10 เมษายน 67  “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นำทัพ นำทีมแถลงข่าวสำคัญ การเดินหน้า “นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ตามที่ได้นัดหมายกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ โดยการแถลงข่าวครั้งนี้  นายกฯเศรษฐา ค่อนข้างอารมณ์ดี

“วันนี้รัฐบาลมีความยินดีที่จะประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายโดยตรงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจ ทั้งระดับประเทศและระดับประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน”  นายกฯเศรษฐา ระบุตอนหนึ่ง ระหว่างการแถลงข่าว

หากถอดรหัสคำพูดของนายกฯที่ว่า รัฐบาลนี้ได้ใช้ “ความพยายามสูงสุด” อีกทั้งฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัด จนมาถึงวันที่ได้ทำตามสัญญา เมื่อครั้งที่ “พรรคเพื่อไทย” ได้เคยให้ไว้กับพี่น้องประชาชน เมื่อคราวหาเสียงเลือกตั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2566 ย่อมทำให้เห็นภาพ และสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ของผู้นำรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ได้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย 

เพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้อย่าลืมว่า พรรคเพื่อไทย และตัวนายกฯ เศรษฐา เผชิญหน้ากับ “แรงต้าน” อย่างหนักหน่วง ทั้งเสียงเตือนรอบด้าน จาก ฝ่ายค้าน นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” อย่าง “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เคยออกมาให้ความเห็นว่า ไม่ควรแจกเงินแบบเหวี่ยงแห  จนทำให้การทำงานระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ถูกจับตามองมาโดยตลอดว่า กินเกาเหลากันหรือไม่

อย่างไรก็ดี  แม้ในการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ในช่วงเช้าเมื่อวันที่ 10 เมษายน ก่อนที่นายกฯจะนำคณะแถลงข่าว กางมาตรการเดินหน้านโยบายแจกเงินหมื่น จะไม่มี ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ร่วมด้วย โดยมีรายงานว่า เจ้าตัวติดเข้าร่วมประชุมกนง.  จนทำให้นายกฯ ถามหาในที่ประชุมก็ตาม

เพราะที่สุดแล้วนายกฯเศรษฐาได้ นำคณะแถลงข่าว นัยว่าเป็น “ของขวัญ” ให้กับพี่น้องประชาชน ก่อนเทศกาลสงกรานต์

สำหรับรายละเอียดของนโยบายแจกเงินหมื่น นั้นจะครอบคลุมประชาชนที่มีอายุเกิน 16ปี จำนวนทั้งสิ้น50 ล้านคน โดยเงินจะถึงมือประชาชนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือราวเดือนตุลาคม เป็นต้นไป ขณะที่ “แหล่งที่มาของเงิน” ที่จะนำมาใช้ทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาทนั้น “ลวรณ แสงสนิท”  ปลัดกระทรวงการคลัง แจกแจงว่า จะมาจาก การบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณในปี 2567 และปี 2568 ควบคู่กันไป

ทั้งนี้จะแบ่งเป็น 3 ทาง คือ 1.จากงบประมาณปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท  2. มาจากการดำเนินการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้ มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 2568 และ 3. มาจากการบริหารจัดการเงินงบประมาณของปี 2567 ของรัฐบาลเอง จำนวน 175,000 ล้านบาท

“ขอยืนยันว่า การดำเนินการแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  มีความกังวล โดย ณ วันที่เริ่มโครงการในปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ทั้งก้อน

ไม่ได้มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันว่ามีเงิน 5 แสนล้านบาทในวันที่เริ่มโครงการแน่นอน ขอให้มั่นใจว่าเราทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน” ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ความมั่นใจ

ทั้งนี้เมื่อรัฐบาล ที่นำโดย นายกฯเศรษฐา แถลงความชัดเจน พร้อมส่งสัญญาณว่า แม้ไทม์ไลน์ “แจกเงินหมื่น” อาจจะเปลี่ยนแปลงจากครั้งแรกที่เคยประกาศเอาไว้ แต่ “ไม่ยกเลิก”  ในทางการเมืองแล้วย่อมถือว่าเป็นการ “การันตี” นโยบาย ว่าทำแน่ อีกทั้งยังเป็นการ “หาเสียง” ตุนคะแนนนิยมเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการปักหมุดว่า เงินจะเข้ากระเป๋าประชาชน 50 ล้านคนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

นอกจากนี้อย่าลืมว่า เมื่อดิจิทัลวอลเล็ต เดินหน้าต่อ ยาวไปถึงปลายปี ยังเป็นการ การันตีเก้าอี้ “นายกฯ”  ให้กับ เศรษฐา ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ก่อนหน้านี้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากนโยบายนี้ไปต่อไม่ได้ ก็อาจจะกระทบกับตำแหน่งนายกฯ ให้มีอันต้องเปลี่ยนตัว กันครบเทอม

แม้วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่า ที่สุดแล้วนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะเดินไปได้ “สุดทาง” แค่ไหน เมื่อถึงไตรมาส4 สิ้นปีนี้ “เงินหมื่น” จะเข้ากระเป๋า ผู้คน 50 ล้านคนได้โดยไม่ สะดุดหรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่งนี่คือสัญญาณ “บวก” ที่ถูกมองว่ามาพร้อมกับ  “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ที่มีอิทธิพลต่อพรรค ต่อนายกฯเศรษฐา และ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่รายล้อมอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ว่าถึงอย่างไร นโยบายแจกเงินหมื่น ซึ่งว่ากันว่าเป็นไอเดียของ อดีตนายกฯทักษิณ  ไม่มีทาง “ล่ม”อย่างแน่นอน

และหากนโยบายนี้สำเร็จลุล่วง คงไม่ต้องประเมินว่าจะส่งผลในทาง “บวก” ดึงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย ให้พลิกเกมกลับไปอยู่ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างสมศักดิ์ศรี แม้ในความเป็นจริง จะยังคงมี “กระแส” ของพรรคก้าวไกล ตามไล่หลังมาติด ๆ!