นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อสำรวจและติดตามพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร เผยความคืบหน้าการดำเนินงานภายหลังจัดตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า จากการติดตาม ปัจจุบันได้รับรายงานจำนวนบ้านรุกล้ำริมคลองสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว 10 สำนักงานเขต เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ข้อมูลไม่ตรงความเป็นจริง ยกตัวอย่าง เขตสายไหม มีรายงานบ้านรุกล้ำจำนวน 1 หลังคาเรือน แต่ความเป็นจริงมีนับร้อยหลังคาเรือน และมีหลายเขตรายงานว่าไม่พบผู้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ซึ่งความเป็นจริงยังมีอยู่มาก ก่อให้เกิดข้อสงสัยที่ต้องดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ยังพบศูนย์การค้าย่านบางแค ก่อสร้างคร่อมคลองลำกระโดง ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่กลับไม่มีการเร่งรัดตรวจสอบดำเนินการ

 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า การปกปิดข้อมูลดังกล่าวสันนิษฐานว่า เป็นการหลีกเลี่ยงดำเนินการ เพราะกลัวถูกเร่งรัดให้ดำเนินการจากฝ่ายบริหาร กทม. จึงจำเป็นต้องรายงานจำนวนน้อย หรือไม่มีเลย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการติดตามและเร่งรัดอย่างจริงจังต้้งแต่แรก จึงทำให้เกิดจำนวนบ้านรุกล้ำสะสมจากจำนวนน้อยจนมากขึ้น เป็นเหตุให้การรื้อถอนทำได้ยาก เพราะผู้รุกล้ำเกิดการรวมตัว ดังนั้น หน้าที่ของคณะกรรมการฯดังกล่าว จึงต้องตรวจสอบ เร่งรัด และช่วยสำนักงานเขตหาทางแก้ไข เพราะเรื่องนี้มีผลต่อการใช้งบประมาณในการดำเนินการป้องกันน้ำท่วมของ กทม. เช่น การสร้างเขื่อนในลำคลอง ที่ผ่านมาพบปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานก่อสร้าง เนื่องจาก กทม.ไม่สามารถรื้อถอนบ้านรุกล้ำริมคลองเพื่อคืนพื้นที่ก่อสร้างแก่ผู้รับเหมาได้ อีกทั้ง กทม.ไม่สามารถฟ้องร้องผู้รับเหมาที่ทิ้งงานได้ เพราะ กทม.คืนพื้นที่ในการก่อสร้างไม่ได้ ติดบ้านรุกล้ำ เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาต้องยุติการก่อสร้าง

 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า การแต่งตั้งบุคลากรให้เหมาะกับงานเป็นเรื่องสำคัญ ปัญหาที่พบคือการละเลยของเจ้าหน้าที่ เช่น มีการรับตำแหน่งผู้อำนวยการเขต 2 ปี ก่อนโยกย้าย ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง และไม่มีการติดตามการดำเนินงานจากฝ่ายบริหาร กทม.อย่างจริงจัง รวมถึงมีการฟ้องร้องเพื่อยืดระยะเวลาดำเนินการรื้อถอนออกไปตามกระบวนการกฎหมาย 2-4 ปี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตที่มารับตำแหน่งใหม่จึงไม่มีการสานต่อ ทำให้การดำเนินการล่าช้า ไม่จบสิ้น ขณะที่ฤดูฝนกำลังจะมา แนวทางดำเนินการตามแผนป้องกันน้ำท่วมตามงบประมาณที่ได้รับของกทม.ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่ดำเนินการหรือปล่อยให้มีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะเป็นเวลานาน เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ นายสิทธิชัย กล่าวว่า ถือว่าเข้าข่าย หากมีการเร่งรัดติดตามไปแล้วแต่เขตไม่ดำเนินการตามกฎหมาย ทำให้สงสัยว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯจะอาศัยมาตรา 157 ในการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานของเขตด้วยเช่นกัน ซึ่งเขตต่อไปที่จะติดตามข้อมูลคือเขตหนองจอก

 

“หากมีการติดตามข้อมูลพื้นที่สาธารณะครบถ้วนแล้ว แต่เขตยังไม่ดำเนินการ คณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่จริง และนำเรื่องรายงานข้อเท็จจริงต่อสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้บริหาร กทม.ตอบว่าจะมีมาตรการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร” นายสิทธิชัย กล่าว

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร วันที่ 4 มี.ค.67 ระบุว่า การก่อสร้างช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ถึงบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ความยาว 581 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพมหานครถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา ความยาว 5,000 เมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้า 15.30% ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาว 10,000 เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ความคืบหน้า 18.27% ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 10,700 เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ความคืบหน้า 31.40% (ข้อมูล 3 มี.ค. 67)

 

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำคลองเปรมประชากร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากการสำรวจพบบ้านรุกล้ำ 4,398 หลัง ในพื้นที่ 32 ชุมชน อยู่ในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร ปัจจุบันทำการรื้อย้ายแล้ว 1,196 หลัง ที่เหลืออยู่ระหว่างการเจรจาขอความร่วมมือ