วันที่ 24 เม.ย. 2567 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีครม.เห็นชอบในหลักการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยการทำประชามติครั้งแรก จะใช้คำถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ว่า จากที่ดูตามเอกสารก็ยังไม่ชัดเจนว่า ตกลงแล้วคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอย่างเป็นทางการต่อเรื่องนี้แล้วหรือไม่ พรรคก้าวไกล มองว่า หากยังมีเวลาอยากให้รัฐบาลทบทวน ตั้งคำถามทำประชามติอย่างกว้างที่สุด เข้าใจง่าย ไม่ต้องมีเงื่อนไขซับซ้อน เช่น ถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับเก่า ซึ่งหากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 รัฐบาลเองรวมถึง สส. ก็สามารถแก้ไขรายละเอียดด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภา หลังการทำประชามติได้

“หลักของการทำประชามติคือต้องเข้าใจง่าย แต่หากตั้งคำถาม โดยมีเงื่อนไขว่า ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 คนที่โหวตเห็นด้วย เขาเห็นด้วยกับอะไร ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียง เขาไม่เห็นด้วยกับอะไร ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเงื่อนไขเว้นบางหมวด หรือไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากจะอยู่กับรัฐธรรมนูญ 60 ดังนั้น จะตีความผลประชามติอย่างไร”นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า คำถามประชามติที่ไม่ซับซ้อน จะมีโอกาสทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น สามารถรวมคะแนนเสียงได้เป็นเอกภาพมากที่สุด แทนที่จะมีคะแนนเสียงบางส่วนที่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข จึงโหวตไม่เห็นชอบ หรือไม่โหวตเลย ก็จะน่าเสียดาย เพราะเราคงไม่ได้ทำประชามติกันบ่อยๆ ทางฝ่านค้านก็อยากให้การทำประชามติมีโอกาสผ่านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติปัจจุบัน ที่มีเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น หรือ double majority

“ตอนนี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามทำคือ ส่งเสียงถึงรัฐบาล ต้องย้ำว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุน อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่มีเจตนาขัดขวาง ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่ ในขณะที่ ครม.ไม่ชัดเจนว่า มีมติเป็นทางการแล้วหรือยัง แปลว่ายังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนได้ ก็อยากให้ทบทวน”

นายชัยธวัช กล่าวว่า  เรื่องรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 คนในรัฐบาลบางท่าน พยายามสร้างความเข้าใจว่า พรรคก้าวไกลต้องการจะแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 มาก จึงคัดค้านคำถามแบบนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะหลักการพื้นฐาน หากอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้ได้ทั้งหมด ไม่ควรจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย สมมติว่าในอนาคตมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา แล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว เหมือนประเทศไทยในอดีต แต่ในหมวด 1 มีถ้อยคำวุฒิสภาอยู่ จะเอาออกอย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขถ้อยคำ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจเลย ซึ่งอาจมีปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้นได้

“อยากให้รัฐบาลลองฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ส่วนตัวเชื่อว่า เป็นเสียงที่อยู่บนเจตนารมย์ที่ดี อาจจะไม่ต้องถามความเห็นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่ต้องหาความเห็นของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตนยังคิดว่า คำถามที่ดีที่สุดคือ คำถามที่เข้าใจง่าย และรวมเสียงของคนที่อยากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นเอกภาพ”นายชัยธวัช กล่าว