ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ความเกลียดชังเกิดจากการปลูกฝัง ด้วยตัวเราเองหรือใครมาช่วยปลูกฝังให้กันหนอ?

ผมเป็นคนชอบดูหนังในโรงภาพยนตร์ เพราะมันได้อารมณ์เต็มตาเต็มหูทั้งภาพและเสียง และมีสมาธิดีกว่าดูช่องที่ต้องเสียเงินซื้อในทีวีที่บ้าน แต่สองสามปีมานี้ไปโรงภาพยนตร์น้อยลง เพราะรู้สึกอึดอัดในเวลาที่เห็นคนอื่น ๆ ในโรงภาพยนตร์ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงในเวลาที่มีเพลงสรรเสริญพระบารมี ผมเองก็ไม่ใช่คนคลั่งสถาบันอะไรนักหนา เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมคนสมัยนี้จึงทำแบบนั้น ไม่เฉพาะแต่พวกวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว แต่คนที่มีอายุมาก ๆ ก็ทำตามเด็กนั้นด้วย หรือว่าคนเหล่านั้น “เกลียดชัง” สถาบันจริง ๆ

ผมเลยนึกถึงเด็กสาวคนหนึ่งที่เป็นจำเลยในคดีเกี่ยวกับการดูหมิ่นสถาบัน หรือที่เรียกว่า “มาตรา 112” ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ” โดยในคดีนั้นผมได้ไปเป็นพยานในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ให้กับตำรวจที่ไปจับกุม เพื่อยืนยันว่าเด็กสาวคนนั้นได้กระทำผิดตามมาตรานั้นหรือไม่ จากนั้นตำรวจก็ส่งคดีให้อัยการสั่งฟ้อง เมื่อคดีนี้ขึ้นศาล อัยการก็ขอให้ผมไปช่วยยืนยันคำให้การที่ได้ให้ไว้กับตำรวจนั้นต่อหน้าท่านผู้พิพากษาอีกครั้ง แต่ถึงตอนนี้คดีนี้ก็ยังไม่ได้ตัดสินออกมา แต่สิ่งที่ผมได้รู้ก็คือ ชีวิตของคนคนหนึ่งต้องมีอันเป็นไปที่น่าสะพรึงกลัว โดยผมไม่โทษตัวเด็กสาวคนนั้นทั้งหมด แม้เธอจะมี “ส่วนร่วม – ส่วนเป็น” กับสถานภาพดังกล่าว

“ภัสรินทร์” คือนามสมมติของเด็กสาวคนนั้น ที่ต่อไปนี้ผมจะเรียกเธอสั้น ๆ ว่า “ริน”

แรก ๆ ผมก็เหมือนกับคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่พอได้ข่าวหรือเห็นข่าวว่ามีการกระทำที่จาบจ้วงต่อองค์พระมหากษัตริย์ ก็จะรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้น เหมือนว่ามีใครมาทำร้ายคนที่เรารักและเคารพ แต่จากการที่ได้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญให้กับคดีนี้ ทำให้ผมมองเห็นภาพที่กว้างและลึกมากขึ้น เพราะผมเกิดความสนใจว่า ทำไม “ริน” จึงเกิดความเกลียดชังพระมหากษัตริย์ ผมจึงขอรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติตัวเธอกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ของเธอจากตำรวจ รวมถึงที่ผมได้ไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ผนวกกับความรู้และข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นไปในบ้านเมือง ที่มีคนกลุ่มนี้เป็นผู้กระทำ จนได้พบว่ารินก็คือ “เหยื่อคนหนึ่ง” ของระบบสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า โดยมีเบื้องหลังบางอย่าง(เพราะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่อง “เบื้องหลัง” นี้)เป็นสิ่งกำหนด

รินเกิดในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี โดยเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ แต่ก็ไม่ได้ถูกเลี้ยงอย่างตามใจแบบไทย ๆ หรือถูกเลี้ยงให้รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ อย่างฝรั่ง คือเลี้ยงกันไปตาม “ความนิยม” ของคนไทยทั่วไป เป็นต้นว่า ไม่ให้มีความแตกต่างจากเด็กคนอื่น โดยเฉพาะลูกของเพื่อน ๆ ของพ่อแม่ ลูกคนอื่นเขามีอะไรก็ให้มีด้วยอย่างนั้น โรงเรียนก็ต้องเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือมีกลุ่มเพื่อนดี ๆ เพื่อจะได้มีอนาคนดี ๆ รวมถึงให้เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ ซึ่งรินก็ถูกเลี้ยงมาอย่างนั้นจนจบมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อปีก่อน ในคณะที่สอนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ซึ่งเธอชอบมานานตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม

พ่อของรินเป็นผู้จัดการแผนกในบริษัทของต่างประเทศแห่งหนึ่ง แม่เป็นแม่บ้านและมีอาชีพเสริมให้เช่าพื้นที่ค้าขายในตลาดนัด 2 แห่ง กับมีห้องในตึกแถวในซอยเข้าบ้าน เปิดเป็นสปานวดไทยและเสริมสวย จึงถือว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี บ้านที่อยู่ก็เป็นบ้านจัดสรร ซื้อมาตั้งแต่ที่พ่อแม่แต่งงานกันใหม่ ๆ ตอนที่รินเพิ่งคลอด แม่ได้จ้างพี่เลี้ยงมาช่วยงานบ้านและเลี้ยงริน 1 คน แต่พอรินโตเข้าชั้นมัธยม ก็จ้างแบบเหมามาทำความสะอาดในวันเสาร์อาทิตย์ อาหารที่ทานก็จะมีมื้อเช้าที่แม่ทำ ส่วนกลางวันและเย็นก็ทานนอกบ้าน อย่างพ่อก็ทานที่ทำงาน รินก็ทานที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ส่วนแม่ก็ทานตามสะดวก เพราะที่ร้านสปาก็มีคนเดินซื้อของให้อยู่ด้วย โดยแม่มีหน้าที่รับส่งรินไปโรงเรียนจนจบชั้นมัธยมปลาย แต่พอรินเข้ามหาวิทยาลัยก็เดินทางไปเอง โชคดีที่มีรถไฟฟ้าไปถึงมหาวิทยาลัย ก็สะดวกและปลอดภัยเป็นที่ไว้ใจของพ่อและแม่

รินเล่าให้ตำรวจฟังเมื่อถูกถามว่า “สนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่” เธอก็ตอบว่า ตั้งแต่ที่จำความได้ประมาณ 7-8 ขวบ หลังอาหารค่ำเธอก็ชอบดูโทรทัศน์กับพ่อ พ่อของเธอชอบดูข่าวในราชสำนัก รวมถึงข่าวเกี่ยวกับการเมือง ที่ตอนนั้นเป็นรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร พ่อชื่นชมว่ามีนโยบายดี ๆ มากมาย ทำให้คนยากจนและคนในชนบทลืมตาอ้าปากได้ แต่ในปี 2549 ก็ถูกทหารยึดอำนาจ พ่อชอบพูดถึงตำรวจว่าแย่มาก ๆ ชอบจับคนไปทรมานให้รับสารภาพ หรือ “ยัดข้อหา” พ่อบอกว่าคนเสื้อแดงต้องการความยุติธรรม พ่อชอบพูดคำว่า “ประเทศไทยล้าหลัง” รวมถึงรัฐบาลที่เลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม

ในปี 2554 เธอขึ้นชั้นมัธยม 1 ในโรงเรียนสตรีชื่อดังที่อยู่ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เธอได้อ่านเกี่ยวกับความเป็นมาของอนุสาวรีย์แห่งนี้ ซึ่งได้ทำให้เธอได้รู้จักกับ “คณะราษฎร” ที่ต่อสู้กับพระมหากษัตริย์ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือการโค่นล้มเปลี่ยนแปลงอำนาจพระมหากษัตริย์ เธอยิ่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาก ๆ ก็ยิ่งรู้ว่า ทหารยึดอำนาจบ่อยครั้ง นักการเมืองทะเลาะกัน และประเทศไทยมีความล้าหลังในเรื่องประชาธิปไตยจริง ๆ อีกทั้งเธอยังสนใจเรื่องความเท่าเทียม ความยุติธรรม และสิทธิของเด็กและสตรี ผ่านนิทรรศการที่โรงเรียนจัดขึ้นนั้นด้วย พอดีกับในปีนั้นมีการเลือกตั้ง และพรรคของน้องสาว ดร.ทักษิณ คือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งทำให้เธอสนใจว่า ผู้หญิงอย่างเธอก็น่าจะ “เป็นอะไร ๆ” ได้มากเหมือนกัน อย่างน้อยเธอก็มีชื่อเสียงอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์

รินกับเพื่อนที่ชอบการเมืองเหมือน ๆ กัน เริ่มตั้งกลุ่มไลน์และเฟสบุ๊ค คุยกันเรื่องการเมือง แรก ๆ ก็ชื่นชมนักการเมืองคนนี้ในทำนองว่าเป็น “ไอดอล” ต่อมาเพื่อนบางคนก็แชร์ข่าวสารและความคิดเห็นของ “ไอดอล” เหล่านั้น รวมถึงความเห็นของนักวิชาการที่เข้ามาให้ความรู้และ “แนะนำ” ในเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่น ในเรื่องทหารและพระมหากษัตริย์ แรก ๆ เธอก็ได้แต่อ่าน และถ้าชอบอันไหนข้อความไหนก็จะแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านด้วย รวมถึงที่ไปกดไลก์หรือแสดงความเห็นในบางเพจนั้นด้วย ในปลายปี 2556 มีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลและนางยิ่งลักษณ์ โดยคณะ กปปส. โรงเรียนของเธอต้องปิด ซึ่งก็ยิ่งกระตุ้นให้เธอสนใจว่าบ้านเมืองนี้กำลังจะเกิดอะไรขึ้น และต่อมาพอข้ามปีใหม่มาได้ยังไม่ถึงครึ่งปี ทหารก็ทำการยึดอำนาจอีกครั้ง

พอขึ้นชั้นมัธยมปลาย เธอก็บอกพ่อกับแม่ว่าเธออยากเรียนรัฐศาสตร์ในชั้นมหาวิทยาลัย เพราะจะต้องมุ่งทำโปรไฟล์(สะสมคะแนนและผลการเรียน)ให้ตรงกับคณะที่จะต้องไปศึกษาต่อ ซึ่งแม่อยากให้เรียนด้านธุรกิจหรือการบริหารมากกว่า แต่พ่อกลับเห็นดีด้วย โดยอยากให้เป็นในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามพอถึงเวลาที่ไป “สอบตรง” เธอกลับต้องเลือกในกลุ่มคะแนนที่รองลงมา คือเป็นในคณะรัฐศาสตร์ แต่เป็นในด้านสังคมวิทยา ซึ่งแค่นั้นพ่อกับแม่ก็ดีใจมาก และฉลองให้เธออยู่หลายวัน

ชีวิตก็เหมือน “ผ้าผืน” ที่ถูกถักทอไปเรื่อย ๆ ทีละเส้น ทีละสี โดยที่ไม่รู้จะไปจบผืนสิ้นปลายที่ตรงไหน แล้วแต่ว่าชีวิตของแต่ละคนนั้น “สั้น” หรือ “ยาว”