เมื่อวันนี้ 14 มี.ค.67 นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และ ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการศึกษาวิจัยการแปรรูปขยะพลาสติกของกรุงเทพมหานครเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงโดยวิธีไพโรไลซิส พัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยชุมชน และร่วมกันส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระแห่งชาติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ในส่วนของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ณ ห้องประชุม 2 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง 

 

สำหรับโครงการศึกษาวิจัยการแปรรูปขยะพลาสติกของกรุงเทพมหานครเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงโดยวิธีไพโรไลซิส จุดประสงค์เพื่อร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของกรุงเทพมหานคร และร่วมกันส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระแห่งชาติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ในส่วนของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเพื่อนำขยะพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านพลังงานโดยการผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำขยะพลาสติกที่กรุงเทพมหานคร หรือทางโครงการฯ จัดหาจากชุมชนโดยรอบศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชปริมาณ 250 กิโลกรัม หรือวันละ 3 – 4 กิโลกรัม ในช่วงดำเนินโครงการ 6 เดือน เป็นพลาสติกที่ไม่ใช่ขวดน้ำ และไม่ใช่พลาสติกรีไซเคิล เนื่องจากมีราคาสูงและไม่คุ้มทุน เข้าสู่กระบวนการไพโรไลซิส ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเทคโนโลยี HTR® ไพโรไลซิส แบบเคลื่อนที่ (Mobile HTR® Pyrolysis) ภายในรถยนต์ Mobile ที่โครงการฯ นำมาจอดไว้ในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่ง น้ำมันที่ได้จะนำไปทดสอบคุณภาพน้ำมันที่ศูนย์วิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี เมื่อทดลองจนได้น้ำมันที่ผลิตจากพลาสติกที่มีคุณภาพ จะนำไปทดสอบกับเครื่องยนต์ทดสอบ (Dyno-Test) ที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์ สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น ต่อไป

ทั้งนี้ กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) เป็นการเปลี่ยนโมเลกุลของพลาสติกให้เล็กลงด้วยความร้อน 300- 500 องศาเซลเซียส ในสภาวะไร้ออกซิเจน โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษออกมาภายนอก ซึ่งผลผลิตที่ได้สามารถแบ่งออกเป็นแก๊ส น้ำมัน และของแข็ง โดยแก๊สและน้ำมันสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้