ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ในทางศาสนารักษาอาการชังได้ด้วยเมตตาและการให้อภัย แต่ในทางกฎหมายยิ่งลงโทษก็ยิ่งทำให้อาการชังยิ่งรุนแรงมากขึ้น

ในวันที่ผมขึ้นไปให้การต่อศาล ในคดีที่มีภัสรินทร์กับพวกเป็นจำเลย ผมให้ความเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยกลุ่มนี้ใช้สื่อสารกันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นถ้อยคำที่รุนแรง มีความหมายที่มุ่งให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และแสดงถึงจิตใจที่เกลียดชัง อย่างที่ในบัญญัติไว้ในกฎหมายว่า “อาฆาตมาดร้าย” ซึ่งก็แน่นอนว่ามีความผิดตามกฎหมายนั้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามก็มีคดีหนึ่งที่ผมไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญแบบนี้ให้กับอัยการที่เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยกลุ่มหนึ่งในการทำความผิดตามมาตรา 112 นี้เช่นกัน หลังจากที่ผมขึ้นให้การต่อศาลเสร็จแล้ว ทนายจำเลยก็ได้ขึ้นซักถามผมว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 (คนที่ส่งข้อความคนแรก) นำข้อความดังกล่าวมาจากที่ใดทราบหรือไม่ ผมก็ตอบไปว่า ทราบครับ เป็นบทกลอนที่เรียกว่าเพลงยาวในสมัยโบราณ ทนายจำเลยก็ถามต่ออีกว่า เป็นกลอนที่เป็นที่รู้จักหรือสามารถค้นหาได้โดยทั่วไปใช่หรือไม่ ผมก็ตอบไปตามที่รู้ว่าสามารถค้นได้ทั่วไป เช่นในกูเกิลก็หาได้ ต่อมาอีกไม่นานก็ทราบว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว โดยตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิดและยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าจำเลยใช้ถ้อยคำที่มีการกล่าวถึงกันอยู่ในสาธารณะและเป็นที่รู้จักหรือสามารถค้นหาได้โดยทั่วไป

คดีของภัสรินทร์คงจะตัดสินออกมาในไม่ช้านี้ เพียงแต่จำเลยมีจำนวนมากถึง 20 กว่าคน คงจะต้องใช้เวลาในการสืบพยานอีกสักระยะ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรให้ความสนใจ เพราะอาจจะเป็น “ชนวน” ไปสู่ระเบิดลูกใหญ่ ๆ ในสังคมไทยได้ในสักวัน เพราะคนที่มีแนวคิดอย่างภัสรินทร์นั้นมีอยู่มาก และน่าจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะกลายเป็น “กลุ่มความเชื่อ” ที่มีจำนวนมากที่สุดได้ในอนาคต

หลายท่านคงไม่ได้ไปดูหนังในโรงภาพยนตร์มาเป็นปี ๆ แล้ว บ้างก็ด้วยเรื่องของโควิด-19 ที่ห้ามไปในสถานที่ปิดและคนมาก ๆ บ้างก็ด้วยยุคนี้มีแอปพลิเคชันใช้ดูหนังเหล่านี้ได้ที่บ้าน แต่ถ้าใครได้เข้าไปก็จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมยืนขึ้นในเวลาที่มีเพลงสรรเสริญพระบารมี แม้ว่าจะไม่มีการเอาผิด แต่ด้วยความรู้สึกที่ได้เห็นภาพแบบนั้นในที่สาธารณะก็อดคิดถึงการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นนั้นไม่ได้

ความรู้สึกที่รับรู้ได้ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ “เขาไม่เคารพอะไรกันแล้วหรือ” แต่ความรู้สึกที่น่าหวาดหวั่นที่สุดก็คือ “เขากำลังคิดทำอะไรกันอยู่” ซึ่งแน่นอนว่ายังคงมีภาพที่เราไม่ได้เห็นหรือเรื่องที่เราไม่ได้ยินอีกมาก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่เป็นการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม อย่างคดีที่เกิดขึ้นกับภัสรินทร์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับภัสรินทร์ทำให้ผมต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ เช่น ข่าวของกลุ่มไอลอว์ (iLaw) และในเพจของพรรคการเมืองบางพรรค ในหัวข้อ “การปฏิรูปสถาบัน” ร่วมกับไลน์และเฟสบุ๊คของกลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบนี้ (ที่หาได้ง่ายและมีมากขึ้นเรื่อย ๆ) ที่มีเรื่อง “นินทาซุบซิบ” เกี่ยวกับสถาบันมากมาย ทำให้ผมเชื่อว่าแนวคิดนี้กำลังแผ่ขยายอย่างเป็น “มหกรรม” คือใหญ่โตเกินกว่าจะคาดการณ์หรือล่วงรู้ได้

ประการแรก มหกรรมนี้เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกกันในภาษาวิชาการว่า “การอบรมกล่อมเกลาทางสังคม” ที่ฝรั่งเรียกว่า Socialization นั้นอย่างแน่นอน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อน กลุ่มอาชีพ และกลุ่มสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะ “กลุ่มจัดตั้ง” ที่เน้นการอบรมกล่อมเกลาให้แก่คนที่เข้าไปร่วมกลุ่ม ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ แต่ที่ส่งผลรุนแรงที่สุดก็คือ “สื่อต่าง ๆ” โดยเฉพาะ “สื่อใหม่ - New Media” ทั้งหลาย ที่ทำให้การสื่อสารระหว่างกลุ่มมีความรวดเร็วและกว้างขวาง

ประการต่อมา ด้วยการสื่อสารที่เฉพาะกลุ่มอาจจะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ไค่อยได้สัมผัสรับรู้ถึงภาพของ “ความยิ่งใหญ่” ที่กำลังจะเกิดขึ้น หนึ่งก็ด้วยความไม่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่คนหนุ่มสาวมีความสามารถมากกว่า หรือสองไม่เชื่อว่า “เด็ก ๆ “ เหล่านี้จะสู้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจเหนือกว่านั้นได้ และสามคือความคิดที่ว่า “เดี๋ยวก็ซาไปเอง” คือมองว่าเป็นปัญหาของช่วงวัย พวกวัยรุ่นที่ท้าทายสังคม อยากเด่นอยากดัง พอโตขึ้นมีงานทำ สังคมรอบตัวเปลี่ยนไป ความเชื่อความคิดของพวกเขาก็จะเปลี่ยนไปเอง

อีกประการหนึ่ง เรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะผู้ที่มีแนวคิดแบบนี้กำลังเข้าไปมีอำนาจอยู่ในทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองในฟากฝ่ายที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” เป็นจำนวนมากในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังนี้ (2562 และ 2566) ซึ่งเชื่อมโยงได้โดยตรงกับการเติบโตของพลังคนรุ่นใหม่ที่มี “เป้าประสงค์” ไปในทางเดียวกันนี้ที่มีจำนวนมหาศาล จนอาจจะเรียกได้ว่ากำลังจะเป็น “เสียงข้างมาก” ในอนาคต

จำเลยอย่าง “ภัสรินทร์” คือภาพสะท้อนของพลังแบบนั้นในสังคมไทย ผมเห็นคนบางคนที่ถูกศาลตัดสินยกฟ้องในคดีนี้ก็ยังไม่ลดบทบาทในการความพยายามที่จะ “ปฏิรูปสถาบัน” นั้นต่อไป แต่เป็นแนวทางที่แหลมคมและลึกซึ้งมากขึ้น อย่างเช่น พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่กระทำโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท เพราะเป็นข้อกำหนดที่อยู่ในมาตรา 112 แต่ถ้าเป็นองคมนตรีหรือเชื้อพระวงศ์อื่นสามารถกระทำได้ รวมถึงทหารและข้าราชการ อย่างที่เราก็เห็นอยู่ในข่าวสารบางข่าวนั้นแล้ว

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “การชังชาติ” คือการสั่งสอนให้เกลียดชังสถาบันอันเป็นหลักสำคัญของชาติทั้งหลาย ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมา เพื่อที่แย่งชิงอำนาจรัฐแล้วขึ้นมามีอำนาจเสียเองของคนกลุ่มที่ชังชาติเหล่านั้น ดังนั้นต้องใช้ความเด็ดขาดในการกำจัดพวกชังชาติ เพื่อปกป้องสถาบันต่าง ๆ ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรียกว่า “เป็นที่เคารพหวงแหนและเทิดทูน”

“ความเด็ดขาด” ที่ใช้จัดการกลุ่มคนที่ต้องการปฏิรูปสถาบันคือการใช้กฎหมาย ในขณะที่ผู้ใช้กฎหมายนั้นเองก็มีปัญหา เพราะได้เกิดเรื่องหลายเรื่องที่ทำให้เชื่อว่ากฎหมายนั้นมีความไม่เท่าเทียม ไม่ยุติธรรม คนรุ่นใหม่จึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะถ้ามีอำนาจขึ้นมาเมื่อใดก็สามารถเอากฎหมายมารับใช้หรือเป็นเครื่องมือของตนต่อไปได้ อย่างที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมกำลังใช้กฎหมายนี้รังแกและ “ปราบปราม” พวกเขา

ลองมองภาพว่าในอนาคตบ้านเมืองมีคนอย่างภัสรินทร์นี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่คนรุ่นเก่าที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมค่อย ๆ ลดจำนวนลงไป ถ้าคิดในแง่ดี สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่าง “ธรรมชาติ” คือของใหม่เข้ามาแทนที่ของเก่า แต่ถ้าเกิดว่ามีการขัดขืนหรือต่อสู้กัน สังคมก็คงไม่แคล้วที่จะเกิดความร้าวฉาน จนถึงขั้นแตกแยก แต่นั่นคงไม่ใช่วิสัยของสังคมไทย คือคงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลานั้นมากกว่า

มองอีกมุมหนึ่ง เด็กหนุ่มสาวอย่างภัสรินทร์ก็คือ “ลูกหลาน” ของพวกเรานั่นเอง บางทีถ้ามองย้อนไปในชีวิตของเราแต่ละคนที่เป็นผู้ใหญ่มีอาวุโสแล้ว ก็ล้วนแต่เคยผ่านชีวิตแบบ “เด็ก ๆ” นั้นมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น และเราก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงแบบดีและร้ายนั่นมาพอสมควร รวมถึงที่เราได้เติบโตมาแทนที่คนรุ่นเก่า ๆ ในรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา ที่ส่วนใหญ่ก็หาไม่ได้แล้ว และเรากำลังต้องฝากอนาคตทั้งหลายให้อยู่ในการดูแลของคนรุ่นลูกและหลานเหล่านี้ต่อไป

อนาคตจึงไม่ใช่เรื่องที่แต่ละคนต่างคิดต่างสร้าง แต่ล้วนผ่านการร่วมคิดร่วมสร้างตลอดมา