ใกล้จะครบ 6 เดือนในอีกไม่กี่เพลาข้างหน้า แต่สถานการณ์สู้รบยังดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง

สำหรับ “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” ที่ “กองกำลังป้องกันอิสราเอล” หรือ “ไอดีเอฟ” ซึ่งก็คือ “กองทัพทางการทหาร” นั่นเองหากกล่าวโดยทั่วไป ทำสงครามสู้รบกับ “กลุ่มติดอาวุธฮามาส” และ “กลุ่มนักรบจีฮัดอื่นๆ ของไปาเลสไตน์” เช่น “กลุ่มติดอาวุธอัล-กัสซัม” เป็นต้น ในฉนวนกาซา ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ต่อเนื่องถึง ณ ชั่วโมงนี้

ภายหลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาส บุกข้ามพรแดนจากฉนวนกาซา เข้าไปโจมตีถึงในดินแดนอิสราเอล โดยที่ทางอิสราเอลไม่ทันตั้งตัว หรือที่เรียกว่า บุกจู่โจมอย่างสายฟ้าแลบ รวมถึงการขุดอุโมงค์ เพื่อลักลอบเข้าไปโจมตีอิสราเอลอย่างไม่ให้รู้ตัว ส่งผลให้เบื้องต้นอิสราเอลเป็นฝ่ายสูญเสียทั้งชีวิตทหารและพลเรือนจำนวนนับพันราย และมีผู้ถูกจับไปเป็นตัวประกันอีกนับร้อยราย ซึ่งทางกลุ่มติดอาวุธฮามาส อ้างเหตุผลถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุโจมตีว่า เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลรุกคืบเข้าไปในฉนวนกาซา และการที่อิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในฉนวนกาซาอย่างไม่ชอบธรรม ตลอดจนการเข้มงวดต่อชาวปาเลสไตน์ที่จะเข้าไปยังพื้นที่มัสยิดอัล-อักซอ ถึงขนาดเกิดการปะทะกัน และกระทำการทารุณต่างๆ ต่อชาวปาเลสไตน์ รวมถึงการจับตัวชาวปาเลสไตน์ไปคุมขังจองจำ

ด้วยประการฉะนี้ ทางกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์จึงบุกข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีอิสราเอลในลักษณะแบบ “เอาคืน”

ก่อนที่จะถูกอิสราเอล ปฏิบัติการตอบโต้ ด้วยการโจมตีทางอากาศ และภาคพื้นดิน ใส่เป้าหมายเป็นกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งนอกจากเป็นการโต้ตอบแล้ว ก็ยังเป็นการพยายามหาทางช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับตัวไปด้วย

แรกๆ ก็เป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ที่ตกเป็นเป้าถล่มของกองกำลังไอดีเอฟ ทั้งโจมตีทางอากาศ และปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดิน เช่น เมืองข่านยูนิส และนครกาซาซิตี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเมืองเอกของฉนวนกาซา เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการถล่ม ทางการอิสราเอล ก็ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนทางตอนเหนือของฉนวนกาซา อพยพลงไปทางตอนกลาง หรือไม่ก็ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

หลังจากนั้น กองกำลังไอดีเอฟ ก็บุกถล่มโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินในพื้นที่ตอนกลางของฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนบุกถล่มโจมตี ทางการอิสราเอล ก็ได้ประกาศให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยทางตอนกลางของฉนวนกาซา อพยพลงไปทางใต้

อย่างไรก็ตาม กองกำลังไอดีเอฟ ก็ยังไม่หยุดยั้งปฏิบัติการโจมตีทั้งอากาศและทางบกต่อฉนวนกาซา โดยรุกคืบลงไปทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ที่มีทั้งชาวปาเลสไตน์ในตอนใต้ของฉนวนกาซาที่อาศัยอยู่เดิม และผู้ที่อพยพลี้ภัยเข้าไปใหม่ รวมแล้วมีจำนวนนับล้านคน โดยเมืองทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ที่สำคัญและตกเป็นเป้าหมายการถล่มโจมตี ได้แก่ เมืองราฟาห์ ซึ่งก่อนเปิดฉากโจมตี ทางการอิสราเอลได้ยื่นคำขาดให้ชาวปาเลสไตน์ในตอนใต้ของกาซา รวมถึงเมืองราฟาห์ นั้น อพยพไปยังพรมแดนอียิปต์กันเลยทีเดียว

จากปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังไอดีเอฟของอิสราเอล ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ ก็ปรากฏว่า นำมาซึ่งความสูญเสียแก่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเกือบ 33,000 คนแล้ว และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 75,000 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 8,000 คน ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของพวกเขา

นอกจากความสูญเสียในชีวิตของผู้คนแล้ว การสู้รบที่ส่วนใหญ่มาจากปฏิบัติการโจมตีของทางฟากอิสราเอล ก็ทำให้ฝั่งฉนวนกาซาเสียหายทางทรัพย์สินเป็นบริเวณกว้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงพยาบาลหลายแห่งที่ตกเป็นเป้าถล่ม เช่น โรงพยาบาลอัลชีฟา ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา เป็นต้น ซึ่งทางการอิสราเอลอ้างว่า กลุ่มติดอาวุธต่างๆ รวมถึงฮามาส ใช้โรงพยาบาลเหล่านี้ เป็นแหล่งซ่องสุม และเป็นฐานบัญชาการก่อเหตุ

ด้วยประการฉะนี้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้อิสราเอล ทั้งหยุดยิง และถอนทัพ ออกจากพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อที่องค์กร หน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาด้านมนุษยธรรมต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่กำลังทุกย์ยาก จากพิษภัยของสงครามการสู้รบ เป็นประการต่างๆ แบบให้เข้าถึงกันทุกตรอกซอกถนน เพราะการช่วยเหลือแบบหย่อนสิ่งของบรรเทาทุกข์จากทางอากาศ ตามที่หลายชาติได้ระดมความช่วยเหลือให้แก่ชาวกาซานั้น ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบางครั้งก็ยังก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมก็มี ดังกรณีที่สิ่งของตกใส่ศีรษะต่อผู้ที่เบื้องล่าง จนถึงแก่ชีวิต เพราะร่มชูชีพไม่กาง

ล่าสุด ทางการอิสราเอล นำเสนอแผนการจัดตั้ง “กองกำลังหลายชาติ (Multinational Military Force)” ขึ้น

กองทัพอียิปต์ (Photo : AFP)

โดยแผนการก็จะกำหนดให้ “กองกำลังหลายชาติ” นี้ ปฏิบัติภารกิจหน้าที่คล้ายกับ “กองกำลังรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Force)

พร้อมกันนี้ กองกำลังหลายชาติข้างต้น ยังทำหน้าที่รักษาความมั่นคงภายในฉนวนกาซาอีกด้วย ในที่นี้ทางอิสราเอล ก็หมายถึงการสกัดกั้นกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เช่น ฮามาส ในฉนวนกาซา ไม่ให้มาก่อเหตุอีก

นอกจากนี้ กองกำลังหลายชาติดังกล่าว ก็ยังทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อองค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ฉนวนกาซา

ตามข้อเสนอก็จะให้กองกำลังทางการทหารจาก 3 ประเทศอาหรับ เข้าไปมีส่วนร่วม โดยมีความเป็นไปได้ว่า น่าะเป็นทหารจากกองทัพอียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี และอีกประเทศหนึ่งที่มีสนธิสัญญติภาพกับอิสราเอลเข้าร่วมด้วย

กองทัพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี (Photo : AFP)

โดยจากข้อเสนอของอิสราเอล ก็คาดว่าน่าจะได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งมีรายงานว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารเข้าไปในฉนวนกาซา แต่จะสนับสนุนต่อแผนการสถาปนากองกำลังหลายชาติในลักษณะนี้ ในการเข้าไปดูแลฉนวนกาซา

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มฮามาส ไม่เห็นด้วยกับแผนการสถาปนากองกำลังหลายชาติให้เข้ามาดูแลฉนวนกาซา โดยเห็นว่า เพราะไม่ผิดอะไรกับการที่กองกำลังหลายชาติเหล่านั้น ไปปกป้องกองกำลังไอดีเอฟ และในขณะเดียวกัน ก็เหมือนกับว่า กองกำลังหลายชาติก็จะมาควบคุมฉนวนกาซาแทน โดยที่ชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เองไม่ได้มีส่วนร่วม