กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนประเทศไทยเตรียมรับมือพายุฤดูร้อนถล่มระหว่าง 8-11 เมษาฯ ด้านพ่อเมืองแม่ฮ่องสอน กำชับจนท.ที่รับผิดชอบเตรียมพร้อมรับมือแล้ว

     เมื่อวันที่ 7 เม.ย.67 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 2 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 8-11 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป ประกอบกับในช่วงวันที่ 9-11 เม.ย. จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมาและผ่านภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
   

 สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในวันที่ 8 เม.ย. ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจ.บึงกาฬ ,สกลนคร ,นครพนม ,มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด ,ยโสธร ,บุรีรัมย์ ,สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบในวันที่ 9 เม.ย.ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณจ.น่าน ,แพร่ ,อุตรดิตถ์ ,สุโขทัย, กำแพงเพชร ,พิจิตร ,พิษณุโลก ,เพชรบูรณ์ และตาก 
 

   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจ.เลย ,หนองบัวลำภู ,อุดรธานี ,หนองคาย ,บึงกาฬ ,สกลนคร ,นครพนม ,มุกดาหาร ,ยโสธร ,กาฬสินธุ์ ,ขอนแก่น, ชัยภูมิ ,นครราชสีมา, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, อำนาจเจริญ, บุรีรัมย์ ,สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง บริเวณจ.นครสวรรค์ ,อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี ,สระบุรี ,สิงห์บุรี, อ่างทอง ,พระนครศรีอยุธยา ,สุพรรณบุรี ,กาญจนบุรี ,นครปฐม ,สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก บริเวณจ.นครนายก ,ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง ,จันทบุรี และตราด
 

   สำหรับวันที่ 10 เม.ย.พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณจ.เชียงใหม่ ,ลำพูน ,ลำปาง ,อุตรดิตถ์ ,สุโขทัย, พิษณุโลก ,พิจิตร ,เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจ.เลยและชัยภูมิ ภาคกลาง บริเวณจ.นครสวรรค์ ,อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี ,สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง ,พระนครศรีอยุธยา ,สุพรรณบุรี ,กาญจนบุรี, ราชบุรี ,นครปฐม, สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก บริเวณจ.นครนายก, ฉะเชิงเทรา ,ชลบุรี และระยอง
     

นอกจากนี้ พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบในวันที่ 11 เม.ย. ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณจ.แม่ฮ่องสอน ,เชียงใหม่ ,เชียงราย ,ลำพูน ,ลำปาง ,พะเยา ,น่าน ,แพร่ และตาก ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


     ด้าน นายชูชีพ พงษ์ไชย ผวจ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้ติดตามสภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยง กับกรมอตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (68/2567) ลงวันที่ 6 เม.ย.67 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 8-11 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
   

 อีกทั้งในช่วงวันที่ 9-11 เม.ย.67 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลำดับแรก สำหรับภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย. ดังนี้ ภาคเหนือ ทุกจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกจังหวัด ภาคกลาง ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดเพชรบุรี จึงขอให้จังหวัดติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า
   

 ในส่วนของจ.แม่ฮ่องสอน ทางจังหวัดได้มอบหมายให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและติดตามข่าวสารจากทางราชการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง สมกระโขกแรง และลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกร ควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายด้วย