อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกวัน บางคนอาจแค่เฉี่ยวประตูรั้วบ้านก่อนไปทำงาน มีขูดกระถางต้นไม้บ้างเพราะยังตื่นไม่เต็มที่ แต่ถ้าวันไหนไม่เป็นใช่วันของคุณก็อาจจะเผลอชนเสาไฟฟ้าข้างทางไปเลย งานนี้เสียทั้งรถและของหลวง แล้วแบบนี้ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ช่วยเราได้ไหม จะโดนค่าปรับ หรือบทลงโทษอะไรบ้าง หาคำตอบได้ในบทความนี้

ขับรถชนเสาไฟฟ้าประกันชั้นไหนรับเคลม

การขับรถชนเสาไฟฟ้าถือเป็นอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี แม้ว่าจะเป็นสิ่งของที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐก็ตาม แต่สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่การชนกับยานพาหนะนั่นหมายความว่า มีเพียงประกันรถยนต์ชั้น 1 เท่านั้นที่ครอบคลุมความรับผิดชอบในกรณีดังกล่าว หากเป็นประกันชั้นอื่น ๆ อย่างประกันชั้น 2+, 3+ หรือ 3 ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียค่าปรับทั้งหมดด้วยตัวเอง

ขับรถชนเสาไฟฟ้าโดนปรับเท่าไหร่

สำหรับการชนเสาไฟฟ้าจะมีค่าปรับเริ่มต้นที่ 10,000 - 100,000 บาท โดยแบ่งออกเป็นเสาไฟฟ้าแรงต่ำค่าปรับอยู่ระหว่าง 10,000 - 30,000 บาท และเสาไฟฟ้าแรงกลางค่าปรับอยู่ที่ 30,000 - 100,000 บาท โดยมีการคิดค่าแรงในการรื้อถอนและติดตั้งเข้าไปด้วย มากไปกว่านั้นหากคุณแจ็กพอตชนเสาไฟฟ้าอาจทำให้หม้อแปลงไฟฟ้า และชุมสายสื่อสารเสียหาย ก็อาจจะโดนเรียกเก็บค่าเสียหายเพิ่มอีก เบ็ดเสร็จอาจต้องจ่ายค่าปรับเกิน 100,000 บาทได้เลยทีเดียว

ส่วนค่าปรับของหลวงประเภทอื่นมีค่าปรับคร่าว ๆ ดังนี้

  • แบริเออร์กั้นทาง 800 - 15,000 บาท
  • แผงกั้นจราจร 1,000 - 5,000 บาท
  • กรวยจราจร 200 - 800 บาท
  • เสาล้มลุก 800 - 3,500 บาท
  • ต้นไม้ เริ่มต้น 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับพันธุ์ไม้และจำนวนต้นไม้ที่เสียหาย

ขับรถชนเสาไฟฟ้ามีโทษอะไรบ้าง

อันดับแรก การขับรถชนเสาไฟฟ้า หรือของหลวงประเภทอื่น ๆ มีความผิด มาตรา 360 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากจงใจไม่เสียค่าปรับอาจต้องระวางโทษตามมาตรา 438 ดังนั้นควรไกล่เกลี่ยการชำระเงินให้ลงตัวเพื่อความบริสุทธิ์ใจ เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้แน่นอน

การขับรถชนสิ่งของไม่ว่าจะเป็นของหลวง หรือของใครก็ตาม แม้ว่าเราจะมีประกันรถยนต์ชั้น 1 แต่ทางบริษัทก็สามารถชดเชยได้ตามวงเงินทุนประกันเท่านั้น โดยที่คุณจะต้องจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือเอง ดังนั้นเราควรใช้สติในการขับรถพยายามสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และคำนึงถึงเพื่อนร่วมทางอยู่เสมอ เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นอีกด้วย