นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการชำระหนี้เพื่อรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรือหนี้ส่วน E&M ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวนไม่เกิน 23,488,692,200 บาทว่า จากการประชุมหารือกับคณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ.2567 ได้ข้อสรุปว่า กทม.จะชำระหนี้ก้อนเดียวทั้งหมด จากนี้ กทม.จะทำบันทึกข้อตกลงกับ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ในการชำระเงินดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างต่อรองเรื่องดอกเบี้ยอีกครั้ง ก่อนสรุปและกำหนดวันชำระที่แน่นอน ซึ่งเงินที่จ่ายจริงจะน้อยกว่างบประมาณที่ได้รับมาประมาณ 170-200 ล้านบาท คาดว่าจะชำระได้ภายในเดือน มี.ค.นี้

 

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณในการชำระหนี้ดังกล่าวว่า ภายหลังสภากทม.เห็นชอบให้กทม.ใช้เงินสะสมจ่ายขาดในการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ต้องดำเนินการตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การนำส่งเงินและการตรวจเงิน พ.ศ.2555 โดยรวบรวมข้อมูล รายละเอียดเงื่อนไขการใช้เงิน และหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อจัดทำฎีกาเบิกจ่ายยื่นให้สำนักการคลังตรวจสอบวัตถุประสงค์การใช้เงิน และรวบรวมเงินสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินสดตามจำนวนที่ สจส.เสนอ ซึ่งสามารถเสนอจ่ายเป็นก้อนเดียวหรือรายงวดแบ่งจ่ายก็ได้ จากนั้นสำนักการคลังจึงจะนำเรื่องเสนอต่อรองผู้ว่าฯกทม.ที่กำกับดูแลสำนัก สจส.เป็นผู้ลงนามอนุมัติจ่าย 

 

โดยเงื่อนไขการลงนามอนุมัติจ่ายเงินของ กทม. แบ่งตามวงเงินและตำแหน่ง ดังนี้ 1.วงเงินสูงกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป อำนาจผู้ว่าฯกทม. หรือผู้ว่าฯกทม.มอบอำนาจให้รองผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้ลงนามอนุมัติ 2.วงเงินเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท อำนาจปลัดกทม.หรือรองปลัดกทม. 3.วงเงิน 50-100 ล้านบาท อำนาจผู้อำนวยการสำนัก 4.วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท อำนาจรองผู้อำนวยการสำนัก 5.วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท อำนาจผู้อำนวยการสำนักงานเขต ทั้งนี้ หลังจากชำระหนี้ส่วน E&M จำนวนดังกล่าวแล้ว กทม.ยังเหลือเงินเก็บปลอดหนี้ประมาณ 28,000 ล้านบาท

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนมูลหนี้ O&M หรือค่าระบบงานเดินรถและซ่อมบำรุง ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด แบ่งเป็นหนี้ส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า ประมาณ 5,500 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ประมาณ 21,000 ล้านบาท รวม กทม.มีหนี้ส่วนนี้ประมาณ 26,500 ล้านบาท