เพิ่มดีกรีทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับ กระแสกดดันให้มีการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน ในโรงเรียน สถานการศึกษาต่างๆ ที่มีขึ้นเป็นระยะๆ

นอกจากโทรศัพท์มือถือแล้ว บรรดาแอปพลิเคชัน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “แอป” ของสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม หรือไอจี เอ็กซ์ หรือเดิมคือทวิตเตอร์ และติ๊กต็อก ก็พลอยถูกกระแสกดดัน ให้ห้ามใช้ หรือแบนกันไปด้วย

ด้วยเหตุผลต่างๆ แต่หลักๆ ก็คือ เพื่อให้เด็กนักเรียนมีสมาธิกับการเรียน

แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น ก็คือ ติ๊กต็อก ที่เจอเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติเข้าไปด้วย อย่างกรณีคำสั่งห้ามของทางการสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าติ๊กต็อก เป็นแอปฯ ที่มาจากจีน ประเทศคู่ปรปักษ์กับสหรัฐฯ ในหลายๆ ด้าน

โดยในเรื่องโทรศัพท์มือถือ ก็ได้มีหลายๆ โรงเรียนของประเทศต่างๆ ทั้งในฟากสหรัฐฯ และฝั่งยุโรป รวมไปถึงแม้กระทั่งรัสเซีย ก็ได้ห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือ ในระหว่างที่พวกเขาอยู่ในระหว่างการเรียนในชั้นเรียน หรือห้องเรียน ถึงขนาดจัดทำเป็นนโยบายระดับโรงเรียน หรืออย่างน้อยเป็นคำสั่ง เป็นกฎระเบียบของทางโรงเรียนกันเลยก็มี นอกเหนือจากการขอความร่วมมือ ซึ่งถือเป็นมาตรการแบนมือถือระดับเบาสุด

ในการห้ามใช้ ส่วนใหญ่ก็ห้ามเฉพาะในชั้นเรียน คือ ห้ามเอาโทรศัพท์มือถือเข้ามาในห้องเรียนด้วย โดยทางโรงเรียน หรือครูอาจารย์ผู้สอน ก็จะจัดสถานที่สำหรับการเก็บโทรศัพท์มือถือของแต่ละคนเอาไว้มุมใดมุมหนึ่งนอกห้องเรียน หรือถ้าจะเอาเข้ามา ทางครูอาจารย์ ก็จะมีภาชนะสำหรับเก็บโทรศัพท์มือถือไว้กับครูอาจารย์ เมื่อเลิกชั้นเรียน หรือเลิกคลาส ก็ค่อยนำเอากลับคืนไป

โทรศัพท์มือถือของนักเรียนถูกรวบรวมไว้บนโต๊ะครู เพื่อจะได้ไม่นำไปใช้ในระหว่างเรียน (Photo : AFP)

อย่างไรก็ดี ก็มีกลุ่มผู้ปกครองทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือคำสั่งแบนโทรศัพท์มือถือข้างต้น

โดยในส่วนของกลุ่มผู้ปกครองที่เห็นด้วย ก็เห็นว่า เพื่อต้องการให้บุตรหลาน มีสมาธิอยู่กับการเรียน ไม่ติดโซเชียลมีเดีย จนเสียการเรียน ดังนั้นจึงสมควรที่จะออกนโยบาย หรือออกคำสั่งห้าม

อย่างไรก็ตาม ภายในกลุ่มผู้ปกครองที่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือคำสั่งห้ามเด็กนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียนนั้น ก็ยังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายด้วยเหมือนกัน เพราะได้มีผู้ปกครองกลุ่มนี้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนมากเลยก็ว่าได้ ที่อยากให้ห้ามเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 18 ปี

ทั้งนี้ มีผลสำรวจความคิดเห็น หรือการจัดทำโพลล์ออกมาเป็นตัวเลขด้วย โดยระบุว่า มีจำนวนถึงร้อยละ 58 หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของบรรดาผู้ปกครองกลุ่มตัวอย่าง ที่สนับสนุน เห็นสมควรแบนการใช้โทรศัพท์มือถือในเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี และในการสำรวจครั้งเดียวกันนี้ ก็ยังพบด้วยว่า ถ้าเป็นผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่ยังเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ปรากฏว่า มีตัวเลขที่เห็นด้วย หรือสนับสนุนถึงร้อยละ 77 เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในการสำรวจดังกล่าว ทางกลุ่มผู้ปกครองก็ยังเห็นว่า โทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กที่มีอายุระหว่าง 4 – 18 ปี ก็มี ซึ่งกลุ่มความคิดเห็นนี้มีจำนวนมากถึงร้อยละ 83 ด้วยกัน

ทางด้าน ในส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือคำสั่ง ตลอดจนกฎระเบียบที่แบนโทรศัพท์มือถือดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ของผู้ปกครองกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยนั้น ก็หวั่นเกรงว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นจากตัวนักเรียนเอง หรือจากทางบ้านของนักเรียน ก็จะได้ใช้โทรศัพท์มือถือนี้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสาร

ขณะที่ ผู้ปกครองกลุ่มนี้อีกส่วนหนึ่ง ก็ยังเห็นว่า โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้สำหรับค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ในการเรียน แม้ว่าจะมีบางส่วนที่กังวลว่า เด็กนักเรียนซึ่งเป็นบุตรหลานของพวกเขา อาจดูเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชนก็ตาม

ว่ากันในส่วนของบุคลากรทางการศึกษา และฝ่ายการเมือง อย่างในประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาสนับสนุนให้แบนการใช้โทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น

ถึงขนาดให้ออกเป็นนโยบายห้ามใช้กันอย่างสิ้นเชิงเลยก็มี ซึ่งได้กลายเป็นกระแส จนกลายเป็นแรงกดดันอย่างต่อแวดวงการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในสหรัฐฯ

โดยกระแสดังกล่าวก็เป็นเสียงที่ส่งมาจากครูอาจารย์ที่คร่ำหวอดมากับการสอนในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษามาอย่างยาวนาน รวมถึงยังเป็นครูการสอนวิทยาศาสตร์อีกต่างหากด้วย

ขณะที่ ฝ่ายการเมืองนั้น ก็มีทั้งฝ่ายบริหาร ผู้ปกครองท้องถิ่นในรัฐต่างๆ และเมืองฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส

ต่างออกมาประสานเสียงกดดันเพื่อให้ทางการออกเป็นนโยบายห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียนอย่างเด็ดขาดข้างต้น

โดยคุณครูวิชาวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงประสบการณ์ในห้องเรียนที่เขาสอน จนนำไปสู่การมาร่วมสมทบกับการให้ทางการสหรัฐฯ คลอดเป็นนโยบายอย่างจริงจังขึ้นมาว่า นักเรียนในห้องที่เขาสอนนั้น มีทั้งส่งข้อความ หรือแชตสนทนา ฟังเพลง ดูวิดีโอ เล่นเกม เช็คโซเชียลมีเดีย หรือถึงขั้นช้อปปิ้งสั่งซื้อสินค้ากันในระหว่างที่มีการเรียนการสอนก็มีให้เห็นบ่อยๆ ซึ่งการใช้โทรศัพท์มือถือในชั้นเรียนข้างต้น ทำให้นักเรียนไม่มีสมาธิ เพราะถูกโทรศัพท์มือถือเบี่ยงเบนความสนใจ จนทำให้เสียสมาธิในการเรียน

ทางด้าน ฝ่ายการเมืองอย่างผู้บริหารท้องถิ่นในรัฐแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน ออกมาแสดงการสนับสนุนให้เขตการศึกษาทั้งหมดและคณะกรรมการด้านการศึกษาออกนโยบาย คลอดกฎระเบียบห้ามนักเรียนนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้นักเรียนได้มีสมาธิในการเรียน และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในห้องเรียนก็ดีขึ้นด้วย พร้อมทั้งยกผลการศึกษาหลายฉบับขึ้นมาสนับสนุนด้วยว่า นักเรียนเรียนหนังสือในห้องเรียนได้ดีขึ้น เมื่อพวกเขาไม่มีโทรศัพท์มือถือ เปรียบเทียบกับนักเรียนที่มีโทรศัทพ์มือถือ แบบเรียนไปดูไปแล้ว พบว่า พวกเขามีสมาธิในการเรียนลดลง เพราะถูกโทรศัพท์มือถือรบกวน และปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างก็ไม่ดี เพราะเอาแต่ดูโทรศัพท์ จนไม่พูดคุย หรือพูดคุย ก็น้อยมากเพื่อนๆ รอบข้าง

แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ีมีกระแสว่าจะถูกแบนในเด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน (Photo : AFP)

นอกจากโทรศัพท์มือถือที่ควรเป็นของต้องห้ามในห้องเรียนแล้ว บรรดาฝ่ายการเมืองจำนวนหนึ่ง ก็ยังเห็นว่า สมควรที่จะแบนโซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชนด้วยอีกต่างหาก ซึ่งเบื้องต้นได้พบมีบางรัฐได้เริ่มแบนกันไปแล้ว ว่า นายรอน ดิซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ได้คลอดกฎหมายแบนโซเชียลมีเดียกับเด็กเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะโซเชียลฯ เป็นอันตรายต่อเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสียสมาธิ ความวิตกกังวล รวมไปถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ตลอดจนโรคจิตต่างๆ ตามมา