วันที่ 24 เม.ย.2567 เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พร้อมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ผ่านน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน คนที่ 1 สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ ..) พ.ศ….


นายปริญญา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด แต่ในรอบปีที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินโดนจำคุก 1-2 แสนคน ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายฯ ดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญได้วางกฎหมายไว้ตั้งแต่ปี 2492 เพื่อให้สิทธิประชาชนที่ถูกกล่าวหา ไม่ว่าในชั้นพนักงานสอบสวน หรือในชั้นศาลก็ตามตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษา เราทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติแบบที่ไม่ใช่นักโทษ ถ้าไม่ให้ประกันตัวก็ต้องเป็นในรูปแบบการกักขังไม่ใช่การจำคุก


นายปริญญา กล่าวต่อว่า การขอแก้ไขครั้งนี้เป็นการขอแก้ไขสองมาตรา ได้แก่มาตรา 88 และมาตรา 106 เมื่อโดนตั้งข้อกล่าวหาเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการที่ขอศาลให้ขัง ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่จะต้องขอประกันตัว แต่ที่ผ่านมาการขังเป็นเรื่องอัตโนมัติ และประชาชนไปขอประกันตัว ซึ่งขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาและจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน


นอกจากนี้นายปริญญา ยังกล่าวถึงผู้ที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องคุกมีไว้ขังคนจนโดยแท้ เพราะคนมีเงินอาจมีช่องทางไม่ต้องจำคุก ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขว่าผู้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับสามารถทำงานบริการสังคม หรือบริการสาธารณะประโยชน์ แทนการกักขังได้


ด้านน.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกมธ.ฯ กำลังจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา 2 คณะ คือคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายและ คณะอนุกรรมาธิการเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน  ซึ่งร่างกฎหมายที่อาจารย์ได้เสนอนั้นสามารถนำเข้ามาร่วมพิจารณาได้ทั้ง 2 คณะอนุกรรมาธิการ ทางคณะกรรมาธิการฯ จะนำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณาโดยเร็วเพื่อนำไปสู่การแก้ไขร่างกฎหมายในอนาคต