ฉายา “เดอะ เซลส์แมน” ที่นิตยสารไทม์นำมาพาดหัวขึ้นปก พร้อมรูปและบทสัมภาษณ์พิเศษ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สะท้อนมุมมองของสื่อต่างชาติที่มีต่อนายกฯเศรษฐาไม่ต่างจากสื่อมวลชนไทย ที่ผู้สื่อข่าวไทยตั้งฉายานายกฯว่า “เซลส์แมนสแตนด์ชิน” การวางบทบาทที่เด่นชัดจนได้ขึ้นปกนิตยสารไทม์ถือว่าทำการตลาดได้ผลช่วยโปรโมตประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ตอกย้ำคำประกาศ ไทยพร้อมแล้วสำหรับการเปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก

ทั้งนี้ “ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯเศรษฐา ว่า นายกฯเศรษฐา มีการเดินทางไปราชการต่างประเทศ จำนวน 15 ประเทศ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเดินทางไปราชการต่างประเทศในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เพราะประเทศไทยไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวภายในโลกใบนี้ที่มีประเทศต่างๆที่มีความหลากหลาย การดำเนินการทางการทูตมีความสำคัญเป็นอย่างมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อการประสานประโยชน์ร่วมกัน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

1. การเดินทางไปร่วมการประชุมที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกและมีความสำคัญในระดับนานาชาติๆ ที่ประเทศไทยจะต้องไปแสดงจุดยืนและพบปะกับผู้นำของประเทศต่างๆ จำนวน 6 ครั้งประกอบด้วย 1) การเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18 – 24 กันยายน 2566 2) การเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 20 - 21 ตุลาคม 2566 3) การเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (APEC) ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12 – 19 พฤศจิกายน 2566 4) การเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14- 19 ธันวาคม 2566 5) การเดินทางเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 15 -19 มกราคม 2567 6) การเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2567

2. การเดินทางไปสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในเอเชีย จำนวน 4 ครั้ง 7 ประเทศประกอบด้วย 1) เยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ วันที่ 28 กันยายน 2566 2) เยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ อย่างเป็นทางการ  ระหว่างวันที่ 8 - 12 ตุลาคม 2566 3) เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ วันที่ 30 ตุลาคม 2566  4) เยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567  

3. การเดินทางไปสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศมหาอำนาจและการเจรจาทางการค้าและเศรษฐกิจ จำวน 2 ครั้ง 3 ประเทศ ประกอบด้วย 1) การเดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (BRF) และการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 2) เยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ณ กรุงปารีส และเมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส และเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 7- 13 มีนาคม 2567

ทุกครั้งที่ นายกฯเศรษฐา มีการเดินทางไปราชการต่างประเทศ เป็นการไปในฐานะผู้นำของประเทศไทยที่มีภารกิจในการเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทยในการสร้างการรับรู้กับนานาชาติ ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไรและการดึงดูดให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศตามโครงการต่างๆที่ทางรัฐบาลได้มีการดำเนินการ ในส่วนของการนำสินค้าของประเทศไทยไปนำเสนอผ่านสายตาชาวโลกอาจจะเป็นเรื่องรองลงมา เพราะสิ่งสำคัญคือการทำให้นานาชาติเข้าใจสถานการณ์ ความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของชาวต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสินค้าของประเทศไทย

ขณะที่ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักประเทศผู้มีรายได้น้อยมาอย่างยาวนาน ทั้งที่มีช่วงเวลาในอดีตที่เคยประสบความสำเร็จมาก อาทิ ยุคอุตสาหกรรม ไทยมีการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปทั่วโลกแบบมหาศาล และยุคของการท่องเที่ยวที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 40 ล้านคน เมื่อปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบทำให้เหลือเพียง 4 แสนคนในช่วงเปิดประเทศระยะแรก จึงถือเป็นความท้าทายที่ไทยเราจะหวังพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจคลื่นลูกเดิมไม่ได้อีกต่อไป ทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูป (รีฟอร์ม) ในระยะยาว ตามภารกิจของหอการค้าที่ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการช่วยสร้างสังคมไทย ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับขีดความสามารถของไทย ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ เร่งทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกับหลายประเทศในนานาชาติ รวมถึงดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพราะจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามา โดยมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญมาก อาทิ การลดใบอนุญาตต่างๆ ในการทำธุรกิจ การดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มเติม และดึงคนที่มีความสามารถพิเศษ (Talent) มาที่ไทย รัฐบาลจะต้องออกมาตรการให้ต่างชาติมีที่อยู่อาศัย และ Talent immigration policy เป็นการผลักดันให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อีกอฟเวิร์นเมนท์ ) อาทิ ประเทศเอสโตเนีย ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน สิ่งสำคัญสุดคือ รัฐบาลต้องมีความโปร่งใส ประชาชนจะใช้บริการของรัฐบาลหรือเอกชน ติดต่อในเรื่องอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่หรือพบปะกัน แต่สามารถทำได้ผ่านเทคโนโลยีที่มีอยู่ ซึ่งทุกอย่างสามารถทำงานได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถพลิกฟื้นสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้งในอนาคตได้

คอยติดตามกันต่อไปว่าประเทสไทยจะสยายปีกการค้าการลงทุนไปประเทศต่างๆได้มากน้อยแค่ไหน!?!