วันที่ 15 เม.ย.2567 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร  นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ TOPNEWSTV  ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 เม.ย. วิเคราะห์ถึงชนวนเหตุกระเหรี่ยง KNU ยึดเมียวดี ตอนหนึ่งว่า จากเหตุการณ์นี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่ในประเทศไทยเยอะมากและเป็นฝ่ายให้ข่าวที่เข้มข้นในเชิงรุก ซึ่งคำว่าเมียวดี แตก ก็คงเป็นการมองจากคนกลุ่มนี้ เมื่อสื่อไทยได้รับข้อมูลจากตรงนี้ก็อาจจะไปขยายผล จากนั้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็โดนท้วงติงมาอย่างที่เห็นว่า แท้จริงแล้วสหภาพกระเหรี่ยงแห่งชาติ หรือกระเหรี่ยง KNU  ซึ่งมีกองกำลังปีกที่ติดอาวุธคือกระเหรี่ยง KNLA คุมพื้นที่อยู่แล้ว และได้แบ่งปันผลประโยชน์กับทหารเมียนมา มานานแล้ว เป็นพื้นที่ ที่ทำเงินมหาศาล ที่รัฐฉานสเตท  และการแบ่งปันผลประโยชน์ลึกลงไปถึงขั้นที่มีกองกำลังอาสาลาดตระเวนชายแดน อย่างเช่น กลุ่มหม่องชิตตู เราได้เห็นถึงการเจรจาผลประโยชน์ที่ลงตัวมานานหลายปีมาก  เป็นพื้นที่ ที่กระเหรี่ยงKNU ยึดมาจากกระเหรี่ยงพุทธ จากกระเหรี่ยงกลุ่มอื่น จากนั้นมาทำข้อตกลงกับทหารเมียนมา แบ่งปันผลประโยชน์ตามแนวชายแดน เรืองด่าน เรื่องส่วย มีธุรกิจสีเทาเต็มไปหมด มีคนที่ค้าขายเป็นชาวต่างด่าวนับหมื่นๆคน  ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน เมียนมา อินเดีย และยังมีกองกำลังอาสาสมัครช่วยลาดตระเวนดุแลคุ้มกันการเข้า-ออก เป็นแบบนี้ในทุกพรมแดน

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป คือกองกำลังหลายกลุ่มที่ตกลงกัน ทหารเมียนมาบอกว่า ไม่ขอแบ่งผลประโยชน์แล้ว จะขอทำเอง  และจากการที่มีการพูดคุยกันในรอบ 2-3คืนที่ผ่านมา มีตัวเลขที่เห็นและเข้าใจได้ว่าขอเองร้อยเปอร์เซ็นต์ และในระหว่างการเจรจาก็ขอให้เจ้าหน้าที่ ที่ด่านคงอยู่ ซึ่งไม่มีการรบ ด่านก็ไม่ได้ปิด ดังนั้นผลประโยชน์ก็ต้องเดิน คนก็ต้องเดินทางเข้า-ออก  ระหว่างที่มีการเจรจา ก็มีการเตรียมกำลัง ซึ่งกลุ่มที่อยู่ตามแนวชายแดนก็มีการแปรพักต์ ไม่ลาดตระเวนให้แล้ว แต่จะลาดตระเวนให้กับทหารกระเหรี่ยง KNU แทน แต่บางส่วนก็ไม่เอา จะขอกลับไปอยู่กับทหารเมียนมา จุดนี้อาจจะเป็นเชื้อ ให้มีการโต้กลับ

ทั้งนี้บรรดา2-3พันคนที่ไหลไปอยู่กับกลุ่มหม่องชิตตู ก็อาจจะไปอยู่กับทหารเมียนมาอีก  บางส่วนก็จะกลับมาอยู่กับทหารKNU และลาดตระเวนตามแนวชายแดน ซึ่งก็จะไม่ใช่ทหาร KNLA ที่ลาดตระเวน แต่จะเป็นทหารเดิม ดังนั้นอาจจะกระทบกับไทยไม่มาก  ซึ่งกองกำลังของไทยก็ต้องจัดการพูดคุยกับคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสัดส่วนในการแบ่งปันผลประโยชน์ และเปลี่ยนการควบคุม รัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ถอยออกไป ส่วนการถอยออกไปแล้วจะมีการล้างแค้น หรือมีการตอบโต้กลับ  ทำลายโรงงาน ทำลายแหล่งเศรษฐกิจหรือไม่จะต้องดูให้ดี  เพราะหากเป็นการตัดสินใจทุบหม้อข้าวตัวเอง เมื่อมองเห็นแล้วว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยก็คงจะมีการโจมตีกลับ และทำลายพื้นที่เศรษฐกิจตรงนี้ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่เข้มแข็งต่อกองกำลังที่เคยเซ็นต์สัญญายุติการรบชั่วคราวกับเขาไปแล้วในบรรดา 17กลุ่ม  คือกลุ่ม KNUที่ได้เคยเซ็นต์สัญญาสงบศึกไป 12 ปีมาแล้ว

เพราะฉะนั้นเราจะไม่เห็นการรบแบบเมืองแตก หรือสงครามกลางเมือง อย่างที่อีกฝ่ายต้องการเห็น คือฝ่ายประชาธิปไตย  ฝ่ายNUG ซึ่งมีความแค้น เพราะถูกแย่งอำนาจมาจากทหารเมียนมา และตั้งรัฐบาลทหารขึ้นมา เพราะฉะนั้นการให้ข่าวว่า แพ้แล้ว เพลี่ยงพล้ำแล้ว ซึ่งมันมีผลต่อขวัญกำลังใจต่อทหารเมียนมาทั้งระบบ ทั้งประเทศเลย  ถือเป็นสงครามจิตวิทยาชั้นสูง ซึ่งเรื่องนี้เขาคงขอบคุณหลายประเทศที่ให้เขาได้ใช้พื้นที่ช่วยทำสงครามจิตวิทยา ส่วนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้นๆ ที่เขาได้ใช้พื้นที่อยู่หรือไม่  อย่างรัฐบาลพลัดถิ่นก็อยู่ในประเทศตะวันตก บริษัทที่ส่งเงิน ส่งเสบียงให้ ก็เป็น 1ใน 3 ประเทศที่อยู่ในอาเซียน เพราะฉะนั้นเครือข่ายเหล่านี้มีความซับซ้อน มีภาพหลายภาพซ้อนกันอยู่ 

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จะเริ่มชัดขึ้นว่า ขณะนี้เกิดแบบรัฐซ้อนรัฐ รัฐคู่ขนาน  คือกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เคยตกลงกันว่าจะให้รัฐบาลกลาง ที่เราให้การยอมรับกันอยู่เป็นหน่วยงานที่ดูแลความเรียบร้อยในระบบรัฐเดียว  แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว  ตอนนี้ออกไปในแนวขอตั้งรัฐคู่ขนานกันไปเลย  ขอตั้งรัฐที่จะเตรียมพร้อมเข้าสู่การเจรจาให้เป็นสหพันธรัฐ อาจจะยังไม่ประกาศเป็นประเทศกระเหรี่ยง แต่ขอเป็นรัฐอิสระไปก่อน ด้วยการเก็บภาษี การจัดระเบียบชายแดน ด้วยการเตรียมทหารให้พร้อมเพื่อเข้าสู่โต๊ะการเจรจา แล้วกลับไปในกรอบเดิมว่าจะเป็นกรอบเดิม เป็นสหพันธรัฐเมียนมาหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อตกลงอีกยาวนานว่าใครจะเป็นฝ่ายวางอาวุธ ใครจะแบ่งภาษี ให้รัฐบาลกลางเท่าไหร่ในอดีตรัฐบาลเมียนมาเคยแบ่งรับแบ่งสู้ แต่จากนี้คิดว่าจะไปจุดนั้นยากแล้ว เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาอ่อนแอลง ซึ่งการเจรจาเป็นสหพันธรัฐ อาจจะสามารถทำได้ เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมากลับไปยึดเมืองต่างๆคืน ได้ก่อน