เมื่อวันที่ 12 มี.ค.67 ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม(บพค.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า บพค.มีภารกิจในการเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยและส่งเสริมการรับรู้และการเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งพัฒนากำลังคนตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนการขับเคลื่อนเทคโนโลยีแห่งอนาคตและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยขณะนี้ บพค.ได้ส่งเสริมการสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น ปัญญาประดิษฐ์(AI)  เทคโนโลยีอวกาศ ควอนตัม การสร้างพลังงานสะอาด การแพทย์สมัยใหม่  โดย บพค. มีอะคาเดมี่(Academy) ที่ทำหน้าที่กำหนดทักษะของตนเองควบคู่กับความต้องการของภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม เช่น ขณะนี้เรามีฟู้ดอะคาเดมี่ (Food Academy) เพื่อไปเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอาหารไทย ให้กลิ่น รสสัมผัสของอาหารไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลเพื่อไปสู่ครัวโลก นอกจากนี้ ยังมีอะคาเดมี่ด้านการแพทย์ อะคาเดมี่ด้าน AI เป็นต้น

ศ.ดร.สมปอง กล่าวต่อว่า ที่สำคัญอะคาเดมี่ด้าน AI  บพค. ได้พัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตของประเทศไว้ประมาณ 2 แสนคน เพราะปัจจุบัน AI ได้นำถูกนำเข้าไปใช้อย่างแพร่หลายในแทบทุกภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเงิน การธนาคาร และธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ของประชาชนจะย้ายไปอยู่บนโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะแล้วและใน 2 แสนคน มี 100 – 1,000 คนที่จะพัฒนาเป็นระดับมันสมอง หรือ Super AI Engineer ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า และคนพวกนี้จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร พลังงาน เป็นต้น

“ในปี 2567 บพค.จะมุ่งเป้าโดยการพัฒนากำลังคนด้าน AI เป็นหลักเราจะนำ AI ไปเชื่อมโยงกับเรื่องพลังงาน EV เทคโนโลยีอวกาศ เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจใช้ AI กันเกือบหมดแล้ว ขณะที่ภาครัฐเกือบครึ่งก็หันมาใช้ระบบ AI ในเรื่องของการจัดการองค์กร ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อม” ศ.ดร.สมปอง กล่าว

ผอ.บพค.กล่าวด้วยว่า อีกผลงานหนึ่งที่ บพค.ได้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) คือสื่อสารให้กับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ให้รู้ว่ากระทรวง อว.มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมให้บริการเป็นจำนวนมาก มีอุปกรณ์ มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมได้ ถือเป็นการเปิดการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการพร้อมมีการแลกเปลี่ยนและรับโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนเข้ามาเพื่อพัฒนาและปรับปรุงด้านการบริการให้ตรงกับความต้องการอย้างแท้จริง

ด้าน ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล หน่วยวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) หัวหน้าโครงการส่งเสริมการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมองประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของยังอยู่ในวงจำกัด หน่วยงานให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประสบปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ ความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการ อย่างไรก็ดี เหตุผลประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การขาดการทำตลาดเชิงรุก และการการสร้างการรับรู้กับหน่วยงานภายนอก โครงการฯ มีกรอบแนวคิดในการยกระดับการเข้าถึงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น โดยมีการศึกษาและพัฒนาระบบ Smart Search เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการกับทุกภาคส่วน ได้แบบครบถ้วน ณ จุดเดียว ครอบคลุมการให้บริการของ 12 หน่วยงาน ววน. และฐานข้อมูลระบบข้อมูลสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Information System: NSTIS) เพื่อเป็นช่องทางการให้บริการในการเข้าถึงให้แก่กลุ่มลูกค้า และสร้างกลไกการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน การกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์และเกิดประโยชน์รวมไปถึงการสร้างผลกระทบต่อความเข้มแข็งด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่อไป