ต่อไป ยืนยันว่าจากนี้ไปเราจะบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งและเข้มข้นมากขึ้น ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ที่ดิน ส.ป.ก. มีความชอบธรรมและถูกต้องที่สุด ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ให้และผู้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ทาง รมว.เกษตรฯ มีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องมีความผิดทั้งคู่ แต่เราก็จะให้ความเป็นธรรมโดยดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนว่าผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปนั้น นำไปประกอบเกษตรกรรมจริงหรือไม่ 

นายวิณะโรจน์ กล่าวอีกว่า วาระการขับเคลื่อนงานของทาง ส.ป.ก. เราก็จะต้องดูแลที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเป็นพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายอย่างถูกต้อง และกำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความชอบธรรมโปร่งใส เบื้องต้น ส.ป.ก. จะจัดทำรายชื่อผู้ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. และติดประกาศทุกอำเภอ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันตรวจสอบว่ามีบุคคลใดอาจใช้ประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่ รวมถึงจะจัดตั้งอนุกรรมการระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ 

ส่วนนายวิทยา โฆษกสำนักงาน ปปง. แจงว่า การตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้นั้น ทาง ปปง. จะตรวจสอบว่าพื้นที่ใดเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการค้าและเข้าข่ายความผิดบ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนความผิดมูลฐานตามกฎหมายการฟอกเงินนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ก็มีความผิดชัดเจนทั้งทางอาญาและทรัพย์สิน แต่ในส่วนของการยึด ถือ ครอบครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายจะคุ้มครองพี่น้องเกษตรกรที่เข้าไปทำประโยชน์เกษตรกรรมจริงๆ ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ต้องไปดูกันให้ชัดเจนเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย