ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่2) พ.ศ. 2567 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.ดินแดง วันนี้ (10เม.ย.67) นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร

นายพีรพล กล่าวว่า แม้รถไฟฟ้าจะอยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม.และ กทม. แต่ส่วนใหญ่วิ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้น กทม.จะปฏิเสธเรื่องความปลอดภัยของประชาชนไม่ได้ ต้องหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุซึ่งอาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Monorail) เพราะไม่มีพื้นระหว่างสองข้างตัวรถ ให้ผู้โดยสารออกมาด้านนอก หากเกิดกรณีรถเสียกลางทาง

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุและเหตุขัดข้องจากการเดินรถไฟฟ้าหลายครั้ง เช่น เหตุชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถไฟฟ้าหลุดร่วงลงมาใส่ยวดยานและผู้สัญจรบนท้องถนนจนได้รับความเสียหายและบาดเจ็บ เหตุรางนำไฟฟ้าหล่นทำให้ต้องหยุดเดินรถและอพยพผู้โดยสารเพื่อความปลอดภัย จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงความชัดเจนในการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าและแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ปัจุบัน กทม.มีรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว 2 เส้นทางที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ คือ สายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มอบให้เอกชนเป็นผู้ดูแล ต่อกรณีดังกล่าว วิศวกรรมทราบดีว่า รถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยวไม่มีพื้นทางให้คนออกมานอกตัวรถเหมือนรถไฟฟ้าแบบรางคู่ (Heavy Rail) เช่น สายสีเขียว (BTS) ซึ่งมีพื้นคอนกรีตรองรับข้างตัวรถ คนสามารถลงมาเดินได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับสายสีเหลืองและชมพู เบื้องต้นมีการป้องกันโดยการติดตั้งตะแกรงเหล็กด้านข้างตัวรถฝั่งหนึ่ง เพื่อสามารถใช้บันไดลงมาจากตัวรถเพื่อเดินสู่สถานีได้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนมาตรการป้องกันต่าง ๆ เป็นความรับผิดชอบของ รฟม.และเอกชน โดยมี กทม.เข้าร่วมด้วยในการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีความเข้มงวด ส่วนกรณีวัสดุตกหล่น เป็นความผิดพลาดระหว่างก่อสร้างคล้ายกับการก่อสร้างทั่วไป ซึ่งกทม.โดยสำนักการโยธาและสำนักการจราจรและขนส่งต้องเข้าไปกำกับดูแล 

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางป้องกันกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ว่า ที่ผ่านมาพบเหตุฉุกเฉินในสายสีเหลือง 2 ครั้ง คือ 1.ล้อยางหลุดร่วง เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67 เวลา 18.21 น. ระหว่างสถานีทิพวัลถึงสถานีศรีเทพา ทำให้รถแท็กซี่ด้านล่างเสียหายและมีผู้บาดเจ็บ 2.รางจ่ายและแผ่นรอยต่อคานร่วง เมื่อวันที่ 28 มี.ค.67 เวลา 08.30 น. ระหว่างสถานีกลันตันถึงสถานีศรีอุดม ทำให้รถยนต์ด้านล่างเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนสายสีชมพู เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดร่วง เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 เวลา 04.42 น. ระหว่างสถานีแคลายถึงสถานีสามัคคี ทำให้รถยนต์ด้านล่างเสียหาย ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

 

นายวิศณุ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายดังกล่าว กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแล และดำเนินการโดย รฟม. ซึ่ง กทม.ไม่นิ่งนอนใจ ได้เข้าร่วมประชุมกับ รฟม.หลายครั้งในการหาสาเหตุและแนวทางป้องกันร่วมกัน เบื้องต้นมีแนวทางป้องกันเหตุฉุกเฉิน ดังนี้ 1.การประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคเพื่อเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางไม่ให้กระทบต่อการจราจร 2.การกำหนดมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่เขตบริเวณ พิกัดปลอดภัย 3.เพิ่มมาตรการด้านการซ่อมแซมและบำรุงรักษา 4.การตรวจสอบสาเหตุที่แน่ชัด ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ 5.การตรวจสอบความแข็งแรงของอุปกรณ์และโครงสร้าง 6.เพิ่มความถี่ในการตรวจสภาพขบวนรถและทางวิ่ง 7.จัดซ้อมตามแผนการเผชิญเหตุ 8.ประชาสัมพันธ์ผู้เกี่ยวข้องกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

 

“กรณีวัสดุร่วงพื้นถนนระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ กทม.ได้กำชับผู้ก่อสร้างว่า หากมีการเทคอนกรีต (ก่อสร้างเปียก) ในพื้นที่ก่อสร้าง ต้องมีการจำกัดพื้นที่หรือปิดถนนใต้บริเวณก่อสร้างดังกล่าว ไม่ให้มีรถผ่าน กทม.จึงจะอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างได้“ นายวิศณุ กล่าว 

#ข่าววันนี้ #รถไฟฟ้า #กทม