ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ศักดินาให้ความยิ่งใหญ่ ให้ผลประโยชน์มากมาย แต่ก็สร้างปัญหาให้สังคมอย่างแน่นลึกกว้างขวาง ตั้งแต่สร้างความขัดแย้ง แตกแยก และทำลายล้าง

ครูไพลินได้รู้เกี่ยวกับการทำงานด้านนิติบัญญัติมาพอสมควร ก็ในตอนที่ทำหน้าที่เป็นอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของสภาร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดเชียงราย ใน พ.ศ. 2540 แล้วพอย้ายมาทำงานที่โรงเรียนชายแดนในจังหวัดบ้านเกิดของเธอ เธอก็มองปัญหาของชาวบ้านที่นี่ว่าอาจจะใช้กระบวนการด้านนิติบัญญัตินั้นเข้ามาแก้ไขได้อย่างหลากหลาย เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่ยังล้าหลังและยังไม่ครอบคลุม อย่างเช่น เรื่องสัญชาติของชาวเขาและชนเผ่า รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำที่จังหวัดชายแดนมีความแตกต่างจากจังหวัดที่เขาเจริญแล้วมากมายเหลือเกิน ดังนั้นเมื่อเธอได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายหลังรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 เธอก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดีและจะพยายามตั้งใจทำงาน

ตั้งแต่วินาทีแรกที่เหยียบย่างขึ้นมาบนบันไดรัฐสภา เมื่อเจ้าหน้าที่ที่มาต้อนรับพูดขึ้นว่า “เชิญท่านทางนี้ครับ” เธอก็รู้สึกตัวลอยขึ้นมาทันที จากนั้นคำว่า “ท่าน” ก็จะดังขึ้นไปตลอดทุกที่ทุกเวลาที่มาสภาและออกตรวจราชการหรือลงพื้นที่ จนเกิดความรู้สึกว่าเหมือนเธอนั้นไม่ใช่มนุษย์ เธอเคยถามเจ้าหน้าที่ว่าใครสอนให้ใช้คำว่า “ท่าน” กับสมาชิกรัฐสภา ทุกคนก็ตอบว่าไม่มีใครสอน แต่คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกรัฐสภาต้องถือว่าเป็น “ผู้ที่มีเกียรติสูงสุด” ทุกคนจึงใช้คำว่า “ท่าน” นี้เรียกโดยอัตโนมัติ มิน่าเวลาที่มีการอภิปรายหรือพูดถึงสมาชิกรัฐสภาแต่ละคน จึงใช้คำว่า “ท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ”

บางท่านอาจจะพอทราบแล้วว่า ประเทศต้องมีทั้งรัฐบาลและรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นยุคการเลือกตั้งหรือยุครัฐประหาร ถ้ายุคเลือกตั้งก็จะมี 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา แต่ในยุครัฐประหารจะมีเพียงสภาเดียวคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยผู้ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไปพร้อม ๆ กัน ครูไพลินพอรู้ว่าต้องเป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ก็หนักใจ เพราะเห็นเวลาที่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดูการประชุมของสภาทั้งสองแล้วช่างหนักหนาสาหัสดูวุ่นวายเหลือเกิน ทว่าพอมาได้เป็นสมาชิกทั้งสองพวกในตัวคนเดียวเข้าจริงๆ กลับรู้สึกเบาใจ เพราะไม่ต้องมาทะเลาะกันระหว่างสมาชิกของทั้งสองสภานั้น การทำงานก็สะดวกรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมีการคัดง้างขัดขวางกัน ที่สำคัญสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ มักจะคัดสรรมาจากผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ อาชีพ ถ้าเป็นข้าราชการก็เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกันทั้งนั้น ถ้าเป็นตำรวจทหารก็มียศพลตำรวจเอกหรือพลเอกเป็นส่วนใหญ่ หรือถ้ามาจากเอกชนก็เป็นระดับผู้บริหารหรือหัวหน้ากลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ด้วยกันทั้งสิ้น อย่างเธอเองก็มาในนามผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ในกลุ่มที่ทำงานกับคนกลุ่มน้อย คือพวกชาวเขาและชนเผ่า

ปัญหาที่อึดอัดสำหรับเธอมีเพียงอย่างเดียว คือสถานภาพที่ดู “ไม่ปกติ” เช่น ความรู้สึกเป็น “ท่าน” ที่ดูเหมือนจะเป็นเทวดามากกว่า เพราะได้รับการยกย่องจนเกินจริง ยิ่งเวลาที่ไปตรวจเยี่ยมส่วนราชการ ยิ่งดูใกล้จะเป็นเทวดาเข้ามาก ๆ รวมถึงในเวลาที่ลงพื้นที่ ไม่เพียงแต่ข้าราชการในพื้นที่ที่มาห้อมล้อมเหมือนจะเข้ามาแบกหามให้ ก็ยังมีชาวบ้านนั่นเองที่ดูพินอบพิเทานบไหว้ อย่างกับเป็นเทพเจ้านั่นเลย ซึ่งเธอได้พยายามแก้ไขสถานภาพแบบนี้ โดยขอร้องข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ต้อนรับแต่พอควร และเรียกเธอว่าครูแค่นั้นก็พอ เช่นเดียวกันกับชาวบ้านที่เธอก็พยายามแสดงตัวและเข้าพูดคุยอย่างเป็นกันเอง แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่ก็พยายามที่จะไม่ให้มีการกระทำที่สร้างความอึดอัดเหล่านั้น

แต่สถานภาพบางอย่างในรัฐสภาก็ยากที่จะปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะท่านที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่และนายทหารตำรวจทั้งหลาย ดูเหมือนว่าท่านจะมีความสุขกับการที่ได้รับการเรียกขานว่า “ท่าน” และการปฏิบัติประดุจ “เทวดา” นั้น โดยบ่อยครั้งท่านเหล่านั้นก็ยังมาแสดงออกถึง “ความเหนือกว่า” หรือ “ศักดินา” กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยกัน โดยเฉพาะการแย่งตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ ที่ท่านเหล่านั้นชอบที่เป็นประธานหรือ “ประมุข” ในการแต่งตั้งต่าง ๆ ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้อง แต่ก็ขอให้มีตำแหน่งใหญ่ ๆ โต ๆ จึงถูกแซวลับหลังว่า คงเอาไว้พิมพ์บนนามบัตร หรือแขวนป้ายบนพวงหรีด

อย่างไรก็ตามครูไพลินก็มีความสุขในการทำงานเป็นอย่างมาก และเหมือนว่าเธอจะโชคดีที่ได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการในคณะที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นเข้ามาอยู่ด้วย ซึ่งทั้งสองกรรมาธิการที่เธอเลือกก็มีคนที่ชอบทำงานแบบเธอเข้ามาร่วมอยู่ด้วยกัน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เกิดประโยชน์แก่เธอเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อย ไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดที่เธออยู่ แต่มีผลกว้างขวางไปถึงชนกลุ่มน้อยในที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ส่วนอีกคณะกรรมาธิการหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา เธอก็ได้ใช้ประสบการณ์ตรงจากการที่มีอาชีพเป็นครู ร่วมปรับปรุงกฎหมายและนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน จนเธอคิดว่าถ้าได้อยู่ทำงานอีกสักระยะก็จะปรับปรุงความล้าสมัยของการศึกษาในประเทศไทยนั้นได้พอสมควร

สิ่งที่เธอได้รับรู้จากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียง 18 เดือน (ตุลาคม 2549 ถึง มีนาคม 2551) ก็คือคนไทยทั้งข้าราชการและชาวบ้านมักจะเชื่อฟังและทำตามคนที่มี “อำนาจและตำแหน่ง” เท่านั้น โดยเธอได้ใช้ตัวเธอเองเป็นกรณีศึกษา โดยได้เปรียบเทียบตัวเธอในเวลาที่เป็นครูธรรมดาในต่างจังหวัด กับตัวเธอในเวลาที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและมีตำแหน่งต่าง ๆ ในระดับชาติ ที่สำคัญมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการ ดูแลการออกกฎหมาย และกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของชาติได้ เธอพบว่ามีความแตกต่างกันลิบลับ เพราะในเวลาที่เธอเป็นครูธรรมดา เธอพยายามที่จะร้องขอหรือเสนอแนะสิ่งต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่และในโรงเรียน ก็มีแต่คนเอาหูทวนลม หรือรับปากแต่ไม่ทำอะไรให้ บางครั้งเจอคนที่ไม่ชอบเธอก็จะโดนขู่หรือสั่งห้ามและหาเรื่องลงโทษ บางคนก็เดินหนี แสดงอาการรังเกียจ เหมือนว่าไม่อยากจะรู้จักหรือคบด้วย แตกต่างกับเวลาที่ทำงานในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้จะไม่ไปร้องขอหรือเข้าไปพูดคุยใด ๆ ก็มักจะมีคนเข้ามาประจบประแจงหรือพยายามพูดคุยด้วย จนถึงเสนอสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ นอกเหนือจากที่ปฏิบัติต่อเธอเหมือนเทวดาและเอาใจเป็นพิเศษ

เธอเคยได้ยินถึงพวกนักการเมืองและข้าราชการที่คดโกง คงเป็นด้วยถูกปฏิบัติแบบนี้นี่เอง อย่างที่เขาเรียกว่า “ถูกทำให้เสียคน” หรือ “บริวารเป็นพิษ” ทั้งที่บางคนก็เป็นคนที่ไม่ได้มีประวัติเสียหายหรือเคยทำอะไรชั่วร้ายมาก่อน แต่พอเข้ามาสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีอำนาจ เช่น ข้าราชการผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองที่มีตำแหน่งทั้งในรัฐบาลและรัฐสภา ก็คงจะถูกบรรดาผู้คนที่ต้องทำงานเกี่ยวข้อง รวมถึงที่มีคนเข้ามาห้อมล้อม มา “เป่ามนตร์” ให้หลงใหลเคลิบเคลิ้มในตำแหน่งและอำนาจทั้งหลายนั้น จนบางคนก็ไม่ระมัดระวังต้องตกเป็น “คนชั่ว” ร่วมไปด้วย แต่ก็มีที่ “ตั้งใจ” หรือมีความมุ่งหวังจะเข้าไปมีอำนาจ หรือใช้ตำแหน่งที่มีอำนาจนั้น “ทำมาหากิน” หรือทำชั่วคดโกง อย่างที่เรียกว่า “ชั่วโดยสันดาน - ชั่วแต่กำเนิด - ชั่วทั้งโคตร” นั้นก็มีไม่น้อย

ในวันหนึ่งที่เราได้คุยกัน ครูไพลินถามผมในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ว่า “ศักดินานี้มันจะหมดไปจากประเทศไทยไหมคะ?”

ผมตอบโดยไม่ต้องอ้างตำราใด ๆ ไปว่า “ศักดินาดี ๆ ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ให้กันก็มี อย่างครูและพวกเราอีกหลาย ๆ คน ที่พอเข้ามามีตำแหน่งและอำนาจ ก็ใช้ไปช่วยหรือสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน แต่ไอ้ศักดินาชั่ว ๆ ในโลกสมัยใหม่ที่คนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับและกลุ่มโซเชียลต่าง ๆ กล้าเปิดโปงอย่างไม่หยุดยั้ง มันก็จะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ”

“ธรรมชาติอาจจะมีความไม่เท่าเทียม แต่สังคมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราก็สร้างความเท่าเทียมขึ้นได้”