วันที่ 3 เม.ย.67 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ในการประชุม นางสาวนภัสสร พละระวีพงศ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกะปิ ได้ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 เนื่องจากกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธาดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 เพื่อขยายเส้นทางการจราจร มีการตัดท่อระบายน้ำ เมื่อเกิดฝนตก น้ำไม่สามารถระบายผ่านท่อระบายน้ำได้ ทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีประชาชนพักอาศัยจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนในการสัญจร เป็นเรื่องเร่งด่วนอยู่ในความสนใจของประชาชน

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงที่มาของปัญหาว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมถนนรามคำแหง 24 ครั้งล่าสุด พบปริมาณฝน 60 มิลลิเมตร เข้าใจว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างถนนรามคำแหง 24 ซึ่งเป็นโครงการสำคัญ และถนนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการจราจร ตามแผนเดิมออกแบบก่อสร้างเป็นถนนยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร แต่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ จึงมีการแก้แบบก่อสร้างเป็นถนนแนวราบ โดยได้รับสนับสนุนพื้นที่จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมระหว่างก่อสร้างโครงการว่า แต่เดิมถนนเส้นนี้เป็นจุดอ่อนน้ำท่วม (ซอยหลัง ม.รามคำแหง) เนื่องจากมีท่อระบายน้ำฝั่งเดียว ขนาด 60 ซม. มีปัญหาขยะและคราบไขมันอุดตัน เพราะเป็นแหล่งชุมชน จากการออกแบบก่อสร้างใหม่เป็นถนนราบ ได้เพิ่มการก่อสร้างท่อคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยม (Box Culvert) สำหรับงานระบายน้ำปริมาณมาก โดยก่อสร้าง 2 ฝั่งถนน ฝั่งแรกขนาดประมาณ 1.5x2.5 และ ฝั่งที่สองขนาดประมาณ 1.5x2.0 เมตร ปัจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการคืบหน้าร้อยละ 14 เนื่องจากมีการปรับแบบก่อสร้างหลายรายการ จึงเพิ่งเริ่มการก่อสร้าง ประกอบกับ มีการก่อสร้างหลายรายการจากโครงการอื่นบริเวณถนนหัวหมาก ซึ่งเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวถนนรามคำแหง 24 สำหรับมาตรการรับมือน้ำท่วมจากผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง Box Culvert สำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำ ร่วมกันกำหนด 8 มาตรการ ได้แก่

 

1.เชื่อมต่อท่อระบายน้ำ PVC 2x300 มิลลิเมตร กับซอยถาวรธวัช 1 เพื่อระบายน้ำลงคลองกะจะ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 6 นิ้ว เพื่อสูบน้ำลงบ่อพักเชื่อมต่อท่อระบายน้ำซอยถาวรธวัช 1 ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 3.ก่อสร้างบ่อสูบน้ำชั่วคราวบริเวณปากซอยรามคำแหง 24 แยก 8 และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 และ 6 นิ้ว เพื่อระบายน้ำไปยังซอยรามคำแหง 24 แยก 6 แล้วเสร็จภายใน เม.ย.67 4.จุดก่อสร้างเว้นช่องแบริเออร์เพื่อรับน้ำฝนลงท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างใหม่ เพื่อสูบระบายน้ำไปซอยถาวรธวัช 1

 

5.ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำซอยรามคำแหง 24 จากแยก 12 - แยก 18 ดำเนินการแล้ว 3 ครั้ง 6.ขณะก่อสร้างผ่านซอยรามคำแหง 24 แยก 18 ต้อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือเชื่อมท่อระบายน้ำเข้ากับระบบ ท่อระบายน้ำซอยดังกล่าว 7.ขณะก่อสร้างผ่านซอยรามคำแหง 24 แยก 20 ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือเชื่อมท่อระบายน้ำเข้ากับระบบท่อระบายน้ำซอยดังกล่าว 8.จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสนับสนุนการระบายน้ำจุดท่วมขัง ได้แก่ ไดโว่ขนาด 6 นิ้ว 3 เครื่อง ขนาด 4 นิ้ว 5 เครื่อง ขนาด 3 นิ้ว 2 เครื่อง

ด้านนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กล่าวความคืบหน้าการก่อสร้างปัจจุบันร้อยละ 14 ว่า อยู่ระหว่างวางท่อระบายน้ำ (Box Culvert) 2 จุด ประกอบด้วย ฝั่งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ปัจจุบันทำได้ประมาณ 200 เมตร ส่วนบริเวณฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหงทำได้ประมาณ 80 เมตร งานหลักคือต้องวางท่อระบายน้ำให้แล้วเสร็จจึงจะคืนผิวจราจรและสร้างช่องรับน้ำได้ เพื่อสามารถระบายน้ำได้ตามปกติ โดยกำหนดเดิมโครงการจะแล้วเสร็จเดือน พ.ค.67 แต่เนื่องจากมีการปรับแบบก่อสร้าง จึงเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาใหม่เป็นเดือน ก.พ.68

 

“หากยังไม่มีการแก้ไข จุดนี้จะเป็นจุดน้ำท่วมของเขตบางกะปิในปีนี้อย่างแน่นอน และจะทำให้การจราจรถนนรามคำแหง-หัวหมากเป็นอัมพาตอย่างแน่นอน” ส.ก.เขตบางกะปิ กล่าวทิ้งท้าย