แม้จะมีคำพูดจาก “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตลอดจน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ทั้งปลุกและปลอบใจ “สมาชิกพรรค” ไม่ให้ตกอยู่ในความหวั่นไหว ตระหนกตกใจ ก่อนที่ “ผลลัพธ์” จะปรากฎออกมาว่า “ก้าวไกล” ถูกยุบพรรคขึ้นมาจริง ก็ตาม

แต่ห้วงเวลาที่เต็มไปด้วย “ข่าวลือ” ส่อในทาง “ร้าย” แม้จิตใจจะเข้มแข็ง หรือปากกล้า กันแค่ไหนก็อดที่จะ “ขาสั่น” กันไม่ได้ !

ผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งชี้ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการที่สมาชิกพรรคก้าวไกลร่วมกันเสนอร่างกฎหมายให้มีการแก้ไข ม.112 และนำไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสส. เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา โดย “ ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ทนายความอิสระ เป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นคำวินิจฉัยจาก “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คดีล้มล้างการปกครอง ในครั้งนั้นได้มีการวิเคราะห์ “ชะตากรรม” ของพรรคก้าวไกลด้วยกันในหลายทาง และดูเหมือนว่าด้วยประเด็นจากข้อกฎหมาย ล้วนชี้ไปในทิศทางที่น่าหวั่นใจต่อพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ลง “ดาบแรก” ด้วยมีคำวินิจฉัยชี้ว่าพิธา และพรรคก้าวไกล กระทำการอันเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ  มุ่งลดทอนสถานะ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ทั้งนี้ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ส่วนหนึ่งจากคำวินิจฉัย ศาลยังชี้ว่า การกระทำของพิธา และพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมา ต่างกรรม ต่างวาระ ยังเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความชัดแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง ฯเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ถูกจับตาทันทีว่านี่คือการ “นับหนึ่ง” ของการเดินไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล ตามมา ด้วย “ดาบสอง”  ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะ นายทะเบียนพรรคการเมือง มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 93 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

เมื่อดาบสอง เริ่มขยับ ทำให้พรรคก้าวไกลถูกจับตา ว่าหากในกรณีที่ “เลวร้ายที่สุด” มีความเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ อาจไม่ต้องไต่สวนใหม่ เนื่องจากเป็นคดีที่เคยวินิจฉัยมาแล้ว ตามที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกกต. ระบุเอาไว้ รวมทั้งหากมีการยุบพรรคจริง กรรมการบริหารพรรค มีโทษถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

การยุบพรรคก้าวไกล ย่อมนำมาซึ่ง “ผลกระทบ” ในทางการเมืองที่ยากจะหลีกเลี่ยง  แม้แกนนำและธนาธร จะมั่นใจว่า ไม่ว่าจะใช้ชื่อพรรคใหม่ว่าพรรคใด แต่หาก “อุดมการณ์” ยังคงอยู่ พรรคการเมืองในแนวก้าวไกล ก็จะยังมี “ชีวิต” และ “เติบโต” ได้ต่อไปก็ตาม  เพราะในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น “ภายในพรรค” วันนี้คือความระส่ำระสาย อันมาจากความกังวลของบรรดาสส. จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค อันจะถูกตัดสิทธิ์ ต้องหา “พรรคใหม่” สังกัดภายใน 60 วันนั้น พวกเขาจะบ่ายหน้าไปทางไหน

ทั้งนี้มีรายงานถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในทางลับมาโดยตลอดว่า สส.พรรคก้าวไกล โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับฐานเสียงในพื้นที่ ได้มองหา “บ้านใหม่” กันมาพักใหญ่ๆ แล้ว  ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ ก็หวังที่จะ “ช้อนซื้อ”  สส.จากพรรคก้าวไกล เข้าสังกัดด้วยเช่นกัน

ดังนั้นนี่จึงกลายเป็น “แรงกระเพื่อม” ที่เกิดขึ้นจริง ไม่เว้นแม้แต่ “พรรคพลังประชารัฐ” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่เพิ่งประกาศตัว ปรับโฉมพรรคขอเป็นฝั่ง “อนุรักษ์นิยมทันสมัย” เปิดรับคนรุ่นใหม่ ส่งสัญญาณ “เปิดบ้าน” รับสส.ก้าวไกล  ในฐานะ “ทางเลือก” ด้วยเช่นกัน อย่าลืมว่าในทางการเมืองแล้ว อะไรๆก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

อย่างไรก็ดี  ปัญหาของพรรคก้าวไกล ดูเหมือนว่ายังไม่จบลงแค่การยุบพรรคเท่านั้น เพราะสถานการณ์ที่นับเป็น “จุดตาย” แท้จริงแล้ว จะอยู่ที่ “44 สส.” ของพรรคที่เคยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 ต่อสภาฯที่ผ่านมา โดย “44สส.” กลุ่มนี้ จะถูกประหารชีวิตทางการเมือง ด้วยกรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1)

โดยหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติว่ามีความผิดจริง ก็จะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา ให้วินิจฉัย หากศาลชี้ว่ามีความผิดจริง ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งสส.และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน10ปีตามมา

ด้วยเหตุนี้ สภาวะทางการเมืองของพรรคก้าวไกล จึงอยู่ในความหวั่นไหวถึงชะตากรรมของพรรคจะไปอย่างไรต่อ แต่ขณะเดียวกันภารกิจในฐานะ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่จะต้องเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา  ซึ่งจะมีขึ้นก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯในราวต้นเดือนเมษายนนี้ พรรคก้าวไกลเองถูกติงว่า “ชกไม่เต็มหมัด”  และที่ต้องยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เพราะถูก “กดดัน” จากสังคมจนพรรคก้าวไกล ต้องจำต้องเล่นบทฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ดี เวลานี้ต้องยอมรับว่า ไม่เพียงแต่ พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ยังต้อง “ลุ้นชะตา” ทางการเมืองของตัวเอง  ในคดีล้มล้างการปกครอง แต่ยังกลายเป็นว่า “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ยังมี “คดีมาตรา112” เป็น “ชนักติดหลัง” ไม่แตกต่างกัน

อย่าลืมว่า “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ไปร้องต่อ “อัยการสูงสุด” เพื่อให้พิจารณากรณีพรรคเพื่อไทยเคยใช้กรณีเสนอแก้ไขมาตรา 112 ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล และในวันที่ 18 มีนาคมนี้ เรืองไกร จะเข้าให้ถ้อยคำต่ออัยการสูงสุดจากการที่ร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย

การ “รุกคืบ” ของเรืองไกร จากนี้จะอยู่ที่ว่า ไม่ว่า อสส.จะมีคำพิจารณาอย่างไร ก็ไม่ตัดสิทธิที่จะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกัน กับ “พรรคก้าวไกล” ก็จะเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องยื่นยุบพรรคเพื่อไทยในอันดับต่อไป ตามแนวที่พรรคก้าวไกล กำลังเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้

ทั้งก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ต่างมีข้อหา ข้อถูกร้องอันเนื่องมาจาก ประเด็นที่อ่อนไหว และเปราะบาง คือการทำที่เกี่ยวเนื่องกับการเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 112  สุ่มเสี่ยงและจวนเจียนไม่ต่างกัน

และลึกลงไปมากกว่าที่ตามองเห็น “สถานการณ์” ในเบื้องหน้า  เหนือไปกว่า โอกาสถูกยุบพรรค เป็น หรือตายเท่าๆกันแล้ว ณ วันนี้ ดูเหมือนว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ชะตากรรมของพรรค ยังถูกผูกโยงเอาไว้กับ “ดีลลับ” ที่แลกให้ “ทักษิณ ชินวัตร” เจ้าของพรรคเพื่อไทย ได้มีโอกาสกลับประเทศไทย ไปจนถึงเยือนบ้านเกิดที่จ.เชียงใหม่ นั้นจะถึงเวลา “ล่ม” แล้วหรือไม่

การต่อสู้ทางการเมือง นั้นซับซ้อน และยากจะหยั่งถึง สิ่งที่คิดว่าได้ชัยชนะ ไปแล้ว ก็ยังต้องลุ้นกันต่อไปอีกว่า สงครามนั้นจบลงแล้วอย่างเบ็ดเสร็จ!

ดังนั้นจากนี้จึงเท่ากับว่า เมื่อโดมิโนตัวแรกคือพรรคก้าวไกล ถูกยุบลงไปจริง แรงตกกระทบ จะกระแทกต่อมาที่ “เพื่อไทย” เป็นลำดับต่อไปด้วยหรือไม่ !