นับตั้งแต่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ทำการลงพื้นที่ภายใต้กิจกรรม “ผู้ว่าฯสัญจร 50 เขต“ จุดประสงค์เพื่อเวียนไปรับฟังปัญหาและร่วมประชุมกับแต่ละสำนักงานเขต รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยเริ่มตนที่เขตคลองเตย ทำให้ผู้ว่าฯเข้าถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นกรกระจายอำนาจจากภาครัฐสู่ท้องถิ่น และเพื่อใหการทำงานเป็นไปอย่างเข้มข้นในปี 2567 นี้ก็ยังคงต่อยอดเดินหน้ากิจกรรม“ผู้ว่าฯสัญจร ปี2“ 

นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ดำเนินงานกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร เปิดเผยว่า ผู้ว่าฯกทม.ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพื่อต้องการทราบปัญหาและเข้าใจบริบทแต่ละเขต โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก กำหนดให้มีกิจกรรมปลูกต้นไม้แต่ละเขตในช่วงเช้า ตามนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เพื่อสอดรับกับนโยบายอื่น เช่น สวน 15 นาที ถนนสวย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม และเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาของทุกเขต จากนั้นผู้บริหารกทม.จะเข้าสำนักงานเขต เพื่อรับฟังรายงานข้อมูลจากผู้อำนวยการเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเรื่องงบประมาณ โครงการของแต่ละเขต ปัญหาในการดำเนินงานตามนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน รวมถึง สิ่งที่ต้องปรับปรุง เช่น ปัญหาการจราจร จุดฝืด น้ำท่วม ทางเท้า การลอกท่อ ขุดลอกคูคลอง ซึ่งแต่ละเขตพบปัญหาแตกต่างกัน

“ยกตัวอย่างเขตจอมทอง เขตสุดท้ายในผู้ว่าฯสัญจรครั้งที่หนึ่ง มีคลองเป็นร้อยคลอง ต้องวางแผนเรื่องการจัดการและการเพิ่มกำลังคน หรือเขตคลองสามวา หนองจอก สายไหม เป็นพื้นที่ใหญ่ พบปัญหาเกี่ยวกับประชากรหลักและประชากรแฝง เช่น แรงงานต่างด้าว เป็นต้น ขณะที่เขตพระนครมีกำลังคนจำนวนมาก ซึ่งการกระจายกำลังคนให้สอดคล้องกับพื้นที่แต่ละเขตก็เป็นเรื่องสำคัญ“

หลังรับฟังรายงานของเขต ผู้ว่าฯกทม.จะรับประทานอาหารกลางวันกับบุคลากรต่าง ๆ เช่น ฝ่ายรักษาความสะอาด ฝ่ายระบายน้ำ ฝ่ายเก็บขนขยะ เพื่อทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย และรับฟังปัญหาอุปสรรคของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริง จากนั้นจะลงพื้นที่ตามชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับผู้อำนวยการเขต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนคนในพื้นที่โดยตรง ซึ่งมีทั้งคำชมและข้อร้องเรียน เช่น มีเสียงชื่นชมว่าทางเดินในชุมชนสว่างขึ้น หลังจากมืดมานาน รู้สึกปลอดภัย รวมถึงข้อร้องเรียนเรื่องการจัดการขยะ ทางเท้า ประปา ไฟฟ้า จราจร และปัญหาอื่น ๆ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงว่าปัญหาแต่ละเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบหน่วยงานใด เช่น บางชุมชนอยู่ติดพื้นที่กรมทางหลวง หรือใต้ทางด่วน หรือทางเท้าบางจุดเป็นของกรมทางหลวง และให้กทม.ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทันที เพื่อแก้ปัญหา เช่น การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง กรมทางหลวง เป็นต้น ซึ่งปัญหาจะได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น

“เนื่องจากปัญหาสำคัญของกรุงเทพฯคือ การมีประชากรที่แตกต่าง หลากหลาย บางคนเข้าถึงข้อมูล บางคนเข้าไม่ถึง การลงพื้นที่ทำให้การแก้ปัญหาตรงจุดและรวดเร็วขึ้น เช่น มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องจุดทิ้งขยะ หรือมีการจัดเก็บขยะไม่ทันเวลา ทำให้ขยะสะสม ส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้าน อาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เมื่อลงพื้นที่แล้วมีการแก้ไขเรียบร้อยทันที“

ส่วนกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร ระยะที่ 2 ซึ่งลงพื้นที่เขตสายไหมและบางเขนไปแล้วนั้น นายสิทธิชัย กล่าวว่า ยังคงรูปแบบการปลูกต้นไม้ช่วงเช้าเหมือนเดิม แต่ตัดเรื่องการเข้ารับฟังการรายงานข้อมูลจากสำนักงานเขตออกไป โดยมุ่งเป้าไปที่การลงพื้นที่แก้ไขปัญหาในหมู่บ้านจัดสรร (บ้านมีรั้ว) เช่น ที่เขตบางเขน พบหมู่บ้านที่มีคลองสาธารณะตัดผ่าน ขาดการบำรุงรักษา ทำให้น้ำเน่าเสีย ตื้นเขิน เนื่องจากคาบเกี่ยวพื้นที่เอกชน โดยคลองสาธารณะอยู่ในความรับผิดชอบของกทม. จึงต้องเข้าไปดำเนินการให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งผู้ว่าฯกทม.เน้นย้ำว่า หมู่บ้านจัดสรรเป็นประชาชนในกรุงเทพฯเช่นกัน กทม.ต้องดูแลตามอำนาจหน้าที่ที่มี

“ปัญหาที่พบมาตลอดในหมู่บ้านจัดสรรคือ หมู่บ้านเก่าไม่มีฝ่ายนิติบุคคลดูแลปกป้องสิทธิ์ลูกบ้าน ทำให้ขาดตัวแทนในการประสานกับภาครัฐ เช่น หมู่บ้านย่านซอยคู้บอน27 พบปัญหาน้ำเอ่อล้นเวลาฝนตก กทม.จึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณท้ายซอยเพื่อระบายลงคลองให้เร็วขึ้น“

นอกจากนี้ ในระยะที่ 2 จะมีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการจากระยะที่ 1 กว่า 200 เรื่อง โดยแบ่งเป็นข้อสั่งการในช่วงเช้า (ห้องประชุมเขต) และช่วงบ่าย (ลงพื้นที่ชุมชน) ภายใต้นโยบาย 217 ข้อ และแนวทางพัฒนา 9 ดี 9 ด้าน โดยการจัดลำดับการลงพื้นที่แต่ละสัปดาห์ จะยึดข้อมูลจากทราฟฟี่ ฟองดูว์ ประกอบการพิจารณา

“การทำผู้ว่าฯสัญจรครั้งที่2 เราจะเข้าไปติดตาม แก้ไข ปรับปรุงทุกอย่างให้ดียิ่งขึ้น หากประชาชนพบปัญหา หรืออยากให้ไปลงพื้นที่สามารถแจ้งได้ที่ทราฟฟี่ ฟองดูว์ หรือศูนย์กทม. 1555 หรือแจ้งสำนักงานเขต สก.ในพื้นที่ โดยเฉพาะทราฟฟี่ ฟองดูว์ สามารถแจ้งได้เลย เพราะก่อนจะลงพื้นที่เราจะติดตามปัญหาจากทราฟฟี่ ฟองดูว์ ว่าเขตใดมีปัญหาเยอะที่สุด รวมถึงติดตามปัญหาที่ถูกร้องเรียนผ่านสำนักงานเขตและ สก. เพื่อรวบรวมและกำหนดการลงพื้นที่ตามลำดับต่อไป ถ้ามีเวลาผมอยากให้มีผู้ว่าฯสัญจรมากกว่านี้ เพราะประชาชนได้พบผู้ว่าฯโดยตรง และปัญหาถูกแก้ไขตรงจุดชัดเจน“ นายสิทธิชัย กล่าว