เมื่อวันที่ 16 เม.ย.67 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก "Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล" ระบุว่า การเลือกตั้งและงานสภา ในความคิดของเลนินและกรัมชี่ : ข้อคิดถึง “ผู้แทนราษฎรแบบปฏิวัติ” ในไทย (ถ้ามี) มีรายละเอียดดังนี้

1.”ความแตกต่างระหว่างการใช้สภาดูมาโดยพวกสังคมประชาธิปไตยปฏิวัติกับพวกปฏิรูป (หรือเรียกอย่างกว้าง ก็คือ พวกลัทธิฉวยโอกาส) อาจจำแนกได้ดังข้อสังเกตต่อไปนี้

ในมุมมองทางพฤติกรรม “ภายนอก” ของกลุ่มในสภาของพวกสังคมประชาธิปไตย, ถ้าหากจะกล่าวเช่นนั้น, สิ่งที่แยกพวกฉวยโอกาสออกจากพวกสังคมประชาธิปไตยปฏิวัติ ก็คือ พวกสังคมประชาธิปไตยปฏิวัติต้องขับเคลื่อนการต่อสู้เพื่อต่อต้านแนวโน้มโดยธรรมชาติในสังคมกระฎุมพีทั้งหลาย (และโดยจำเพาะ รัสเซียในยุคปฏิกริยา) แนวโน้มของบรรดาผู้แทนราษฎรและสถาบันการเมืองแบบกระฎุมพีทั้งหลายซึ่งมักมองว่ากิจกรรมสภาเป็นกิจกรรมจำเป็นพื้นฐาน ดุจดังเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง กลุ่มในสภาต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจของเราเพื่อบรรลุภารกิจ อันได้แก่ หน้าที่ในการสนับสนุนประโยชน์ทั้งหลายของของขบวนการกรรมกร สร้างการเชื่อมต่อเข้ากับพรรค ไม่โดดเดี่ยวแยกตัวออกจากพรรค แต่ปกป้องแนวคิดของพรรคและบังคับใช้แนวทางของที่ประชุมใหญ่พรรคและขององค์กรนำของพรรค
ในมุมมองเนื้อหาภายในของกิจกรรมของกลุ่มในสภาของเรา เราต้องไม่ลืมว่า ภารกิจของกลุ่มสังคมประชาธิปไตยต้องดำเนินไปตามเป้าหมายอันก้าวหน้าถึงราก ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายของพรรคการเมืองอื่นๆ ดังนั้น พรรคแรงงาน จะต้องไม่ประนีประนอมโอนอ่อน ไม่แลกเปลี่ยนต่อรองผลประโยชน์กับกลุ่มคนที่ถือครองอำนาจ หรือเดินตามการฉาบปูนบังหน้าของพวกเผด็จการศักดินา-กระฎุมพีโต้ปฏิวัติ แต่พรรคแรงงานต้องใช้ทุกวิธีการเพื่อเร่งเร้าพัฒนาจิตสำนึกทางชนชั้น ความคิดสังคมนิยมอันกระจ่างชัด การกำหนดแนวทางปฏิวัติ และการจัดตั้งมวลชนกรรมกรในทุกส่วน เป้าหมายหลักการนี้ ต้องอยู่ในทุกย่างก้าวของกลุ่มในสภา ด้วยเหตุนี้เอง เราต้องสอดประสานการปกป้องเป้าหมายของการปฏิวัติเข้ากับที่ประชุมสภาดูมา เราต้องอภิปรายรณรงค์ชวนเชื่อในที่ประชุมตามแนวคิดและเป้าหมายของสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ให้บ่อยครั้งที่สุด นอกจากนี้ ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด กลุ่มในสภาของเราต้องจัดเตรียมการต่อสู้อย่างเป็นระบบเพื่อต่อต้านระลอกการโจมตีของพวกโต้ปฏิวัติที่มุ่งหมายทำลายการปลดปล่อย เพื่อต่อต้านกระแสการโจมตีที่มุ่งกล่าวโทษการปฏิวัติและลดทอนความน่าเชื่อถือเป้าหมายและวิธีการของการปฏิวัติ กลุ่มสังคมประขาธิปไตยในสภาดูมา ต้องชูธงการปฏิวัติให้สูงเด่น

ต้องย้ำเตือนในประการถัดไปถึงวัตถุประสงค์อันสำคัญที่สุดของกลุ่มในสภาดูมาของเรา นั่นก็คือ การเข้าร่วมอย่างเร่าร้อนเต็มกำลังในการถกเถียงอภิปรายการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานทั้งหมด กรณีนี้ เราอาจถอดบทเรียนจากประสบการณ์ทางสภาอันมีค่าของพวกสังคมประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งหลงไปปกปักรักษาแนวทางอันบิดเบือนของพวกฉวยโอกาส เพื่อมิให้เป็นเช่นนั้น พวกเราต้องไม่ยินยอมนำคำขวัญคุณค่าพื้นฐานและข้อเรียกร้องตามแนวนโยบายขั้นต่ำของพรรคเราไปแลกเปลี่ยน แต่ต้องตระเตรียมและเสนอร่างกฎหมายแบบสังคมประชาธิปไตย (เช่น เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลหรือพรรคอื่นๆ) เพื่อแสดงให้มวลชนได้ประจักษ์ถึงความหน้าไหว้หลังหลอก โกหกปลิ้นปล้อน ของพวกปฏิรูป และเตรียมพร้อมจัดตั้งพวกเขาเข้าสู่การต่อสู้เรียกร้องอย่างเป็นอิสระ“
Lénine, « Discours et projet de résolution sur les tâches des bolcheviks dans le domaine de l’activité à la Douma », (สุนทรพจน์และโครงร่างมติว่าด้วยภารกิจของบอลเชวิคในเรื่องกิจกรรมในสภาดูมา), 1909, OEuvres complètes, Tome 15, Paris/Moscou, Éditions sociales/Progrès, 1967, pp.471-472.

2.“… การเข้าร่วมการเลืกตั้งสมาชิกรัฐสภาและการต่อสู้ในรัฐสภาเป็นเรื่องบังคับต้องทำสำหรับพรรคของแรงงานปฏิวัติ เพื่อใช้มันในการให้การศึกษาแก่ชนชั้นที่ล้าหลังในชนชั้นของตนนั่นแหละ ปลุกและให้การศึกษาแก่มวลชนในชนบทที่การศึกษายังไม่เจริญ ถูกปิดหูปิดตาและขาดความรู้นั่นแหละ ในเมื่อท่านยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะโค่นล้มรัฐสภากระฎุมพีและสถาบันการเมืองปฏิกริยาอื่นๆทั้งหลายได้ ท่านจึงยังต้องทำงานในองค์กรเหล่านี้”
(Lénine, La maladie infantile du communisme (le « gauchisme »), 1920, Édition sociales/Éditions du progrès, 1970, pp.63-64)

3.”แน่นอนว่าสำหรับนักปฏิวัติที่มีสำนึกทางชนชั้นย่อมไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้รับที่นั่งในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง เพียงเพื่อจะนำไปสู่การประนีประนอมและสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างสองชนชั้น คือสร้างการรอมชอมกันระหว่างชนชั้นผู้กดขี่กับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ หากแต่นักปฏิวัติที่กระโดดเข้าร่วมในการเลือกตั้งเราล้วนคาดหวังว่าการเลือกตั้งนี้จะเป็นเครื่องมือสำหรับผลักดันและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนชั้นกรรมาชีพ พร้อมทั้งนำพาเอาบรรดานักการเมือง นักต่อสู้ของพรรคสังคมนิยมเดินเข้าสู่สภาพร้อมกับความคิดแหลมคมในการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายเช่นนี้ย่อมจำเป็นต้องได้รับผู้แทนในจำนวนที่มากพอจะนำไปสู่การสร้างรัฐบาลที่มีความมั่นคงและมีความเข้มแข็งที่จะขจัดอุดมการณ์แบบกระฎุมพีที่ครอบงำระบอบประชาธิปไตยและระบบกฎหมายออกไป รัฐบาลนี้จะต้องนำพาเราไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็ง มั่นคงให้แก่ชนชั้นแรงงานเพื่อต่อต้านระบอบคณาธิปไตยของบรรดาผู้กดขี่

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เป้าหมายของการปฏิวิตินั้นเราต้องตระหนักว่าสภาพการณ์ภายในอิตาลีตอนนี้ ประชาชนชาวอิตาลีจำนวนมากยังไม่ถูกจัดตั้งให้เกิดการรวมตัว พวกเขาแยกกันอยู่และกระจายตัวแบบปัจเจกชนและอยู่ภายใต้เงื่อนไขกับเป้าหมายเพื่อการหาเลี้ยงชีพไปวันต่อวัน

ดังนั้นเองนักปฏิวัติในอิตาลีจึงจำเป็นต้องยอมรับและเข้าร่วมการต่อสู้ในการเลือกตั้งเพื่อจะวางรากฐานองค์กรสำหรับการเสริมสร้างการรวมตัวและองค์กรให้แก่กลุ่มชนในอิตาลี และเชื่อมโยงมวลชนเหล่านี้เข้ามาด้วยกันผ่านกลไกของพรรคสังคมนิยม โดยที่พรรคการเมืองนี้เองจะทำหน้าที่ช่วยจุดประกายไฟส่องทางและปลุกสำนึกทางการเมืองให้แก่มวลชน อย่างไรก็ตามพรรคสังคมนิยมเองก็จะต้องไม่ติดอยู่ในหลุมพรางที่จะพามวลชนไปสู่ทางตันด้วยการสร้างความเชื่อว่า เราจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ด้วยลำพังอาศัยเฉพาะเพียงการต่อสู้ในสภา หรือด้วยกระบวนการปฏิรูป

สิ่งสำคัญที่เราจะต้องดำเนินการคือการชี้ให้เห็นความเป็นขั้วตรงข้ามกันของสองชนชั้น และต้องแสดงให้มวลชนเห็นว่าระบบของชนชั้นกระฎุมพีนั้นไม่อาจจะตอบสนองและเติมเต็มความต้องการของมวลชนได้ และภายใต้เงื่อนไขนี้เองเราจะแสดงให้มวลชนได้เห็นทางเลือกที่ชัดเจนในอนาคต คือจะเลือกเป็นทาสที่อยู่อย่างอดอยากจนตาย และถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเลี้ยงชีพ หรือจะลุกขึ้นสู้เพื่อสถาปนาระเบียบสังคมใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพที่จะโค่นล้มชนชั้นผู้กดขี่และกวาดล้างต้นเหตุแห่งความสิ้นเปลือง การเอารัดเอาเปรียบ และความไร้ระเบียบที่ดำรงอยู่ลง

มีแต่เพียงเหตุจำเป็นเพื่อการปฏิวัตินี้เองที่จะผลักดันให้นักปฏิวัติที่มีสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพอิตาลีตัดสินใจก้าวเข้าสู่สนามต่อสู้ในการเลือกตั้ง และแน่นอนว่าพวกเราไม่ได้เข้าสู่สนามเลือกตั้งนี้เพียงเพื่อจะปกป้องระบอบประชาธิปไตยจอมปลอม และไม่ไช่เพื่อสร้างกระบวนการปฏิรูปเท่านั้น หากแต่เราก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งเพื่อจะตระเตรียมเงื่อนไขและความพร้อมเพื่อชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ และเพื่อสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการปฏิวัติ และท้ายที่สุดเพื่อการันตีว่าการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นจะต้องมั่นคงและสามารถหยั่งรากลงได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสถาปนาระบอบสภาเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพทั้งในและนอกสภา”

 


#ปิยบุตรแสงกนกกุล #คณะก้าวหน้า #ข่าววันนี้