ในกองทัพ เริ่มมีเสียงสะท้อน ดังขึ้นเรื่อยๆว่า  กองทัพ ยอมรัฐบาล ยอมนายกฯ ยอม รมว.กลาโหม มากเกินไปหรือเปล่า

ในรัฐบาลพลเรือน นายกฯพลเรือน รมว.กลาโหมพลเรือน  ที่เกิดจาก “ดีล” ข้ามขั้ว  ของ ระบอบชินวัตร กับ แผงอำนาจ 3 ป. ขั้วอนุรักษ์นิยม กองทัพต้องทำหน้าที่ เป็นกลไก ที่คอยสนับสนุนรัฐบาล  ทำตามคำสั่ง นายกฯ และ รมว.กลาโหม

หลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่คุมความมั่นคงเอง เอ่ยปาก ขอพื้นที่ในกองบิน 41 เชียงใหม่ ของกองทัพอากาศ เพื่อทำถนนวงแหวน แก้ปัญหาการจราจร ในเมืองเชียงใหม่  และขอใช้พื้นที่สนามบินใน หลายกองบิน รวมทั้ง กองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อเป็นที่จอดของเครื่องบินสายการบินพาณิชย์ เพื่อลดปัญหาความแออัด ในสนามบิน แม้จะเป็นพื้นที่ด้านความมั่นคง และต้องดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์  เครื่องบิน

รวมถึงการขอคืน สนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือสนามงูที่เป็นสนามกอล์ฟขนาดเล็กแห่งเดียวที่อยู่กลางสนามบินดอนเมือง  เพื่อนำไปใช้เป็นพื้นที่ของสนามบินตามแผนการขยาย Aviation Hub และ สนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์  ที่จะทำเป็น สปอร์ตคอมเพล็กซ์

รวมทั้งนโยบายการให้ทหารคืนที่ดินที่ไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปให้ประชาชนเช่าใช้ประโยชน์  ที่แต่ละเหล่าทัพ ก็พยายามไปหาพื้นที่มาคืนได้รวมมากกว่า 10,000 ไร่ โดยเปิดโครงการแรก“หนองวัวซอ โมเดล” ที่อุดรธานี ไปแล้ว ในส่วนของกองทัพบก  ส่วนกองบัญชาการกองทัพไทย ก็ได้คืนพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนกองทัพเรือ คืนพื้นที่ในสมุทรปราการ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และกองทัพอากาศ คืนพื้นที่ที่นครพนม

โดยที่ในหลายพื้นที่ที่กองทัพไม่ค่อยเต็มใจนักแต่เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลและมีกระแสประชาชนกดดัน รวมทั้งฝ่ายค้านจึงทำให้กองทัพต้องยินยอมยกพื้นที่ให้

แต่ที่เริ่มมีเสียงบนจากในกองทัพดังขึ้นคือ ความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมือง ทั้งพรรคก้าวไกลฝ่ายค้านและพรรคเพื่อไทยฝ่ายรัฐบาลเองที่ต้องการ ยึดธุรกิจกองทัพ หรือที่เรียกว่า “เสนาพาณิชย์ ” ทั้งสนามกอล์ฟ สนามมวย โรงแรม รีสอร์ทที่พัก ร้านค้าสวัสดิการ

แต่ที่เริ่มมีปฏิกิริยามากขึ้นคือ กิจการการไฟฟ้าสัตหีบของกองทัพเรือที่ถือว่าเป็นรายได้สำคัญเป็นเงินนอกงบประมาณที่ใช้ดูแลหน่วยในสัตหีบมายาวนานแต่ที่สุดก็ต้องมอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้แจกจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในพื้นที่แทนกองทัพเรือ แต่กองทัพเรือก็ของบประมาณชดเชยที่ได้ลงทุนในเรื่องเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าไป

โดยที่กองทัพเรือ ยังคงขอที่จะจ่ายไฟเองในส่วนที่เป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ เพราะเป็นพื้นที่ความมั่นคงและมีอาวุธยุทปกรณ์รวมทั้งเรือรบ รวมถึงภาคเอกชนบางส่วนว่า จะสมัครใจรับการแจกจ่ายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือจะอยู่กับกองทัพเรือเช่นเดิม เช่น สวนนงนุช

อาจเรียกได้ว่าการไฟฟ้าสัตหีบก็เป็นหม้อข้าวหม้อแกงหม้อใหญ่ของกองทัพเรือมายาวนานแต่ก็ถูกรุก ยึดไปมากกว่าครึ่งในรัฐบาลนี้

ขณะที่ในส่วนของกองทัพบกก็ถูกเล็งไปที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5 และสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพบกที่มีอยู่กว่า 200 สถานี และถือเป็นหม้อข้าวหม้อใหญ่ที่สุดของกองทัพบกมาเป็นเวลายาวนาน

แต่มาในรัฐบาลยุคนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลฝ่ายค้านแหล่งเป้าหมายเดียวมาที่ ธุรกิจ กองทัพ  เพื่อหวังในเรื่องคะแนนเสียงว่าสามารถที่จะเข้ามาปฏิรูปกองทัพในบางเรื่องได้

จนเริ่มมีการทวงถามถึง ดีลข้ามขั้ว ที่มี สัญญาสุภาพบุรุษกันไว้ว่ารัฐบาลนี้ จะไม่แทรกแซงล้วงลูกกองทัพ หรือไม่เช็กบิล ไม่ล้างบางกองทัพและนายทหารกลุ่มอำนาจเก่า  แต่ทว่าก็มาในรูปของการรุกยึดทุบหม้อข้าวของกองทัพ

เสียงความไม่พอใจนี้ ถูกสะท้อนออกมาชัดเจน ว่ามีจริง จาก “บิ๊กเล็ก”  พล.อ.ณัฐพล  นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหมที่พูดในเวทีประชุมทางวิชาการของกองทัพบก ที่จัดโดย “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพบก รวมถึง ผู้บังคับหน่วยทุกระดับ จนถึงผู้บังคับกองร้อยมาร่วมรับฟัง

“น้องๆ รู้สึกว่าทหารโดนรุก ทำไมผู้บังคับบัญชา ถึงยอม  แต่ขอให้มั่นใจผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติตามนโยบาย เราดูเหตุผลและความเหมาะสม ไม่ใช่ว่า พอเขาสั่งมาก็ทำ ตามหมด ขอให้เชื่อใจ” พล.อ.ณัฐพล  กล่าวบนเวที ทบ.

แม้ว่า พล.อ.ณัฐพล จะพูดบนเวทีวิชาการ แต่ก็เปิดให้สื่อเข้า รับฟังด้วย จึงกลายเป็นข่าวในหน้าสื่อและตามมา ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.อ.ณัฐพล ไม่ได้รู้ตัวมาก่อนว่า จะมีสื่อมวลชนมานั่งฟัง แต่เมื่อทราบก็ถือว่าเลยตามเลย เนื่องจากตั้งใจจะมาพูดสื่อสารไปถึงทหาร ในกองทัพเนื่องจากเป็นเวที ที่นายทหารระดับผู้บังคับหน่วยมากันทั่วประเทศ จนถึงระดับผู้บังคับกองร้อย  ถึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้สื่อสารข้อมูลต่างๆไปถึง ทั้งกองทัพ  เรียกว่า พล.อ.ณัฐพล ยอมเจ็บ ยอมโดนด่า ในทุกเรื่อง แม้แต่  หากว่า สุทิน จะไม่เข้าใจ ก็ตาม แต่ต้องพูดให้ชัดเจน ในฐานะคนทำงานตัวจริง

โดยเฉพาะเรื่องค่าประกอบเลี้ยงอาหาร พลทหาร 3 มื้อที่ สุทิน คลังแสง  รมว. กลาโหม เคยให้สัมภาษณ์และพูดไปในหลายเวทีว่าเพื่อจูงใจให้คนสมัครใจเป็นทหารมากขึ้น  ว่า จะไม่มีการหักค่าประกอบเลี้ยง พลทหารอีกต่อไป

แต่ทว่าในตอนนี้ แล้ว เรื่องนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2567 นี้เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมากถึงปีละ 3,700 ล้านบาท เพราะจำนวนยอดเกณฑ์ทหาร ปี 2567 นี้ยังสูงอยู่ที่ 83,000 คน โดยลดลง 30% จากเดิม ที่เคยต้องรับปีละ 120,000 คนและได้ลดจำนวนลงมาเรื่อยๆ ในหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในการตรวจเลือกทหารผลัด 1 ในเดือนเมษายน 2567 นี้จึงเกรงว่า คนที่สมัครใจ มาเป็นทหารจะเข้าใจผิด ว่าจะไม่โดนหักค่าอาหาร หรือการประกอบเลี้ยงอีกแล้ว พล.อ.ณัฐพล จึงต้องการมาสื่อสารให้ผู้บังคับหน่วยรับทราบว่ายังไม่สามารถปฏิบัติได้จริงเพราะเกรงว่าเมื่อพลทหารเข้ามาแล้วจะเข้าใจผิดว่าจะได้เงินเดือนเต็มเดือนโดยไม่หักค่าอาหาร

รวมถึงนโยบายของ สุทิน ที่รับปากกับทหารผ่านศึกแล้วว่าจะเพิ่มเงินผดุงเกียรติ 3,000 บาทหลังจากที่ทหารผ่านศึก เคยตบเท้ามาร้องขอและทำหนังสือร้องเรียน แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมากกว่า 20,000 ล้านจึงทำให้ พล.อ.ณัฐพล ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้  อีกทั้งองค์การสงเคราะห์ ทหารผ่านศึก  มีงบฯแค่ปีละกว่า 2,000 ล้าน เท่านั้นจึงไม่สามารถจะไปจัดหางบประมาณใด มาเพิ่ม เงินผดุงเกียรติให้ทหารผ่านศึกที่มีหลาย แสน คนได้

ทั้งนี้มีรายงานว่า พล.อ.ณัฐพล เคยแจ้งให้ สุทิน รับทราบแล้วว่า ไม่สามารถปฏิบัติได้ทั้งในเรื่องค่าประกอบเลี้ยง พลทหาร และเงินผดุงเกียรติทหารผ่านศึก แต่ สุทิน ขอให้ไปหาทางดำเนินการให้ได้ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณจึงทำให้เรื่องนี้ยังค้างอยู่ พล.อ.ณัฐพล จึงใช้โอกาสที่มาบรรยายพิเศษในเวที ของกองทัพบกเพื่อสื่อสารไปยังกำลังพลในกองทัพและผู้บังคับหน่วยให้รู้ว่า ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม ทำให้ถูกมองว่ามีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นในกระทรวงกลาโหม  แต่ก็เป็นการขัดแย้งเฉพาะเรื่องแนวคิดและนโยบายเท่านั้น แต่ไม่มีความขัดแย้งส่วนตัว ท่ามกลางกระแสข่าว การปรับคณะรัฐมนตรีใน 1-2 เดือน ข้างหน้า ที่เก้าอี้รมว.กลาโหมของ สุทิน เองก็ไม่มั่นคง

เพราะมีทั้งกระแสข่าวว่า เศรษฐา นายกรัฐมนตรีจะมาควบ รมว.กลาโหมเอง ทั้งกระแสข่าวที่ พล.อ.ณัฐพล จะมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเอง เพราะมีชื่อมาตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล ในฐานะที่เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม

แม้ว่า สุทิน เองจะมั่นใจในสัญญาณบวก ที่ได้รับมาจาก ผู้มีอำนาจ  และ ให้ทำงานต่อไปอย่างเต็มที่ ก็ตาม แต่กระแสข่าวลือก็ยังสะพัด ต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐา เองก็ไม่ได้ take อย่างเดียวเพราะก็มีการ Give ให้กองทัพเช่นรับปากจะหางบประมาณมาสร้างหรือซ่อมบ้านพักทหารให้ทุกเหล่าทัพเพื่อเป็นการตอบแทนชดเชยที่เหล่าทัพให้ความร่วมมือตามที่ร้องขอไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ทหารและธุรกิจกองทัพ โดยที่ เศรษฐา ก็ลงพื้นที่ไปตรวจดูบ้านพักของทหารในแต่ละเหล่าทัพด้วยตนเอง

รวมถึงแผนในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ของแต่ละเหล่าทัพที่ เศรษฐา ก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้าน โดยเฉพาะโครงการเครื่องบินรบฝูงใหม่ของกองทัพอากาศ 

แต่ทว่าคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ 2567 ที่ส่วนใหญ่เป็นพรรคเพื่อไทย และพรรครวมรัฐบาลเบรคโครงการต่อเรือฟริเกต ลำใหม่ 1.7 หมื่นล้าน ของกองทัพเรือ โดยที่กองทัพเรือเองก็ไม่คาดคิดว่าจะถูกคว่ำเพราะไม่มีสัญญาณมาก่อน ด้วยเพราะท่าทีของ เศรษฐา รวมถึง สุทิน เองก็เป็นบวกกับกองทัพมาตลอด

เหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณ ที่สะท้อนให้ เศรษฐา และ สุทิน ได้ฉุกคิดว่าฝ่ายทหารก็มีปฏิกิริยาเช่นกัน หลังจากทำงานร่วมกันมา 6 เดือนแล้ว ที่อาจจะต้องมีการปรับจูนกันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้อยู่กันยืดตาม “ดีล” ที่จะต้องผนึกกำลังกันเพื่อสู้กับ ภัยคุกคามทางการเมืองและสถาบันฯ นั่นเอง