หมายเหตุ : “เสรี สุวรรณภานนท์” สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์พิเศษ รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ถึงประเด็นความพร้อมทำหน้าที่ของวุฒิสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมือง ที่จะเกิดขึ้นหากมีการยุบพรรคก้าวไกล โอกาสที่พรรคจะเติบโต หรือเสียหาย มีหรือไม่และอย่างไร รวมทั้งกระแสข่าวเรื่องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

- ประชาชนจะได้อะไรจากการที่วุฒิสภา เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 153

ประชาชนจะได้เห็นว่าสมาชิกวุฒิสภาในช่วงเวลาที่ใกล้จะครบวาระ ได้ทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่  การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติของวุฒิสภา เพื่อที่จะให้รัฐบาลมาชี้แจงข้อมูล ชี้แจงการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประชาชนจะได้รับผลโดยตรงจากการบริหารของรัฐบาล สิ่งนี้เป็นงานที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้

- มีการตั้งข้อสังเกตว่าในรัฐบาลยุคที่ผ่านมา สว.เองก็ไม่ได้มีการยื่นญัตติอภิปรายฯในลักษณะนี้

ก็ไม่มีอะไรที่ถือว่าผิดปกติ และไม่สามารถนำมาเทียบกันได้เนื่องจากเป็นคนละช่วงเวลากัน เนื่องจากในรัฐบาลก่อน จะติดพันไปกับเรื่องการแก้ไขปัญหาประเทศ คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เสียเวลาไปถึง 2-3ปี 

นอกจากนี้ยังต้องยอมรับว่าการยื่นอภิปรายฯของวุฒิสภานั้น ขึ้นอยู่กับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีข้อแตกต่างกันมากนัก โดยรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลปัจจุบันให้ดูข้อแตกต่างของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มาจากรัฐบาลชุดที่แล้วทั้งสิ้น

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ทำไม ชุดนั้นทำ ชุดนี้ไม่ทำแต่อยู่ที่ว่าปัญหามีหรือไม่ และการที่จะเปิดอภิปรายทั่วไป ต้องเป็นความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 84 เสียง จึงจะสามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายฯได้ ซึ่งในช่วงนั้นเรายังไม่เห็นปัญหา ในเรื่องของความร่วมมือ แต่มาช่วงนี้พบว่ามีปัญหา และดูแล้วก็สามารถยื่นขอเปิดอภิปรายฯได้ จึงได้เข้าชื่อและยื่นญัตติ

- กรณีก่อนหน้านี้ สว.เคยตั้งข้อสังเกตว่า นายกฯจะอยู่ไปถึงวันที่ 25 มีนาคม ได้หรือไม่ ตรงนี้มีเงื่อนไขอะไร

เราเพียงแต่ประชดประชันรัฐบาล การขอเปิดอภิปรายทั่วไป ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สภาฯเห็นว่ามีความจำเป็น เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เมื่อแจ้งไปแล้วรัฐบาลต้องขนขวาย  ต้องรีบในการขอเปิดอภิปรายฯตามที่วุฒิสภายื่นเรื่อง  แต่ปรากฏว่ารัฐบาลก็ดึงเวลาไป นานถึง 2เดือนจึงทำให้เห็นว่าในช่วง2เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นปัญหาทางการเมือง และพูดถึงกันมาตลอดกรณีนายกฯ2 คน 3 คน คนที่มีอำนาจจริงๆในการตั้งรัฐบาลไม่ใช่คุณเศรษฐา ทวีสิน แต่เป็นคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ดังนั้นเราจึงห่วงว่าถ้าอย่างนั้นรัฐบาลในปัจจุบัน จะอยู่ถึงวันที่ 25 มีนาคม ไหม วันที่วุฒิสภาอภิปรายฯ

ผมก็เลยภาวนาเท่านั้นเอง ว่าขอให้นายกฯอยู่ให้ถึง เพราะหากนายกฯลาออกก่อน หรือไม่อยู่ สว.ก็อภิปรายฯไม่ได้ เมื่อไม่มีนายกฯครม.ก็ต้องพ้นไปด้วย  เราก็เลยพูดเพื่อให้รัฐบาลได้รับรู้ว่า บางทีปัญหาทางการเมือง อาจจะทำให้เวลานานเกินไป

- แสดงว่าในส่วนของสว.ก็ได้มีการพูดคุยกัน ประเมินเหมือนกัน

ไม่ต้องเฉพาะสว.หรอกครับ คนเขาพูดกันทั้งประเทศ สื่อเองก็ลงข่าวมาโดยตลอด ว่านายกฯมี2คนบ้าง 3 คนบ้าง ขณะที่ตัวนายกฯเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์  ว่ารัฐบาลอยู่มา 6-7เดือนยังไม่เห็นผลงานอะไร

-การที่คุณทักษิณ ไปจังหวัดเชียงใหม่ เท่าที่ดูความเคลื่อนไหวจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีภาพคุณทักษิณ ที่จะกระทบต่อการเมืองมากขึ้นกว่านี้หรือไม่

ภาพที่ออกมาก็ทำให้เห็นได้ว่า คุณทักษิณ ยังไม่เลิกทางการเมือง แต่ก็เป็นสิทธิว่าจะเลิกหรือไม่ แต่การที่พรรคการเมืองพรรคใหญ่ จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจ ในพรรคการเมืองนั้นๆ แต่คุณทักษิณก็ยังเป็นคนกำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ หรือใครจะเป็นรัฐมนตรี 

จริงๆแล้ว คุณเศรษฐา ยังเป็นอันดับรองด้วยซ้ำไป ตอนแรก เข้าใจว่าจะเป็นคุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลูกสาวคุณทักษิณ  แต่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนตัวมาเป็นคุณเศรษฐา

-จากนี้จะได้มีโอกาสเห็นคุณทักษิณ มาแสดงความเห็นทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่

เป็นไปได้ เพราะคุณทักษิณ อยู่ในการเมืองอยู่แล้ว  และถึงแม้คุณทักษิณ ไม่พูด ก็ต้องมีคนอื่นไปถามอยู่ดี  ก็เลี่ยงไม่ได้ เมื่อถามแล้ว จะไม่ตอบก็ไม่ได้ เพราะจะเสียเชิง ในฐานะผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และถ้าเลี่ยงไม่ตอบก็ผิดวิสัยคุณทักษิณ และในที่สุดแล้วก็ต้องประคองเพื่อให้ลูกสาวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คนต่อไป เพียงแต่จะอยู่ในช่วงเวลาใดเท่านั้น

- สว.ได้มีการประเมินกันหรือไม่ ว่าพรรคก้าวไกล มีโอกาสถูกยุบหรือไม่ และหากยุบจริง จะมีผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่ เพราะมีคนบอกว่า ยิ่งยุบก็จะยิ่งโต หรือบอกว่าตาบสิบ เกิดแสน

ผมว่ายิ่งยุบ ก็จะยิ่งตาย เพราะมีเหตุมีผล ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะไปกลั่นแกล้ง เพราะเขากระทำการกันเองทั้งนั้น อย่างกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง นั้นผมมองว่าไม่ว่าจะตั้งพรรคอีกกี่ครั้ง แต่ถ้ายังมีเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 พรรคก็จะต้องถูกยุบไปตลอด ไม่มีทางที่จะเติบโตได้ และแนวคิดของแต่ละคนก็จะค่อยๆลบล้างไป และใครที่มาทำงานการเมือง ก็จะถูกตัดสิทธิไปเรื่อย   ๆ

เพราะฉะนั้นถ้าหากอยากจะให้โตจริง คุณอย่าไปทำอะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครอง จะเล่นการเมืองก็เล่นไป แต่ถ้าคุณยังวนเวียนกับเรื่องการล้มล้างอยู่ เชื่อว่าไม่มีทางเลยที่จะเป็น ตายสิบเกิดแสน มีแต่จะตายไปเรื่อยๆ หากคุณยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม และคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีใครเอาด้วยแน่นอน

- พรรคก้าวไกลจะสามารถกลับตัวทันหรือไม่ ในระยะเวลาจากนี้ ก่อนจะไปถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรค

คงไม่เกี่ยวกันแล้ว หากจะกลับตัวก็ต้องไปพรรคหน้าเลย แต่สำหรับพรรคนี้ คงไม่ทันแล้ว เนื่องจากศารัฐธรรมนูญมีหลักฐานและได้วินิจฉัยไปชัดเจนแล้ว ว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ดังนั้นจะมากลับตัวกลับใจ ก็ต้องไปว่ากันที่พรรคการเมืองใหม่

และหากมีการทำพรรคใหม่ คุณก็ต้องมีความจริงใจ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองอีก ไม่ใช่เล่นการเมืองแบบนี้ มันเป็นการทำลายประเทศ เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบัน ซึ่งไม่ควรที่จะทำ

-หากต่อไปมีแนวโน้มที่พรรคการเมืองอื่นๆ มีโอกาสจะถูกยุบพรรคตามมาหรือไม่ อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ยังมีเรื่องค้างอยู่ที่กกต. รวมถึงยังมีพรรคเพื่อไทย อีกที่ถูกร้องคดียุบพรรค ดังนั้นในภาพรวม หากมีการยุบพรรคการเมืองเหล่านี้ มีการพูดถึงรีเซ็ตการเมืองกันใหม่ มองว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าได้ยินอย่างเดียว แต่เราเห็นอยู่แล้วว่ามีคนไปยื่นเรื่อง ให้ยุบพรรคเหล่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ว่าจะผิดหรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่ผิดก็ไม่เป็นไร แต่หากผิดก็ต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ถ้ายุบ ก็ต้องยุบ ดังนั้นพรรคการเมืองก็ต้องระมัดระวัง อย่าเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน จนทำให้ประชาชนกลายเป็นเหยื่อ ประชาชนก็หลงทาง ว่าพรรคนั้นดี พรรคนี้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต่างก็หาประโยชน์จากประชาชนทั้งนั้น

- หากให้มองไปข้างหน้า สว.ชุดใหม่ 200 คน ที่จะเข้ามา อยากฝากอะไรหรือไม่

เราต้องดูก่อนว่าการเข้ามาของสว.เพื่อทำหน้าที่นั้น มาแบบธรรมชาติหรือไม่ ตามกระบวนการหรือไม่ ซึ่งที่ผิดธรรมชาติ ก็จะมีการบล็อกโหวตกันเข้ามา ต้องการแห่เข้ามายึดสว.เพราะสว.สามารถเลือกองค์กรอิสระได้  ดังนั้นขบวนการเหล่านี้จึงอยู่ที่ว่าขบวนการเหล่านี้สว.มีอิสระแค่ไหน

ซึ่งเรื่องนี้ มีกฎหมายห้ามพรรคการเมือง เข้าไปยุ่งเกี่ยว จะไปล่มหัวจมท้ายด้วยกัน วางแนวทางด้วยกัน ก็ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ให้มีการ คานอำนาจ แต่สว.จะไปในทางเดียวกันก็จะเป็นปัญหา ดังนั้นสำหรับสว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามานั้นต้องดูว่ามีความเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน ผูกพันกับพรรคการเมืองหรือไม่  แต่ก็ขอฝากเอาไว้ว่า ใครก็ตามที่เป็นสว. ให้มีความเป็นตัวเอง มีความเป็นอิสระ ในการทำหน้าที่เพื่อประชาชน