“นายกฯ”ปลื้มสื่อยก”สงกรานต์ไทย”เป็น “เวิล์ดคลาสอีเว้นท์” สั่ง “ททท.-ก.ท่องเที่ยว”ดูแลต่อเนื่องวันไหล “มท.”สรุป 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง บาดเจ็บ 2,060 คน เสียชีวิต 287 คน “เชียงราย”แชมป์ตายสูงสุด 17 คน สาเหตุหลัก“ขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ” ขณะที่  7 จังหวัดยอดตายเป็นศูนย์ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยปีนี้มีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ทั้งบขส.และเครื่องบิน รถไฟ เนื่องจากระบบขนส่งมีความพร้อม สะดวก และรวดเร็ว ขอขอบคุณกระทรวงคมนาคม การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน และทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ช่วยดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความร่วมมือในการเดินทาง


นายกฯ กล่าวว่า ก็ถือว่าการจัดงานมหาสงกรานต์ 2567 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่าหลายปีที่ผ่านมา หลายสื่อยกให้เป็นเวิล์ดคลาสอีเว้นท์ โดยขอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการต่อเนื่องช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน ที่ยังคงมีช่วงเทศกาลวันไหลในอีกหลายพื้นที่ ซึ่งยังต้องทำงานกันอีกต่อไป


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานแถลงผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เม.ย.67 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 224 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 224 คน ผู้เสียชีวิต 28 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 45.98 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.75 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 12.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.14 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.41 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.46 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 17.01 – 18.00 น. ร้อยละ 8.04 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17.06 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,371 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ (จังหวัดละ 11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (3 คน )


สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 – 17 เม.ย.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,060 คน ผู้เสียชีวิต รวม 287 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (82 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (80 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (17 คน)


จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่จำนวนของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย


“ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนดำเนินการรวบรวมและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะได้นำมากำหนดเป็นแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศในร