เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะเริ่มมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน ในกลุ่มบัตรกดเงินสด ที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน ให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ลูกหนี้จะได้รับสิทธิ์ 1 ครั้งต่อ 1 บัญชี ต้องปิดวงเงินสินเชื่อเดิม และ ต้องรายงานประวัติข้อมูลเครดิต โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มเติม และพิจารณาขอความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้ โดยจะต้องเปิดให้มีการคุยกับเจ้าหนี้ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือ สามารถชำระเงินเพื่อโปะปิดหนี้ได้ทันที

2.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 2 หมื่นบาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 1 หมื่นบาท สำหรับลูกหนี้นอนแบงก์ โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี โดยลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้ปิดจบหนี้ภายใต้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“มีการพิจารณาพบว่ากลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ที่อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี วงเงินที่ชำระขั้นต่ำ 3% ต่อเดือน นำไปตัดดอกเบี้ยถึง 2.1% ขณะที่ตัดเงินต้น 0.9% ซึ่งเป็นการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น หากมีการกู้เงิน 15,000 บาท โดยจ่ายขั้นต่ำต่อไป จะใช้เวลาปิดหนี้ถึง 18 ปี มีภาระดอกเบี้ยรวม 29,000 บาท แต่ถ้าเข้าร่วมมาตรการ จะปิดจบหนี้ได้ภายใน 8.5 ปี ภาระดอกเบี้ยรวมเหลือ 17,500 บาท”นางสาวอรมนต์ กล่าว

ทั้งนี้ ลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 ปี ผ่านช่องทางที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมล์ เอสเอ็มเอส mobile application เพื่อกระตุ้นให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสมัครเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง หากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตัวเอง สามารถติดต่อสาขา หรือ Call Center ของผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบสถานะและสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้ ในกรณีที่ลูกหนี้มีหลายบัญชี อาจเลือกบางบัญชีเข้ามาตรการก่อนก็ได้

นางสาวอรมนต์ กล่าวว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้ จะเข้าตรวจสอบปูพรมผู้ให้บริการผ่านการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง (ongoing supervision) เช่น สุ่มตรวจการปรับโครงสร้างหนี้ ว่าผู้ให้บริการได้เข้าช่วยเหลือแก้หนี้จริง รวมถึงคุณภาพของการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ กับสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มทางธุรกิจการเงิน รวมถึงนอนแบงก์ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำชับให้เตรียมระบบให้ทัน และต้องกวาดลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาทั้งหมด ซึ่งเดิมที่เป็นการขอความร่วมมือ แต่จากพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ให้อำนาจ ธปท.เรียกเบี้ยปรับ หรือ สั่งชะลอธุรกิจได้ หากสถาบันการเงินไม่ปฏิบัติตาม

“ยังไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะมีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการจริง ๆ เท่าไหร่ ธปท.ยังไม่มีข้อมูล จนกว่าจะสิ้นสุดเดือน เม.ย. ที่สถาบันการเงินส่งข้อมูลลูกหนี้มาให้ทั้งหมด ยอมรับว่าประเด็นที่ลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการจะต้องปิดวงเงินสินเชื่อก่อน อาจจะทำให้มีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมการปิดจบหนี้เรื้อรังไม่มากนัก” นางสาวอรมนต์ กล่าว