“แบงก์ชาติ”ยันไม่ขัด”ดิจิทัลวอลเล็ต” หากเป็นไปได้อยากให้เจาะจงเฉพาะกลุ่มที่ลำบาก กลุ่มเปราะบาง ทำให้คุ้มค่าการใช้งบฯ ลั่นไม่มีอำนาจห้ามใช้เงิน “ธ.ก.ส.”แจกเงิน 1 หมื่น  

ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.67  นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ในการประชุม  Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2024 ว่า กรณีที่รัฐบาลจะนำเงินของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปใช้ในมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ขอเรียนว่า ธปท.ไม่มีอำนาจในการตัดสินว่า ธ.ก.ส.จะทำหรือไม่ทำมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต

การดำเนินงานขณะนี้ก็มีขั้นตอนที่ต้องส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาตีความชัดเจนก่อนว่าจะใช้ ม.28 กับมาตรการนี้ได้หรือไม่ อีกทั้งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับกฤษฎีกาและบอร์ดของ ธ.ก.ส.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ขอย้ำว่า ธปท. ดูในแง่ของการกำกับดูแลฐานะทางการเงินทั่วไป และไม่ได้มีจุดยืน หรือข้อแนะนำอะไรกับการดำเนินการมาตรการดิจิทัลวิลเล็ตของ ธ.ก.ส.

นายปิติ กล่าวว่า จุดยืนการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดย ธปท. ไม่ได้ขัดข้องกับการที่รัฐบาลจะมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นในเรื่องของรูปแบบที่อยากจะให้มีการเจาะจง ถ้าเป็นไปได้ช่วยกลุ่มที่มีความยากลำบากจริงๆ คุ้มค่ากับเม็ดเงิน และโดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้วถ้ากระตุ้นกับคนที่ขาดจะมีแรงส่งต่อเนื่องสูงกว่าด้วย ถ้าเป็นไปได้จำกัดทาร์เก็ตก็น่าจะดีและประหยัดงบประมาณ ในแง่รูปแบบการจัดหาเงินทุนก็อยากจะเมคชัวร์ว่าทำให้มีความยั่งยืนและตามกรอบเกณฑ์ที่ควรจะเป็น

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เรียก 4 ธนาคารพาณิชย์ เข้าพบเพื่อพุดคุยเพื่อขอให้พิจารณาลดดอกเบี้ย นั้นล่าสุดทางสมาคมธนาคารไทยมีการพูดคุยกัน และมีการประชุมวันนี้ (24เม.ย.) เพื่อพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเท่าที่ทราบมาก็เหมือนจะมุ่งเน้น เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และเห็นความจำเป็นที่น่าจะมีการช่วยเหลือ โดยทาง ธปท. ก็ดำเนินการสอดคล้องกับสถานการณ์ ตั้งแต่ช่วงโควิดมีมาตรการเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเปราะบาง

นายปิติ กล่าวว่า ช่วง ธปท.เริ่มการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ปกติ (นอร์มัลไลเซชัน) พยายามดูแลให้แบงก์พาณิชย์ปรับดอกเบี้ยจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่กระทบกลุ่มรายย่อยน้อยกว่าดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และล่าสุดมีมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่พยายามจะดูแลเรื่องกลุ่มเปราะบางก่อนที่จะเป็นเอ็นพีแอล (หนี้เสีย) และหลังเป็นเอ็นพีแอลด้วย

นายปิติ กล่าวอีกว่า ในแง่ของแนวทางที่จะดูแลกลุ่มเปราะบางก็สอดคล้องกับที่ ธปท. เห็นความสำคัญและดำเนินการมาตลอด ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางสมาคมธนาคารไทยจะออกมาตรการหรือจะทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าคิดว่าเป็นแนวที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี