ปัญหาการจราจรและการรณรงค์สร้างวินัยจราจรในเมืองกรุง ยังคงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต่างให้ความสำคัญ เช่นเดียวกันกับกรุงเทพมหานครที่มีความพยายามสร้างวินัยจราจร สร้างค่านิยมที่ถูกต้องเพื่อลดการสูญเสีย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และทำให้การสัญจรเกิดความคล่องตัว แก้จุดเสี่ยงจุดฝืดต่างๆมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา เพื่อมุ่งลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาล โดยมีการกางแผนปี 67 หวังแก้ไขจุดเสี่ยง 125 จุด - จำกัดความเร็วนำร่องถนนชั้นใน 40 สาย ยกระดับความปลอดภัยทางถนนตามมาตรฐาน iRAP ผนึกกำลังภาคี ศปถ.กทม. รณรงค์เดินทางปลอดภัยสงกรานต์นี้

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานครตระหนักและให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งช่วงปกติและในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ด้วยการกวดขันวินัยจราจร และการแก้ไขปรับปรุงกายภาพด้วยหลักวิศวกรรมจราจร ตลอดจนรณรงค์แก้ไขพฤติกรรมการขับขี่ให้ปลอดภัยด้วยการส่งเสริมสร้างวินัยจราจร ผ่านการดำเนินการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.กทม.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับเขต (ศปถ.เขต) โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้พิจารณาข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทั้งจาก บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ThaiRSC) ศูนย์ข้อมูลอัฉริยะไทย (iTIC) ศูนย์เอราวัณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue นำข้อมูลมาจัดลำดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ วิเคราะห์หาสาเหตุและพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขจุดเสี่ยงบริเวณต่างๆ ในปี 2566 ดำเนินการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงไปแล้วไม่น้อยกว่า 115 จุด ซึ่งในปี 2567 มีเป้าหมายแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจราจร จำนวน 125 จุด และปีละ 100 จุดในปีต่อๆไป

“ย้ำเลยว่าการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เป็นเป้าหมายและภารกิจหลักของ สจส.พื้นที่กรุงเทพฯเรามีปัญหาความเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งเรื่องของกายภาพถนน ไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายเตือนผู้ขับขี่ ซึ่งเราได้ร่วมกับศูนย์วิชาการจุฬาฯ ทำโครงการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนระดับสากล iRAP โดยเกี่ยวข้องผู้ใช้ถนน 4 กลุ่ม คือ คนเดินเท้า ขี่จักรยาน ขี่รถมอเตอร์ไซค์ และขับรถยนต์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้วิธีคิด แนวทางปรับปรุงกายภาพถนนต่างๆของกทม. ให้เกิดความปลอดภัย และนอกจากปรับกายภาพแล้ว เรื่องความปลอดภัยยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้ขับขี่ และยานพาหนะ ที่ต้องรณรงค์สร้างวินัยจราจร ให้ความรู้การใช้และดูแลพาหนะ ซี่งเราไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยภาคีเครือข่าย ผ่าน ศปถ.กทม. โดย สจส.เป็นเลขาฯคอยขับเคลื่อนความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เป้าหมายลดความเสี่ยงอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และช่วงวันหยุดยาว” นายไทภัทร กล่าวและว่า

สำหรับการแก้ไขจุดเสี่ยงมีแผนดำเนินการปรับปรุงด้านกายภาพ โดย สจส.ได้ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความชัดเจนขณะใช้ทางข้าม และอุปกรณ์ความปลอดภัย อุปกรณ์ช่วยเตือนการมองเห็นในเวลากลางคืน เช่น การใช้เส้นจราจรที่ชัดเจน การติดตั้งหลักล้มลุก การใช้แถบสะท้อนแสง การติดตั้งป้ายเตือนหัวเกาะแบบไฟกะพริบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ทางให้แก่ประชาชน

นายไทภัทร กล่าวอีกว่า ความปลอดภัยของผู้ใช้ทางข้ามก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน ที่ผ่านมามีรายงานการเกิดอุบัติเหตุจุดนี้หลายกรณี จึงมีแนวทางเพิ่มความปลอดภัยบริเวณทางข้าม 3 แนวทาง 1.ติดตั้งป้ายประกอบทางข้าม เป็นป้ายแนะนำทางข้ามและป้ายเตือนทางข้าม 2 ประเภท คือ ป้ายแนะนำทางข้าม พร้อมแสดงการเตือนด้วยสีสติ๊กเกอร์เขียว–เหลืองฟลูออเรสเซ้นท์ที่กรอบป้าย และ ป้ายจำกัดความเร็วพร้อมป้ายเตือนทางข้ามระบุเขตทางข้ามและความเร็วที่ถูกจำกัด ดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 และ 2568 การติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม 2.ติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบที่มีเสายืนอยู่ในระดับสูงเหนือผิวจราจร ติดตั้งไปแล้ว 1,094 แห่ง และ 3.ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม มีสัญญาณไฟ สีเขียว เหลือง แดง พร้อมป้ายเตือนทางข้าม ติดตั้งไปแล้ว 353 แห่ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยการใช้ทางข้ามและการขับขี่ในเขตทางข้าม ให้การเดินทางของประชาชนมีประสิทธิภาพและปลอดภัยเยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ มีการจำกัดความเร็วจราจร ทำ Speed Limit Zone กำหนดพื้นที่จำกัดความเร็วบนถนน นโยบายผู้ว่าฯกทม.เสนอให้พิจารณาลดความเร็วในเขตเมืองจาก 80 กม./ชม. เป็น 50 กม./ชม. นำร่องบนถนนชั้นใน 40 เส้นทาง ได้แก่ 1.ถนนอู่ทองนอก 2.ถนนมหาไชย 3.ถนนบำรุงเมือง 4.ถนนเยาวราช 5.ถนนมหาราช 6.ถนนนครปฐม 7.ถนนจันทน์ 8.ถนนอัษฎางค์ 9.ถนนนางลิ้นจี่ 10.ถนนข้าวหลาม 11.ถนนราชสีมา 12.ถนนบรรทัดทอง 13.ถนนสนามไชย 14.ถนนมเหสักข์ 15.ถนนหลวง 16.ถนนลูกหลวง 17.ถนนราชวงศ์ 18.ถนนตะนาว 19.ถนนไมตรีจิต 20.ถนนเพื่องนคร 21.ถนนพลับพลาไชย 22.ถนนจารุเมือง 23.ถนนรามบุตรี 24.ถนนรองเมือง 25.ถนนหน้าพระธาตุ 26.ถนนพิชัย 27.ถนนสุรวงศ์ 28.ถนนทรงวาด 29.ถนนเสือป่า 30.ถนนมิตรพันธ์ 31.ถนนศิริพงษ์ 32.ถนนพระสุเมรุ 33.ถนนพระอาทิตย์ 34.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย 35.ถนนสุคันธาราม 36.ถนนท้ายวัง 37.ถนนกรุงเกษม 38.ถนนเจริญกรุง 39.ถนนสีลม 40.ถนนราชินี โดยเสนอกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พิจารณาออกข้อบังคับจราจร จำกัดความเร็วดังกล่าว และ สจส.เร่งติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว พร้อมติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วตรวจจับผู้กระทำผิด ส่งข้อมูลให้ บช.น.เปรียบเทียบปรับสูงสุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

ทั้งนี้ จากที่ สจส.ได้ร่วมกับศูนย์วิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำผลการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนตามมาตรฐาน iRAP มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมปรับปรุงทางถนนให้มีความปลอดภัยตามข้อมูลที่ได้จากการประเมิน ผลดำเนินการทั้งหมดจะเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการใช้ทางข้ามการขับขี่บนถนนของกรุงเทพฯ และเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐาน iRAP ที่เป็นมาตรฐานนานาชาติทางถนนซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก