ประธานกกต. ยันไม่ได้เร่งรัดชง 'ยุบพรรคก้าวไกล' บอกเทียบไม่ได้กับการยื่นยุบ 'ภูมิใจไทย' เหตุเป็นคนละกรณีกัน แย้มยื่นเอกสารประกอบเพิ่มเติมกรณียุบก้าวไกล ให้ศาลรธน.ไปแล้ว 'ชูศักดิ์' ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคได้โดยง่าย ด้าน"วราวุธ" ย้ำก่อนปรับครม.ต้องมีคุยพรรคร่วม ยัน นายกฯ ยังไม่ส่งสัญญาณเรื่องนี้

     ที่อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่องพรรคการเมืองสร้างชาติ และการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการพรรคการเมือง โดยมี นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ,นายภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายวุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมการเสวนา ทั้งนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวเปิดงาน และนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. กล่าวรายงาน โดยมีสมาชิกพรรคการเมืองเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
     
โดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า พรรคการเมืองทุกพรรคล้วนแต่มีเจตนาต้องการเข้ามาบริหารบ้านเมือง นำนโยบายมาใช้เพื่อประโยชน์ประชาชน คงไม่มีพรรคใดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฝ่ายค้านไปตลอดชีวิต สำหรับประเทศไทยบริบทของกฎหมายที่เขียนรับรองในรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ตั้งพรรคการเมืองได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งในมาตรา 45 ข้อสำคัญระบุว่า พรรคที่จะจัดตั้งขึ้นต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสมาชิก
   
  การให้สมาชิกมีส่วนร่วม ไม่ให้บุคคลที่มาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง และต้องไม่ให้สมาชิกเข้าไปดำเนินการผิดกฎหมายเลือกตั้ง จากนั้น มีการตรากฎหมายพรรคการเมือง โดยล้อบทบัญญัติมาตรา 45 แล้วมาสร้างข้อจำกัดมากมาย เช่น การห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำพรรคโดยบุคคลภายนอกไม่ใช่สมาชิกพรรค ซึ่งหากทำสามารถยุบพรรคได้ และมีการกำหนดเรื่องยุบพรรคไว้ในหลายๆมาตรา
    
 จากบริบทดังกล่าวหมายความว่าพรรคการเมืองตั้งขึ้นแล้วถูกกำกับด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พรรคการเมืองจึงขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบ ว่าจะแข็งอ่อนหรือมองบริบทการเมืองไทยอย่างไร ส่วนใหญ่กฎหมายใดๆที่เกิดขึ้นหลังรัฐประการ บริบทการควบคุมพรรคการเมืองจะค่อนข้างเข้มงวด ทางออกที่ดีทีสุดคือต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยขึ้น
    
 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรามีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายพรรคการเมือง แต่ปัญหาอุปสรรคสำคัญของพรรคการเมือง คือ ขาดความต่อเนื่อง พรรคการเมืองบริหารบ้านเมืองสักพักก็ยึดอำนาจ ยุบพรรค พรรคไทยรักไทยเราโดนมาแล้ว ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการบริหารบ้านเมือง ตนจึงไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคได้โดยง่าย เราเคยเสนอแก้ไขให้ตัดเรื่องการยุบพรรคออก แต่สุดท้ายไม่สำเร็จ
    
 นอกจากนี้ เราต้องสร้างนักการเมืองมืออาชีพให้มาบริหารพรรคการเมืองให้ได้ อีกประการคือบริบทของกฎหมายที่มาควบคุมพรรคการเมือง ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่เช่น การที่พรรคการเมืองต้องทำตารางให้คณะกรรมการการเลือกตั้งว่านโยบายจะใช้งบเท่าไหร่ ต้องทำผลวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของนโยบาย ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องสังคยานาทำให้กฎหมายพรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยมั่นคงกว่าที่เป็นอยู่
    
 ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการส่งเอกสารเพิ่มเติมประกอบคำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ว่า ส่งคำร้องเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา สิ่งที่ส่งไปคือเอกสารประกอบฉบับหนึ่งที่อยู่ในคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยื่นมาถึง กกต.และมีความไม่ชัดเจน เอกสารส่วนหนึ่งที่เลือนราง อ่านลำบาก จึงขอให้สำนักงาน กกต.ไปขอรับสำเนาเอกสารที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและส่งให้เรียบร้อยแล้ว
    
 ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย นายอิทธิพร กล่าวว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา 93 ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อให้นายทะเบียนพิจารณาว่าเรื่องนี้สมควรที่จะเสนอ ให้กกต.พิจารณาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีระยะเวลาตามระเบียบ 30 วัน แต่สามารถขอเพิ่มระยะเวลาได้ เพราะบางทีเกี่ยวข้องกับบุคคล รวมถึงต้องมีการขอเอกสารและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา
    
 เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำร้องขอให้พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทยมีความล่าช้ากว่าพรรคก้าวไกล นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้นเป็นคำร้องเกี่ยวกับเรื่องเงิน ส่วนของพรรคก้าวไกลก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง และอำนาจหน้าที่ของ กกต.ก็เป็นคนละมาตรากัน เนื่องจากของพรรคภูมิใจไทยเป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา 93 ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมือง
    
 ขณะที่ข้อร้องเรียนของพรรคก้าวไกลใช้กระบวนการตามมาตรา 92 ระบุว่า เมื่อกกต.เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น ให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกระบวนการก็เลยไม่ช้า ดังนั้น หากดูตามระเบียบของ กกต.ไม่ได้มีการเร่งรัดแต่อย่างใด
    
 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการประชุมใหญ่ของพรรควันที่ 20 เม.ย.นี้ จะมีการปรับทัพใหญ่ ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเหมือนพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นการทำงานระหว่างรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ เรายังเชื่อในความกลมกล่อมของการมีคนทำงานร่วมกันหลายรุ่น ไม่ใช่จะโละเอารุ่นใหม่อย่างเดียว หรือมีแต่รุ่นใหญ่อย่างเดียว และตอนนี้จะยังไม่มีการปรับตำแหน่งสำคัญๆ ภายในพรรค ส่วนจะมีการนำคณะรัฐมนตรีไปประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่นั้น หากจะจัดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีไม่มีความสมเหตุสมผล เนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และสุพรรณบุรีก็เป็นจังหวัดเล็กที่ยังไม่เจริญ และยังขาดอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องการพัฒนาจังหวัดและงบท้องถิ่น และการที่เราเป็นจังหวัดไม่ใหญ่ มีประชากรเพียง 800,000 คน มีพื้นที่ 10 อำเภอ ดังนั้นพื้นที่หากจะนำ ครม.ไปทั้งคณะอาจจะยังไม่คุ้มค่า แต่ยืนยันว่าการเลือกพื้นที่การประชุม ครม.สัญจรจะต้องคำนึงถึงพรรคร่วมรัฐบาล และตนไม่รีบร้อน จะจังหวัดไหนก็ประเทศไทยทั้งหมด และเราทำงานเต็มที่ทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นว่าจังหวัดสุพรรณบุรีต้องมาก่อน