วัฎจักรราคาสินค้าเกษตร มีขึ้น-มีลง ตามกลไกตลาดที่เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการราคาจะตกต่ำลง เมื่อใดผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการราคาก็จะสูงขึ้น ดังสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น มะนาว หรือ ผักชี ที่มีราคาสูงในช่วงหน้าร้อนและลดลงเองเมื่อฤดูร้อนผ่านไป หรือไข่ไก่ ที่มักจะมีราคาสูงขึ้น เมื่อถึงช่วงเปิดเทอมและตกต่ำลงในช่วงปิดเทอมถัดมา เห็นได้ว่า “สินค้าเกษตร” ขับเคลื่อนตัวเองด้วยกลไกตลาดอย่างชัดเจน 

การกำกับดูแลให้ “ผู้ผลิตสินค้า” ขายสินค้าได้โดยไม่ขาดทุน และ “ผู้บริโภค” อยู่ได้กับค่าครองชีพนั้น เป็นหน้าที่ของ “กรมการค้าภายใน” ซึ่งผู้บริหารกรมในทุกยุคทุกสมัยล้วนมีความเข้าใจในบทบาทนี้เป็นอย่างดี เพราะหากผู้ผลิตถูกรัฐบีบให้ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุนย่อมไม่มีผู้ผลิตรายใดอยู่รอด เมื่อนั้นสินค้าจะขาดแคลน มีปริมาณต่ำกว่าความต้องการ ซึ่งจะทำให้สินค้านั้นมีราคาแพงจนผู้บริโภคเดือดร้อนได้ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าใจสมดุลของทั้งสองฝั่งอย่างดียิ่ง รวมถึงต้องเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย ซึ่งในสัปดาห์ก่อนก็ได้เห็น “อธิบดีกรมการค้าภายใน” ออกมาอธิบายแล้วว่าราคาไข่ไก่ที่ขยับสูงขึ้นในช่วงนี้เป็นเรื่องปกติตามฤดูกาลและอยู่ในช่วงราคาที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

“เนื้อหมู”ก็เช่นกัน สินค้าเกษตรยอดนิยมที่ราคาหน้าฟาร์มเพิ่งขยับขึ้นติดต่อกันหลายสัปดาห์ หลังจากเผชิญภาวะราคาตกต่ำต่อเนื่องจนเกษตรกรขาดทุนสะสมมานานนับปี และแม้ราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้นมา 4 ครั้งจากเดือนมีนาคม 2567 แต่ก็ยังไม่ถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่ 80 บาท/กก. เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่กรมการค้าภายในมีความเข้าใจและช่วยสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคได้ 

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเผชิญเรื่องราวมากมาย ตั้งแต่โรคระบาด ASF ที่ทำลายหมูไทยไปเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ระบุว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศในช่วงปี 2563 (ก่อนเกิด ASF) มีจำนวนมากกว่า 2 แสนฟาร์ม ผลิตหมูได้ถึง 22 ล้านตัว ต่อมาในปี 2564 ก็ลดเหลือ 19.28 ล้านตัว และปี 2565 ลดลงไปเหลือเพียง 15.51 ล้านตัวตามลำดับ ทำให้ไทยขาดแคลนเนื้อหมูบริโภคไปถึง 2.49 ล้านตัว กลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดมหันตภัย “หมูเถื่อน” ตามมา

ช่วงปี 2564 เป็นต้นมา “หมูเถื่อน” ถูกลักลอบนำเข้าประเทศไทยมากถึงกว่า 60,000 ตัน เล่นงานคนเลี้ยงหมูไทยยับเยิน เป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท ส่งผลราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำต่อเนื่องมากว่าขวบปี ทั้ง ASF และหมูเถื่อนทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเลิกอาชีพหรือเว้นช่วงไม่ลงหมูเข้าเลี้ยง โดยที่ขณะนี้ไทยสามารถจัดการปัญหา ASF ได้สำเร็จ แต่ผลพวงจาก “ขบวนการหมูเถื่อน” นั้นยังคงทำร้ายหมูไทยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม หลังจากภาครัฐมีการปราบปรามหมูเถื่อนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา สามารถจับผู้ต้องหาที่พัวพันกับคดี 161 ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ณ ท่าเรือแหลมฉบังได้ 18 ราย รวมถึง เจ้าหน้าที่ที่รับสินบนเปิดทางให้หมูเถื่อนเข้าประเทศอีก 3 ราย แม้จะยังสาวไปไม่ถึง “ผู้บงการ” แต่ก็สร้างความมั่นใจให้ผู้เลี้ยงเห็นแนวโน้มที่ดีว่าปริมาณหมูเถื่อนน่าจะลดลง จึงกล้าที่จะลงหมูเข้าเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตหมูมากขึ้น 

6 เดือนต่อมา ปริมาณผลผลิตหมูเพิ่มสูงขึ้นพร้อม ๆ กัน ขณะที่ “หมูเถื่อน” ก็ยังไม่หมดไปจากระบบ เมื่ออุปทานมากกว่าอุปสงค์ กลไกตลาดจึงทำงาน ราคาหมูหน้าฟาร์มร่วงลงไม่เป็นท่าซ้ำเติมภาวะขาดทุนสะสมของเกษตรกรเข้าไปอีก สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเกษตรกรทั่วประเทศ จึงร่วมกันดำเนินโครงการยกระดับราคาหมูเพื่อเกษตรกรในหลายแนวทาง อาทิ การตัดตอนลูกหมูนำมาทำ “หมูหัน 450,000 ตัว” ทั่วประเทศเพื่อลดอุปทาน   

ช่วงนี้ที่มีการขยับราคาหมูหน้าฟาร์มขึ้นมาบ้าง จึงเป็นการปรับตัวตามกลไกตลาดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการตัดตอนลูกหมูไปทำหมูหันดังกล่าว เมื่อผนวกกับสภาพอากาศในขณะนี้ ที่อุณหภูมิสูงขึ้นมากภาวะร้อน-แล้งเช่นนี้ ยิ่งทำให้หมูโตช้าลง ปริมาณหมูลดลง กลไกตลาดจึงทำงานอีกครั้ง...

หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้แนะนำให้ผู้บริโภคหันไปกินเนื้อไก่ในช่วงที่เนื้อหมูมีราคาแพงก็ถือเป็นการขับเคลื่อนราคาสินค้าอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเมื่อคนหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นทดแทนเนื้อหมู สุดท้ายแล้วราคาเนื้อหมูก็จะลดลงเอง โดยที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องแทรกแซงกลไกตลาดเลย

โดย : ลักขณา นิราวัลย์