วันที่ 20 มีนาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดตัวโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า

 

โดยนายชัชชาติ กล่าวถึงสถานการณ์และความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่า ปีนี้ กทม.ใช้มาตรการต่าง ๆ ลดฝุ่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นช่วงที่มีฝุ่นมาก แต่ในปีนี้พบว่าสามารถจัดการฝุ่นได้มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วร้อยละ 30 ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่ กทม.ดำเนินการช่วยลดฝุ่นได้ เช่น การผลักดันการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถยนต์ การสนับสนุนเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นชนิดยูโร 5 การวางมาตรการลดการเผาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยฝุ่นที่ยังควบคุมไม่ได้ เช่น รถยนต์เก่าเครื่องยนต์ดีเซลที่ยังใช้งานอยู่บนท้องถนน และฝุ่น PM2.5 ที่พัดมาจากพื้นที่ภายนอก ซึ่งต้องวางแผนแก้ไขระยะยาว

 

“มาตรการลดฝุ่นต่าง ๆ ที่ดำเนินการ หัวใจสำคัญคือเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งมีโอกาสได้รับฝุ่นพิษในระยะยาวมากกว่าผู้ใหญ่ กทม.จึงดำเนินโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ซึ่งได้นำร่องระยะแรกไปแล้วในโรงเรียนหลายแห่ง” นายชัชชาติ กล่าว

 

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาและคณะกรรมการดำเนินโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น กล่าวว่า โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มสร้างห้องเรียนสู้ฝุ่นไปแล้ว 32 โรงเรียน ในระยะแรก ส่วนระยะที่ 2 จะขยายให้ครบ 437 โรงเรียน สังกัด กทม. ในปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์สร้างต้นแบบในการรับมือฝุ่น PM2.5 ภายใต้หลักวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ในห้องเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนคิดค้นนวัตกรรมหรือแนวทางป้องกันฝุ่นด้วยตนเอง เพื่อสร้างความเข้าใจผ่านการเรียนรู้เรื่องฝุ่นในห้องเรียน ก่อนเผยแพร่สู่ครอบครัวและชุมชน รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับภาคีเครือข่ายในการช่วยลดฝุ่น PM2.5 และการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน