วันที่ 22 มี.ค.2567 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครวมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงผลการประชุมว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติเอกฉันท์จะลงมติไม่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ส่วนกระแสข่าวโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบฯ นั้น ตนยังไม่ได้ยินข่าวเรื่องนี้เลย ต้องจับตากันดูว่า จะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น โอกาสคงเป็นไปได้ยากในวาระนี้ ต้องจับตาดูกันต่อไป ถ้าเกิดขึ้นก็แปลว่า มีรอยแตกร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล หรือมีการแก่งแย่งชิงอำนาจที่หลายฝ่ายอาจจะลือกันมาแล้วก่อนหน้านี้ ว่าจะมีการแย่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันหรือไม่ ถ้าข่าวลือเป็นจริง ก็คงจะได้เห็นกันว่า ที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในการร่วมรัฐบาล

เมื่อถามถึงบทลงโทษหากมีสมาชิกในพรรคร่วมฝ่ายค้านโหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่าเป็นบทลงโทษ แต่มองว่าเป็นการปฏิบัติร่วมกันตามมติที่มีในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ตนก็คิดว่าเป็นไปตามสัดส่วน อย่างครั้งที่แล้ว มีพรรคเล็กที่ไม่ได้ลงมติตามวิปฝ่ายค้าน เวลามีโควตาอะไร เราก็ต้องไม่นับเขาเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะเขาไม่ทำตามมติ ก็เป็นตามปกติ ไม่ได้มีการลงโทษอะไร ส่วนการลงโทษของพรรคนั้นๆ ที่จะลงโทษ สส.ที่ไม่ปฏิบัติตามมติวิปฝ่ายค้าน ก็เป็นเรื่องของพรรคๆ นั้น ตนมีหน้าที่ในการดูแลพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค คงไม่มีสิทธิ์ไปลงโทษใคร  “ผมมั่นใจว่า ไม่มี 100%“

เมื่อถามว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ลงแล้วดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯแทน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “ถ้าถามผม ผมถามว่า เอาจริงหรอครับ ผมถามแค่นี้แหละ” พร้อมกล่าวต่อว่า ตนถามกับสังคมดีกว่าว่า 4 ปีที่ผ่านมา สังคมรู้สึกอย่างไร หากเรามีนายกฯที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แต่ก็มีโอกาสถ้าคว่ำนายเศรษฐาได้ นายปกรณ์วุฒิ นิ่งไปสักครู่ พร้อมกล่าวว่า “เอ๊ะ นี่เราเลือกนายกฯ ตามความต้องการของประชาชน หรือความต้องการของอะไรกันแน่ครับ ผมว่ามันเป็นเรื่องการแก่งแย่งอำนาจ โดยที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ ผมว่าประชาชนก็น่าจะรับรู้ว่าสุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นประโยชน์กับสังคมหรือประเทศชาติ”